กาญจนบุรีพบป่วย “วัณโรค” เพิ่มขึ้น เจอดื้อยามากกว่า 250 ราย

กาญจนบุรีพบป่วย “วัณโรค” เพิ่มขึ้น เจอดื้อยามากกว่า 250 ราย กรมควบคุมโรค เผย “กาญจนบุรี” มีแนวโน้มป่วย “วัณโรค” เพิ่มขึ้น ปี 59 พบมากเกือบ 1 พันราย พบวัณโรคดื้อยาสะสม 7 ปี รวมกว่า 254 ราย เร่งค้นหาผู้ป่วยผ่านรถโมบายเอกซเรย์ เน้นดูแลรายบุคคล จัดหายาและนวัตกรรมใหม่ๆ แก้ปัญหาแบบเร่งด่วน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและร่วมประชุมเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาวัณโรคในพื้นที่เฉพาะ จ.กาญจนบุรี ว่า กรมฯ มีนโยบายและกิจกรรมที่เน้นการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มประชากรเสี่ยง ให้เข้าสู่การรักษาที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป 7-10 เท่า และขอความร่วมมือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้นเช่นกัน

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ส่วนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาวัณโรคและวัณโรคดื้อยาใน จ.กาญจนบุรี สำนักงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีและหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและประชาสังคม ได้ร่วมกันดำเนินการตามมาตรฐานการควบคุมวัณโรคมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ก็ยังคงพบปัญหาวัณโรคและวัณโรคดื้อยามาอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคใน จ.กาญจนบุรี พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2556 – 2559 จาก 868, 917, 955 และ 986 คน ตามลำดับ ผลสำเร็จการรักษาเฉลี่ยร้อยละ 81 ส่วนวัณโรคดื้อยาหลายขนานสะสมตั้งแต่ปี 2553-2559 รวมทั้งสิ้น 254 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อวัณโรคดื้อยาตั้งแต่เริ่มแรก (วัณโรคดื้อยาปฐมภูมิ) ผลสำเร็จการรักษาร้อยละ 45 และเสียชีวิตร้อยละ 48 สาเหตุจากมีโรคแทรกซ้อนระหว่างการรักษา มารับการรักษาช้า ขาดยา ย้ายที่อยู่ ไม่สมัครใจรักษา แพ้ยา และยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ได้รับเชื้อวัณโรคและป่วยเป็นวัณโรคทุกปี

นพ.เจษฎา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ กรมควบคุมโรค ได้ให้ความสำคัญและให้ปัญหาเร่งด่วน โดยสนับสนุนการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงาน เพี่อควบคุมปัญหาวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้การสนับสนุน ทั้งงบประมาณ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้ 1. สนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโดยใช้ รถ Mobile X-ray 2. สนับสนุนการดูแลรักษาให้เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐาน เน้นการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโดยทีมสหวิชาชีพ 3. สนับสนุนและสงเคราะห์ผู้ป่วยที่มีปัญหา เช่น กลุ่มไม่มีที่อยู่อาศัย ไร้ญาติ มีอาการทางจิต สูงอายุ เป็นต้น 4. จัดหายาและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินงาน เช่น ให้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา การติดเชื้อวัณโรค โดยวิธีชีวโมเลกุล จัดหาสูตรยาระยะสั้นในการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และรวมถึงสูตรยาระยะสั้นในการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อวัณโรคแฝง 5. สนับสนุนงบประมาณและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ให้สอดคล้องและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และ 6. สนับสนุนคู่มือแนวทาง มาตรฐานการดำเนินงานในพื้นที