วันนี้ (24 เม.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย พ.ศ.2558 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 64 เขตและสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 1 เขต รวม 65 เขต มีกลุ่มวิชาที่เปิดสอบ 35 กลุ่มวิชา ตำแหน่งที่ว่างประกาศสอบ 715 อัตรา มีผู้มาสมัครสอบ 135,136 คน มีผู้มีสิทธิ์สอบ 134,776 คน แต่มีผู้เข้าสอบประมาณ 131,000 คน โดยวานนี้ (23 เม.ย.) เป็นการสอบภาค ก ความรู้ทั่วไป สอบจำนวน 3 วิชา ได้แก่ วิชาความรอบรู้ วิชาความสามารถทั่วไป และวิชาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฎิบัติของวิชาชีพครู ซึ่งการสอบครั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้รับผิดชอบการออกข้อสอบ การจัดส่งและการจัดเก็บข้อสอบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สพฐ. จะประกาศผลสอบภาค ก ในวันที่ 27 เมษายน นี้ ซึ่งผู้สอบผ่านได้คะแนนรวมร้อยละ 60 ขึ้นไป จะต้องไปสอบ ภาค ข ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา/วิชาเอก ในวันที่ 2 พฤษภาคม และสอบภาค ค การประเมินบุคคล หรือ สัมภาษณ์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานว่าการสอบภาค ก ที่ผ่านมา พบว่า ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เลย เขต 2 มีผู้เข้าสอบ 6 รายมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต แบ่งเป็น ผู้เข้าสอบ 5 รายเขียนรหัสตัวเลขไว้ด้านหลังใบเสร็จค่าสมัครสอบ และอีก 1 รายเขียนรหัสตัวเลขไว้ที่บริเวณสาบเสื้อ เบื้องต้นได้สั่งการให้ สพป. เลย เขต 2 ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงส่วนภาพรวมการจัดสอบพื้นที่อื่นๆ เรียบร้อยจะมีปัญหาเชิงธุรการ อาทิ มีการจัดส่งข้อสอบที่สนามสอบโรงเรียนห้วยไคล้ จังหวัดเชียงรายผิดอำเภอ ซึ่งกรรมการคุมสอบแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้เข้าสอบทั้งหมดอยู่ให้จนข้อสอบจะมาถึงและทดเวลาการสอบให้จนครบ แต่ไม่พบการเอื้อประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยซ้ำหลายเขต อาทิ พบ 1 ราย สมัครสอบซ้ำกัน 8 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งก็เป็นสิทธิที่สามารถสมัครทำได้ แต่เมื่อ สพฐ.ตรวจสอบด้วยระบบประมวลผลแล้วผู้สมัครคนดังกล่าวก็เลือกไปสอบที่ สพป.ราชบุรี เขต 1 เป็นต้น ก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด “สัปดาห์หน้าผมจะส่งนิติกรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง โดยจะตรวจสอบหาข้อมูลความเชื่อมโยงว่าเอื้อผลประโยชน์กับกลุ่มไหนอย่างไร ดังนั้น ผู้เข้าสอบทั้ง 6 รายนี้ หากตรวจสอบพบการกระทำส่อไปในทางทุจริต สพฐ.ก็ดำเนินการตัดสิทธิการสอบ และจะส่งชื่อให้คุรุสภาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู พร้อมทั้งจะดำเนินคดีทางวินัยและอาญาด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและเสียหายต่อภาพลักษณ์ความเป็นครูอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวที่ตรวจพบจะไม่กระทบภาพรวมการสอบครูผู้ช่วยทั้งหมด เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นทีเดียว ซึ่งผมเชื่อว่าการดำเนินการทุกอย่างจะเรียบร้อย” นายกมล กล่าว ด้าน นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้รับผิดชอบเขตตรวจราชการที่ 10 และ 12 ภาคอีสานตอนเหนือ มีหน้าที่ตรวจสอบการจัดสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ซึ่งที่ สพป. เลย เขต 2 มีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 3,329 คน จำนวน 139 ห้องสอบ มีผู้ขาดสอบ 469 คน และมีสนามสอบทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 โรงเรียนบ้านวังสะพุงวิทยา โรงเรียนชุมชนบ้านวังสะพุง และโรงเรียนวรราษฎร์ศึกษา โดยสนามสอบ โรงเรียนวรราษฎร์ศึกษา เป็นสนามสอบใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าสอบถึง 1,300 กว่าคน ซึ่งได้รับรายงานจากกรรมการคุมสอบว่า ก่อนเข้าสอบวิชาความสามารถทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาที่สองในช่วงเช้าตรวจพบผู้เข้าสอบจำนวน 5 ราย เขียนรหัสคำตอบใส่ในใบเสร็จค่าสมัครสอบ ซึ่งผู้เข้าสอบจะต้องนำติดตัวยื่นพร้อมบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบให้เจ้าหน้าที่คุมสอบดู ซึ่งเขตพื้นที่ฯ ได้เชิญผู้เข้าสอบทั้ง 5 รายมาสอบถาม โดยผู้สมัครอ้างว่าเป็นการรหัสที่เขียนหลังใบเสร็จเป็นการฝึกฝนรหัสคำตอบและจดคำตอบว่าตัวเองตอบอะไรไปบ้างในการสอบวิชาแรก คือ วิชาความรอบรู้ เสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรรมการคุมสอบอนุญาตให้ทั้ง 5 รายเข้าสอบก่อน นอกจากนี้ ในภาคบ่ายที่สนามสอบเดียวกันระหว่างสอบวิชาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฎิบัติของวิชาชีพครู กรรมการคุมสอบพบผู้สมัคร 1 รายมีพฤติกรรมผิดปกติจึงเข้าไปตรวจสอบพบว่า ผู้เข้าสอบรายดังกล่าวมีการเขียนรหัสไว้ในสาปเสื้อที่สวมใส่ ซึ่งในรายนี้กรรมการคุมสอบได้แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวและแจ้งความเพื่อดำเนินการสอบสวนทันที อย่างไรก็ตามผู้เข้าสอบทั้ง 6 ราย สพป. เลย เขต 2 จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง