ปรัชญาการศึกษา
เป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาแม่บทหรือปรัชญาทั่วไปที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต หากบุคคลมีความเชื่อว่า ความจริงของชีวิตเป็นอย่างไรปรัชญาการศึกษาจะจัดการ
ศึกษาพัฒนาคนและพัฒนาชีวิตให้เป็นไปตามนั้น ส่วนการจัดการเรียนการสอนก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษานั้นๆ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเรียนการสอนว่าควรจะเป็นอย่างไร จึงต้องศึกษาถึงที่มา คือ ปรัชญาด้วย “การจัดการศึกษาโดยไม่มีปรัชญาการศึกษาเป็นแนวทาง ก็เป็นเสมือนเรือที่แล่นไปในท้องทะเลโดยไม่มีหางเสือ”
ปรัชญาสากลที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาของไทยประกอบด้วย 4 ปรัชญา ได้แก่
- จิตนิยม(Idealism)
- วัตถุนิยม(Materialism) หรือประจักษ์นิยม(Realism)
- ประสบการณ์นิยม(Experimentalism) หรือปฏิบัตินิยม(Pragmatism)
- อัตนิยม(Existentialism)
ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- จิตนิยม(Idealism) ปรัชญาจิตนิยมเป็นปรัชญาสาขาเก่าแก่ที่สุด ปรัชญาเมธีผู้ให้กำเนิดปรัชญาสาขานี้ คือ พลาโต(Plato) นักปรัชญาชาวกรีกผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 427 – 347 ก่อนคริสตกาล ชื่อปรัชญาสาขานี้คือ Idealism มาจากคำว่า Idea – ism เติมตัว l เพื่อสะดวกแก่การออกเสียง ปรัชญาสาขานี้มีลักษณะเป็นจิตนิยม มีความเชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกของจิตใจ(A World of Mind) จิตใจนั้นอยู่เหนือวัตถุ ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจมิใช่อยู่ที่วัตถุภายนอก จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางใจ มากกว่าความสุขทางกาย ทัศนะ
ของพลาโตในด้านการศึกษา คือ การให้ความเจริญเติบโต เน้นการอบรมจิตใจให้มีระเบียบวินัย และให้รู้จักการใช้ความคิดอย่างมีระบบระเบียบ การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับการหยั่งเห็น(Insight)” ความรู้เกิดจากการคิด หรือการทำงานของจิต หรือประสาทสัมผัสทางใจ ดังนั้นครูจึงมุ่งพัฒนาจิตใจของผุ้เรียนเป็นสำคัญ
โดยเน้นคุณธรรมความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีสันติสุข
– วิธีการสอน จะมุ่งสอนให้ผู้เรียนแสวงหาความสุขทางใจ มากกว่าแสวงหาวัตถุ เน้นการใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อในการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเกี่ยวกับการใช้สื่อสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่ การฟัง และการจดจำ ครูมักจะใช้วิธีการสอนแบบบอกเล่า บรรยาย ยกตัวอย่างอ้างอิงด้วยนิทาน เพื่อเปรียบเทียบให้เกิดความเข้าใจ มากกว่าใช้วิธีการอื่นๆ สอนให้จำให้คิดอย่างมีเหตุผลมากกว่าจะให้ทำการพิสูจน์หรือปฏิบัติจริง เพราะเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม มิใช่รูปธรรม จึงไม่อาจมอง
เห็นด้วยตา การได้มาซึ่งความรู้ต้องใช้การคิดหรือการไตร่ตรองเท่านั้น และในบางครั้งสิ่งที่เห็นด้วยสายตา
มิใช่สิ่งที่เป็นจริงเสมอไปอาจจะเป็นเพียงภาพลวงตา การยึดติดอยู่กับภาพลวงตาหรือสิ่งที่มองเห็นด้วยสายตาทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงหรือความรู้อันถูกต้อง การเรียนการสอนจะเน้นการเรียนในห้อง
เรียน และห้องสมุดมากกว่าการศึกษานอกสถานที่หรือทัศนศึกษา
– ตัวผู้เรียน ครูจะยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของการสอน(Teacher Center) มากกว่ายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการสอน ดังนั้น ครูจะเป็นผู้แสดง นักเรียนเป็นผู้ดู ครูเป็นผู้พูด นักเรียนเป็นผู้ฟัง เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากการบอกเล่าของผู้ใหญ่ จึงนิยมบังคับให้เด็กท่องจำในสิ่งที่ครูคิดว่าดี มีประโยชน์ ซึ่งเด็กอาจจะเบื่อเพราะมองเห็นประโยชน์ เนื่องจากสิ่งที่เรียนรู้เป็นนามธรรมและอยู่ไกลตัวเด็กเกินไป
กล่าวโดยสรุป คือ การเรียนการสอนตามแนวจิตนิยม จะเน้นความรู้ที่ได้มาจากการฟัง(สุตมยปัญญา) และความรู้ที่ได้มาจากการคิด(จินตมนปัญญา) ตามหลักในพุทธศาสนาหรือเน้นการเรียนรู้ที่ผ่านประสาทสัมผัสทางใจนั่นเอง
- วัตถุนิยม(Materialism) หรือประจักษ์นิยม(Realism) ปรัชญาวัตถุนิยมหรือประจักษ์นิยมเป็นปรัชญาอีกสาขาหนึ่งที่มีต้นเค้าความคิดมาจากปรัชญาสมัยกรีก ผู้ที่เป็นปรัชญาเมธีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งวัตถุนิยม คือ แอริสโตเติล(Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกผุ้ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 384 – 322 ปี ก่อนคริสตกาล ปรัชญาวัตถุนิยม มีความเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นโลกของวัตถุ(A World of Things) วัตถุย่อมอยู่เหนือจิตใจ ปรัชญาสาขานี้จึงให้ความสำคัญกับความสุขทางกายที่ได้จากวัตถุมากกว่าความสุขทางใจทัศนะ
ของแอริสโตเติลในด้านการศึกษาแตกต่างจากพลาโต แอริสโตเติลเห็นว่าการใคร่ครวญหาเหตุผลด้วยจิตใจอย่าง เดียวไม่เพียงพอจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วย เป็นการมองโลกทางด้านวัตถุและเป็นการเริ่มต้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับการมองเห็น” เพราะความรู้เกิดขึ้นจากสิ่งที่มองเห็น หรือเกิดจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม รับรู้ได้โดยประสาทสัมผัสทางกาย คือ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ครูจะมุ่งสอนให้นักเรียนแสวงหาวัตถุ เช่น วิชาชีพต่างๆ สอนให้รู้จักทำมาหากินมากกว่าปลูกฝังคุณธรรมความดี ให้ความสำคัญกับวัตถุหรือการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าสิ่งอื่น เพราะเชื่อว่า ถ้าคนเรามีกินมีใช้ คงไม่มีใครคิดเป็นโจรเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง
– วิธีการสอน เน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสทางกายและสิ่งที่เป็นรูปธรรม มากกว่านามธรรม วิธีการสอนจึงมักจะใช้วิธีการสาธิต (Demonstation) โดยใช้อุปกรณ์การสอนต่างๆ เช่น ของจริง รูปภาพ การศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยไม่ต้องท่องจำ จะให้ความสำคัญกับวิชาที่มุ่งพัฒนาความเจริญทางวัตถุมากกว่ามุ่งพัฒนาจิตใจ
– ตัวผู้เรียน ครูยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของการสอนมากกว่ายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการสอน ครูจะเป็นผู้แสดง นักเรียนเป็นผู้ดู ใช้การบอกเล่า บรรยายหรือการให้นักเรียนท่องจำจะมีน้อยลงแต่จะใช้การสาธิตหรือทดลองให้ดู มีอุปกรณ์ของจริงหรือรูปภาพให้นักเรียนเห็นแต่ผู้สาธิตหรือทดลองเป็นครูมิใช่นักเรียน ความสามารถของครูในการสาธิต การอธิบายและการใช้อุปกรณ์การสอนมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป คือ การเรียนการสอนตามแนววัตถุนิยม เน้นความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัสทางกายโดยเฉพาะการดูเป็นหลัก
- ประสบการณ์นิยม(Experimentalism) ปฏิบัตินิยม(Pragmatism) หรืออุปกรณนิยม(Instrumentalism) ปรัชญาประสบการณ์นิยมเป็นปรัชญาที่แพร่หลายทั่วไปในวงการปรัชญาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นับว่าเป็นผลผลิตทางความคิดที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาสมัยใหม่ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ปรัชญาเมธีที่เป็นผุ้บุกเบิกปรัชญานี้มี 2 ท่าน คือ เจมส์(William James) และดิวอี้(John Dewey) ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า โลกใบนี้ คือ โลกของประสบการณ์(A World of Experience) ชีวิตคือการเดินทางเพื่อแสวงหาประสบการณ์ ในโลกนี้ไม่มีสิ่งมีค่าใดมีค่าเท่ากับการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ความสุขของคนเรา คือ การได้พบกับประสบการณ์แปลกๆใหม่ๆที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของตนเอง ทัศนะของดิวอี้เห็นว่า มนุษย์จะรับความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์เท่านั้น การเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เหมาะสม คือ การใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป้นวิธีการแก้ปัญหาอย่างมีขั้นตอน โดยผู้เรียนจะต้องมีการทำกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การจัดการศึกษาตามแนวปรัชญาสาขานี้มีลักษณะดังนี้
– ความเชื่อของครูตามปรัชญานี้ เชื่อว่า “การเรียนรู้ต้องควบคู่ประสบการณ์” เพราะวิชาการต่างๆ สอนกันได้ แต่ประสบการณ์สอนกันได้ ดังนั้น ครูต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด้กเกิดประสบการณ์ เพราะเด็กเป็นผู้อ่อนต่อโลกหรืออ่อนประสบการณ์ ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากประสบการณ์ตรงหรือการลงมือกระทำจริงๆ มิใช่เกิดจากการฟัง การดู หรือการนึกคิดอย่างในปรัชญาจิตนิยมหรือวัตถุนิยม คนที่มีประสบการณ์มากจึงฉลาดมาก สามารถเอาตัวรอดและอยู่เป็นสุขในสังคม
– การเรียนการสอน มีลักษณะสำคัญ คือ เน้นการเรียนโดยวิธีการแก้ปัญหา(Problem solving) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง(Learner Centered Learning) และเรียนรู้ในขณะที่นำความรู้นั้นๆ มาใช้(Learning While Using Knowledge) จัดกิจกรรมการทดลองค้นคว้า ฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตนเองและการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง เช่น การสอนด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ มากกว่าการท่องจำเนื้อหาวิชา เพราะเนื้อหาวิชาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และเนื้อหาวิชาต่างๆนั้น มีมากมายเกินกว่าที่จะจดจำรายละเอียดได้หมด ขอเพียงผู้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้ก็พอ กล่าวคือ สอนให้รู้จักวิธีการตกปลา มิใช่นำปลาไปให้หรือเน้นกระบวนการแสวงหาความรู้(Process) มากกว่าตัวความรู้(Product)
– ตัวผู้เรียน การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงประสบการณ์เก่ากับประสบการณ์ใหม่ของผู้เรียน นักเรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะเท่าที่จำเป็น ครูจะไม่พูดหรือสอนอะไรมาก แต่จะจัดกิจกรรมต่างๆ หรือสร้างสถานการณ์จำลองแล้วให้นักเรียนใช้ประสบการณ์เดิมมาแก้ปัญหา เพื่อการค้นพบประสบการณ์ใหม่ที่จะเป้นคำตอบของปัญหานั้นๆ ครูที่เก่งที่สุด คือ ครูที่สอน(พูด) น้อยที่สุดแต่นักเรียนเรียนรู้ได้น้อยที่สุด กล่าวโดยสรุป คือ การสอนตามแนวประสบการณ์นิยมจะเน้นการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง(Learning by Doing) เรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง หรือจากประสบการณ์ตรง(Direct Experience)
- อัตนิยม(Existentialism) ปรัชญาอัตนิยมเป็นปรัชญาสาขาที่เกิดใหม่ที่สุด เป็นผลิตผลทางความคิดในศตวรรษที่ 20 นี้เอง ปรัชญาเมธีผู้ให้กำเนิดปรัชญาสาขานี้เป็นนักปรัชญาและศาสนาชาวเดนมาร์ค ชื่อว่า คีร์เคกอร์ด(Soren Kiekegaard) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1844-1900 ปรัชญาสาขานี้มีความเชื่อว่า โลกนี้เป็นโลกส่วนตัว(A World of Individual) มนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพในตัวเอง จึงเป็นผู้ลิขิตชีวิตของตนเอง ความสุขเกิดจากการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ มนุษย์ไม่ควรตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น ประเพณี วัฒนธรรม หรือกฏเกณฑ์ต่างๆในสังคม แต่ควรมีอิสะรภาพในการตัดสินใจเลือกหนทางของชีวิตด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบงการ ด้วยการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางทุกเรื่อง หากสิ่งที่ตนกระทำนั้นมิได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนและขอให้ปัจจุบันตนมีความสุขก็พอ