ชนชั้นในสังคมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกสังคม มากบ้างน้อยบ้าง รุนแรงบ้าง อ่อนละมุนบ้าง เป็นเรื่องปกติ แม้ในสังคมที่เคยรังเกียจการแบ่งชนชั้น อย่างสังคมคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไปแล้ว เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ดี ในสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตก็ดี ในประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ไม่ต้องพูดถึงประเทศในค่ายเสรีประชาธิปไตย เช่น ประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา หรือประเทศที่เคยเป็นรัฐเผด็จการ เช่น สเปน โปรตุเกส และประเทศละตินอเมริกา ที่ไม่เคยรังเกียจการแบ่งชนชั้น

การแบ่งชนชั้นมีอยู่เสมอ หลายแห่งการแบ่งชนชั้นหรือชั้นวรรณะนั้นอาศัยชาติกำเนิด เช่น การแบ่งชั้นวรรณะในประเทศอินเดียและปากีสถาน ศรีลังกา แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของปากีสถานและศรีลังกามิได้นับถือศาสนาฮินดู นับถือศาสนาอิสลามและพุทธศาสนา แต่ก็รับเอาการแบ่งชั้นวรรณะจากอินเดียเอาไปปฏิบัติ แม้ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายก็ตาม สังคมไทยแม้ว่าการแบ่งชนชั้นจะมีรูปแบบที่อาจจะไม่เหมือนใคร อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชั้นในสังคมไทย ขณะเดียวกันองค์ประกอบของโครงสร้างประชากร ของชาวจีน ชาวอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวซิกข์ ชาวเวียดนาม ในภาคอีสาน ไม่นับชาวไทยใหญ่และลาว

 

การผสมผสานกันของชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยที่เข้ามาในสังคมไทย ทำให้ผู้คนที่มีชาติพันธุ์อย่างอื่นๆ ถูกกลืนเข้าสู่สังคมไทยอย่างแนบเนียน ผ่านการสมรส ผ่านการศึกษา ผ่านการรับราชการและผ่านการประกอบอาชีพ

ประชากรในจังหวัดภาคใต้ที่พูดภาษาไทยใต้ที่นับถือศาสนาพุทธ เกือบทั้งหมดนั้นมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนไหหลำ ฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว อพยพมาทำสวนมะพร้าว ประมง สวนยางและเหมืองดีบุก

ในขณะที่เมืองใหญ่น้อยตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นมา ในเกือบทุกภูมิภาค ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหรือแม้แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน อัยการ ตุลาการ ล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สามเกือบทั้งสิ้น เพียงแต่เขาเหล่านั้นไม่แสดงตัว แต่ถ้าคุยกันไปคุยกันมาทุกคนก็จะมี “ก๋ง” ซึ่งหมายถึงปู่หรือตาทั้งนั้น

การแบ่งชนชั้นโดยอาศัยชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมีประชากรจำนวนร้อยละ 15 ของประเทศ อาจจะไม่ชัดเจนนัก เพราะมีผู้คนหลายชาติพันธุ์มากระจุกอยู่อย่างหนาแน่น แต่การแบ่งชนชั้นโดยระบบทางเศรษฐกิจของครอบครัว แสดงออกทางนามสกุลของสกุลเก่าแก่ ของขุนนางหรือคหบดี ส่วนที่มีนามสกุลยาวๆ หลายพยางค์ ก็ต้องถือว่าเป็นนามสกุลของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนจาก “แซ่” มาเป็นนามสกุล ตามนโยบายของรัฐในการรับคนเข้ารับราชการ หรือตามความนิยม

การที่ “รัฐ” ถือเป็นข้อปฏิบัติภายใน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาทุกยุคทุกสมัยก็คือ ไม่รับคนไทยสัญชาติไทยเกิดในประเทศไทยที่ยังคงใช้ “แซ่” หรือชื่อสกุลที่เป็นภาษาจีนหรือเวียดนาม หรือแม้แต่ “แซ่” ของชาวเขา แต่ถ้าเป็นชื่อสกุลภาษาอื่น เช่น ภาษาฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส ดัตช์ หรืออื่นๆ ไม่เป็นไร

การจะเข้ารับราชการเป็นตำรวจทหาร จะต้องเป็นผู้ที่มี “ปู่” มีสัญชาติไทย เพื่อให้บิดามีเชื้อชาติไทย การเลือกปฏิบัติในทำนองนี้จึงทำให้การกลืนลูกหลานของชาวจีนและเวียดนาม ซึ่งปกติมีวัฒนธรรมที่แข็ง ไม่ยอมให้ชาติอื่นกลืนได้ง่ายๆ ถูกกลืนเข้ามาในสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนและสนิท

การที่ภาษาไทยเป็นภาษาราชการมาโดยตลอด ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย พม่า อินเดีย ปากีสถานและศรีลังกา ที่เดิมไม่เคยมีภาษาราชการหรือภาษากลาง ยกเว้นจีนที่มีภาษาราชการและภาษากลาง ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในราชสำนักมานานแล้ว ประเทศเหล่านี้หลังได้รับเอกราชแล้วต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง หรือภาษาราชการ

สำหรับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม การที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษากลางหรือภาษาราชการ ทำให้การศึกษากลายเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกถึงชนชั้นในสังคม เพราะผู้ที่จะพูดหรือเขียนภาษากลางหรือภาษาราชการได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา จะต้องเข้าโรงเรียน ซึ่งสมัยก่อนสัดส่วนของผู้ที่สามารถส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนเรียนหนังสือได้มีสัดส่วนที่ไม่สูง จนต้องมีการประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับ ประเทศไทยจึงต้องมีการประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับบ้าง เพื่อให้คนเข้าใจภาษากลาง ไม่ไปใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับราชการ

เมื่อมีประกาศใช้การศึกษาภาคบังคับ ผู้คนในสังคมเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในการไต่เต้าในสังคม ด้วยเหตุนี้ผู้คนในสังคมไทยจึงนิยมส่งเสียให้ลูกหลานของตนเข้ารับการศึกษา

เมื่อ 50-60 ปีก่อน ความใฝ่ฝันของนักเรียนหรือบุตรหลานของคนในกรุงเทพฯเมื่อจบชั้นประถมปีที่ 4 เข้าเรียนในชั้นมัธยมที่ 1 ถึงมัธยมปีที่ 6 สำหรับนักเรียนชายก็คือ การสอบแข่งขันเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะอาชีพรับราชการทหารและตำรวจเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ มีเครื่องแบบที่สง่างาม แต่ต้องมีอย่างน้อย “ปู่” มีสัญชาติไทย บิดาเชื้อชาติไทย

สำหรับผู้ที่มีปู่ไม่ใช่สัญชาติไทย แต่เป็นคน “ต่างด้าว” ก็นิยมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเรียงความนิยมตามอาชีพ กล่าวคือ ผู้ที่เรียนดีที่สุดจะเลือกเรียนแพทยศาสตร์ รองลงมาคือ วิศวกรรมศาสตร์และจึงไปทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ แล้วจึงไปถึงวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เช่น อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ เป็นต้น

ในสมัยหนึ่งที่รายได้ของครอบครัวของชนชั้นกลางยังมีน้อย การไปเรียนต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือสแกนดิเนเวีย รวมทั้งอิตาลี สเปน โปรตุเกส เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นอกจากได้รับทุนจากรัฐบาลหรือมูลนิธิต่างประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย การได้ไปศึกษาในต่างประเทศ ทำให้สามารถพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น สามารถทำงานในบริษัทห้างร้านของชาวต่างประเทศได้ ที่สำคัญสามารถสอบเข้ากระทรวงบางกระทรวงที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศได้ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งข้าราชการกระทรวงนี้ถือตัวว่าตนมีศักดิ์ศรีสูงกว่าข้าราชการกระทรวงอื่นๆ เมื่อออกไปทำราชการอยู่ในต่างประเทศ เอกอัครราชทูตก็เป็นหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ ที่ส่งมาอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูต เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็เป็นหัวหน้าของบรรดาส่วนราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่ออกมาประจำในส่วนภูมิภาค การเลือกวิชาเรียนในคณะรัฐศาสตร์จึงมีแนวโน้มไปในทางเลือกเรียนวิชาในต่างประเทศและการทูต ก่อนวิชานิติศาสตร์และวิชาการปกครอง

สำหรับลูกหลานของคนชั้นล่างที่เข้าเรียนชั้นมัธยมจากโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่ใช่โรงเรียนสวนกุหลาบหรือโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ หรือโรงเรียนราษฎร์อย่างโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล หรือกรุงเทพคริสเตียน หากไม่ใช่นักเรียนเรียนเก่งจริงๆ ที่จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารก็เตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนอาชีวะ เช่น โรงเรียนช่างกล โรงเรียนการช่าง โรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนฝึกหัดครู นอกเหนือจากโรงเรียนพาณิชยการ การจัดชนชั้นทางสังคมในระหว่างที่เป็นนักเรียนนักศึกษาระดับต่ำกว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นไปตามนั้น

เพราะโอกาสของบุตรหลานของครอบครัวของคนชั้นล่างที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งสมัยนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เป็นไปได้ยาก เอกชนไม่อาจจะเปิดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ การศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นผูกขาดโดยรัฐบาลเท่านั้น

ในส่วนภูมิภาคหรือในหัวเมืองต่างจังหวัด โอกาสที่นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดจะมาเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯมีน้อยมาก นักเรียนชั้นหัวกะทิของจังหวัดจึงนิยมสอบเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นครูในสมัยก่อนจึงเป็นผู้ที่เรียนเก่ง หัวดี เป็นที่นับหน้าถือตาทั้งในตัวจังหวัด ในอำเภอและในชนบท ส่วนผู้ที่มีฐานะซึ่งส่วนมากก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ในตัวจังหวัดหรืออำเภอ จึงมีโอกาสเข้ามาเรียนในโรงเรียนอาชีพ เช่น โรงเรียนพาณิชยการ ช่างกล การช่าง รวมทั้งได้ต่อในวิทยาลัยเทคนิคในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ

การแบ่งชนชั้นในระบบการศึกษาเป็นระดับชั้นปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร สำหรับสายอาชีวศึกษา เช่น วิทยาลัยพาณิชย์ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยครูและพยาบาล จึงเป็นการให้ทุกสถาบันการศึกษาเรียกร้องที่จะให้สถาบันของตนสามารถต่อยอดจนถึงปริญญาบัตรหมดทุกสาขาการศึกษา

เมื่อมีการเปิดให้เอกชนสามารถจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ สถาบันการศึกษาของเอกชนก็จัดให้มีการศึกษาถึงขั้นปริญญาบัตรได้ทุกแห่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาลของครอบครัวที่ต้องส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาจนจบชั้นปริญญาตรีหมด

การที่การศึกษาชั้นอุดมศึกษากลายเป็นการศึกษาของคนทั่วไป ไม่น่าจะมีความสามารถในการจัดการศึกษาให้คนเข้าทำงานได้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือจัดเพียงเพื่อรับปริญญาบัตร จึงทำให้ขาดแคลนแรงงานช่างฝีมือที่มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มให้ได้ทำงานตรงกับการศึกษาและการฝึกฝน เพราะค่านิยมการศึกษาที่ไม่ตรงกับตลาดแรงงาน

ค่านิยมอย่างนี้คงจะอยู่กับสังคมไทยอีกนาน

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1473310678

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นถูกปิด