รมว.ศธ. เห็นชอบหลักการร่างกฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมฯ แต่ขอแก้คำ ‘ก้าวก่าย’เหตุสภาวิชาชีพว่าไม่เหมาะสม “หมออุดม” รับเรื่องหารือ 4 ส.ค.นี้ คาดตัดออกยาก เพราะอิงตามรัฐธรรมนูญ …

วันนี้(27ก.ค.)ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา กล่าวภายหลังเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงใหม่ ซึ่งเบื้องต้น รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยในหลักการ แต่ขอให้กลับไปแก้ไขในประเด็นย่อย เช่น ในพ.ร.บ.มีการเขียนไว้ว่า สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฎิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้ ซึ่งสภาวิชาชีพ ต้องการให้ตัดคำว่าก้าวก่ายออก เนื่องจากมองว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตนก็รับที่จะนำเรื่องดังกล่าว ไปหารือในที่ประชุมคณะทำงานฯ ในวันที่ 4 ส.ค. นี้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ก่อนที่จะหารือกับสภาวิชาชีพ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและเสนอรมว.ศึกษาธิการต่อไป
ศ.นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า การที่ใช้คำว่าก้าวก่าย นั้นก็อิงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 40 บัญญัติไว้ว่า เช่น บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จําเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา คาดว่าอาจจะไม่สามารถตัดคำดังกล่าวได้ แต่เราจะกลับไปดูว่าการดำเนินการใดที่เข้าข่ายหรือไม่ และสภาวิชาชีพสามารถเข้ามาให้คำเสนอแนะ ทักษะที่ต้องการ เพราะถึงอย่างไรสภาวิชาชีพก็เป็นผู้ให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตามอยู่แล้ว แต่คงให้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรตั้งแต่แรกเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ได้ มหาวิทยาลัยก็มีภารกิจและบทบาทที่ต้องดำเนินการ

“นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ยังขอให้กลับไปพิจารณาถึงประเด็นที่ประชาชนติดใจว่าหากมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาแล้วนั้น สามารถผลักดันให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 หรือเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยได้อย่างไร และทำให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีการกำหนดไว้ แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาต้องดำเนินการให้เกิดเรื่องนี้ให้ได้ และต้องมีความแตกต่างจากกระทรวงอื่นๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอรมว.ศึกษาธิการ เร็ว ๆนี้ ” ศ.นพ.อุดม กล่าว… อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/588011