ความนับถือตนเอง (self-esteem) เป็นสิ่งที่เราอาจประเมินจากสิ่งต่าง ๆ เช่น การเป็นคนที่เรียนเก่ง คนมีความสามารถด้านดนตรี กีฬา หน้าตาดี กล้าแสดงออก การเป็นคนดี ประสบความสำเร็จในการเรียน-การทำงาน ได้รับรางวัล ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณสมบัติดังกล่าวมีทั้งที่เป็นคุณสมบัติภายใน- ภายนอก หรือการได้รับการยอมรับ ทั้งที่บางครั้งเราอาจพบคนที่มีคุณสมบัติหลายอย่างแต่มี self-esteem ไม่ดีได้ เช่น คนที่เรียนเก่งแต่ยังไม่รู้สึกว่าดีพอ คนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นแต่มักมองว่าตนเองไม่ดี

ดังนั้น self-esteem จึงน่าที่จะหมายถึงมุมมองต่อตนเอง โดยที่การมีความสามารถ (competence) และประสบความสำเร็จ (achievement) เป็นส่วนหนึ่ง และมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าซึ่งขึ้นกับการให้คุณค่าต่อสิ่ง ๆ นั้นจากสังคม ร่วมกับความคิดเห็นและการตอบสนองของบุคคลใกล้ชิดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อ-แม่ และผู้ดูแล ดังนั้นองค์ประกอบที่จะทำให้เด็กเกิดความนับถือเองที่ดีนั้นจึงอาจประกอบดัวยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1. ตัวเด็กเอง หากเด็กนั้นมีทักษะความสามารถที่ดี พัฒนาการที่เหมาะสม ปราศจากโรคต่าง ๆ ได้ทำสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองรวมถึงผู้อื่นได้ตามวัย รวมถึงการมีคุณธรรมที่ดี จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กนั้นมีความนับถือตนเองที่ดีได้ โดยจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ปัจจัยนั้นผู้ใหญ่มีความสามารถที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้น หรือลดผลกระทบต่าง ๆ จากการขาดปัจจัยเหล่านั้นได้
2. พ่อแม่-ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ที่ให้ความรัก มีความผูกพันที่ดี (secure attachment) ค้นหาและพัฒนาทักษะความสามารถที่มีในตัวเด็ก ส่งเสริมให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ดี มีคุณธรรม ได้ดูแลตนเองตามความสามารถ ชื่นชมเมื่อเด็กทำในสิ่งที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก และยอมรับในข้อบกพร่องต่าง ๆ หรือความผิดพลาดของเด็ก และแนะนำทางออกหรือหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงอาจนำเด็กมาพบแพทย์หรือบุคคลที่อาจช่วยเหลือ-แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
3. สังคม เพื่อน ครู หรือผู้ใหญ่ในสังคมทั้งที่ใกล้ชิดและห่างไกลล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างความนับถือตนเองให้แก่เด็ก การส่งเสริมให้มีกลุ่มเพื่อน-สังคมที่ดีแก่เด็ก ช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา ป้องกันภัยต่าง ๆ ในสังคมเช่น การกลั่นแกล้งรังแก ยาเสพติด ร่วมค้นหาทักษะความสามารถต่าง ๆ ของเด็กและส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกในทักษะความสามารถต่าง ๆ มีพื้นที่-สื่อเพื่อส่งเสริมทักษะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและครอบครัวที่ขาดแคลน และการเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในเด็ก

ดังนั้นบุคคลทุกภาคส่วนล้วนมีความสำคัญในการส่งเสริมความนับถือตนเองให้เกิดขึ้นในเด็ก รวมถึงสามารถช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำในการปรึกษาเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมได้

ทีมจิตเวชเด็ก รามา
http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/04052017-0007