มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับการใช้คำว่า “การรักษาราชการแทน” กับคำว่า “การรักษาการในตำแหน่ง” ว่ามีที่ใช้ต่างกันอย่างไรเป็นจำนวนมาก ใน โอกาสนี้จึงขอใช้สถานี ก.ค.ศ.ชี้แจงให้เข้าใจโดยทั่วกัน

คำว่า “การรักษาราชการแทน” เป็นถ้อยคำที่ใช้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ในหมวด ๕ ตั้งแต่มาตรา ๔๘ ถึงมาตรา ๕๔ โดยบทบัญญัติในมาตราต่างๆ ดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายได้กำหนดให้มีตำแหน่งใดบ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นผู้รักษาราชการแทนในกรณีดังกล่าวนั้นได้ เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ(มาตรา ๔๘) ไปจนถึงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา(ตามมาตรา ๕๔) ส่วนคำว่า “รักษาการในตำแหน่ง” เป็นถ้อยคำที่ใช้ในมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กล่าวถึงกรณีที่ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งใดว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ก็ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ สั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไป “รักษาการในตำแหน่ง” นั้นได้ ปัญหาว่า เมื่อใดจะใช้คำว่า “รักษาราชการแทน” หรือ “รักษาการในตำแหน่ง” ถ้าดูในบทบัญญัติมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ใช้ถ้อยคำความตอนต้นว่า “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวง ศึกษาธิการ…” โดยนัยดังกล่าวก็คือ ต้องไปดูกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการก่อนว่า ตำแหน่งใดบ้างที่กฎหมายกำหนดให้ “รักษาราชการแทน” ได้ เช่น กรณีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายกำหนดให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้รักษาราชการแทน แต่ถ้าไม่มีตำแหน่งใดที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวง ศึกษาธิการกำหนดไว้ เช่น กรณีตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้กำหนดให้มีการรักษา ราชการแทนในตำแหน่งนี้ไว้ กรณีนี้ก็ต้องใช้ “รักษาการในตำแหน่ง” ตามมาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทาง การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้น… ……………………………………………………………… เอกศักดิ์ คงตระกูล รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงาน ก.ค.ศ.

หมายเหตุ: พิชญ์สิณี/ข่าว