“อาจารย์น้อง” ภริยานายกฯ ห่วงโรงเรียน 4.0 ยังสอนท่องจำ ไม่คิดวิเคราะห์ แนะปั๊ม “ครูดิจิทัล” ดันคุณภาพ นร.

“อาจารย์น้อง” ภริยานายกฯ เผย “ครูตู้” แก้ปัญหาโรงเรียนห่างไกลทุรกันดารดีขึ้น ย้ำต้องขยายรูปแบบการศึกษาดิจิทัลมิติอื่นเพิ่ม ห่วงโรงเรียน 4.0 เป็นแค่ชื่อ การสอนยังเน้นท่องจำ ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ แนะแม่พิมพ์ของชาติอัปความรู้ไอที ใช้สื่อดิจิทัลเหมาะสมกับเด็ก เพิ่มคุณภาพนักเรียน

วันนี้ (11 ก.ค.) รศ.นราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดูแลสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เดินทางเข้าให้ข้อมูลแก่ที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 7/2560 ประเด็นการศึกษาทางไกลเพื่อปฏิปการศึกษา โดยชี้แจงตอนหนึ่งว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ดำเนินงานมานานกว่า 21 ปี สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาสในสถานศึกษาพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารที่มีสถานศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 30,717 โรงเรียน ในจำนวนนี้เป็นสถานศึกษาขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 15,707 โรงเรียน อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดไว้ ครู 1 คน ต่อนักเรียน 20 คน ยังไม่สามารถสนองตอบการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เท่าที่ควร ดังนั้น การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) หรือครูตู้ในโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ จำนวน 15,369 โรงเรียน จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้ดีระดับหนึ่ง

รศ.นราพร กล่าวว่า ในปี 2558 มีผลสำรวจสวนดุสิตโพล ยืนยันว่า ผลประเมินกลุ่มสำรวจ ร้อยละ 88.61 เชื่อมั่นว่า นักเรียนได้รับความรู้จากการเรียนผ่านครูตู้เพิ่มมากขึ้น โดยเป็นผู้ช่วยครูสถานศึกษาปลายทางในการควบคุมดูแลนักเรียน ลดภาระของครู แก้ปัญหาขาดแคลนครู ผลประเมินผู้เรียนผ่านครูตู้ระหว่างปี 2557 – 2559 พบว่า ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนดีขึ้น มีความกระตือรือร้นการเรียน ทำกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับครูและนักเรียนต้นทางได้ดี และมีความสุขและความรับผิดชอบในการเรียนมากขึ้น สำหรับแผนพัฒนาการศึกษาทางไกลไม่ได้จำกัดแค่ครูตู้เท่านั้น ยังขยายการจัดการเรียนรู้ไปยังรูปแบบการศึกษาดิจิทัลมิติอื่นๆ ด้วย เช่น การปรับปรุงห้องเรียนเป็นห้องเรียนอัจฉริยะ (SMART CLASSROOM) การเปลี่ยนระบบเซิร์ฟเวอร์เป็นระบบคลาวด์ (CLOUD) และเน้นเผยแพร่พัฒนาการจัดการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา (ไอที) ให้เกิดความคุ้มค่าและเหมาะสมกับวิธีการถ่ายทอดการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ด้วย ดังนั้น ครูที่ดูแลผู้เรียนต้องรู้จักการใช้สื่อและการเลือกหลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ถึงแม้สื่อจะดีหรือทันสมัยเพียงใด

รศ.นราพร กล่าวว่า หากครูไม่มีองค์ความรู้หรือประสบการณ์ใช้ไอทีก็ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้เต็มที่ เราจึงเห็นว่ามีแต่โรงเรียน 4.0 สถานศึกษาพอเพียง มากมายเต็มไปหมดแต่เป็นแค่การเปลี่ยนป้ายใหม่เพราะการจัดการเรียนรู้ยังเหมือนเดิม คือ สอนให้เด็กท่องจำ ทำตามที่ครูบอกเท่านั้น ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์และปรับองค์ความรู้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำบัญชีครัวเรือน ต้องสามารถบูรณาการทั้งวิชาคณิตศาสตร์กับวิชาสังคมให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แยกแยะเป็น 8 กลุ่มสาระวิชามองความรู้เป็นส่วนๆ ทำอย่างไรเด็กจึงจะมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้ 4 ทักษะที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่น มีความอยากรู้อยากเห็น กล้าเสี่ยง ลองผิดลองถูก ความคิดสร้างสรรค์ นำความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ค้นคว้านำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือสร้างนวัตกรรมขึ้นเองได้

“ครูคือปัจจัยสำคัญที่ต้องใช้สื่อการเรียนรู้ดิจิทัลให้เป็นและเหมาะสมกับเด็กผู้เรียน การพัฒนาการศึกษาทางไกลขั้นต่อไปจะเน้นการสื่อสารสองทาง เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ทั้งครูผู้สอนโรงเรียนต้นทางและผู้เรียนปลายทาง โดยอาจให้ครูโรงเรียนประจำจังหวัดเป็นผู้สื่อสารสองทางกับผู้เรียนในจังหวัดนั้นๆ เพื่อใช้ไอทียกระดับปฏิสัมพันธ์ของทั้งครูและนักเรียนในการจัดการเรียนร่วมกัน และพลิกบทบาทครูรูปแบบใหม่ด้วยการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือพีแอลซี สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูด้วยกัน เพื่อปรับปรุงกระบวนการสอน แลกเปลี่ยนสภาพปัญหา วิธีแก้ปัญหาร่วมกันสร้างการเรียนรู้โดยตรงด้วยระบบชี้แนะและพี่เลี้ยงในโรงเรียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” รศ.นราพร กล่าว

“อาจารย์น้อง” ภริยานายกฯ ห่วงโรงเรียน 4.0 ยังสอนท่องจำ ไม่คิดวิเคราะห์ แนะปั๊ม “ครูดิจิทัล” ดันคุณภาพ นร.