5 ปัญหาใหญ่ทำเด็กไทยอ่อนด้อย “ภาษาไทย” ชี้แนวทางสอน ป.1-3 อ่านออกเขียนได้

ศึกษานิเทศก์เผย 5 ปัญหาใหญ่ ส่งผลเด็กไทย “ภาษาไทย” อ่อนด้อย แนะใช้รูปแบบหลากหลายในการสอนภาษาไทย เน้น ป.1 – 3 อ่านออกเขียนได้ ส่งเสริมการเขียน คัดลายมือ เรียงความ ย่อความ สรุปความ ย้ำครูทุกวิชาต้องช่วยแก้ปัญหา ใส่ใจรอยต่อช่วงชั้นอนุบาล – ประถม – มัธยม

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ สำหรับเสริมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy) ในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 – ป.3) ว่า สถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ปี 2558 พบว่า เด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 5.71 % เขียนไม่ได้ 7.63 % ซึ่งการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นี้จะส่งผลถึงความสามารถและทักษะของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น อาทิ ความสามารถด้านการเรียนรู้ ความฉลาด/ความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy) ดังนั้น วัตถุประสงค์สำคัญในการบูรณาการ การทำงานร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือ การพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ กับนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ของโรงเรียนในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อมุ่งผลลัพธ์ 4 ประการ คือ

1. นักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 – 3) ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถอ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน 2. ส่งเสริมให้ครูผู้สอนตระหนักในความสำคัญและจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมและแก้ปัญหาด้านการอ่านและการเขียน 3. พัฒนาเครือข่ายโรงเรียนการอ่านอ อกเขียนได้สำหรับเสริมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพในพื้นที่ของเครื อข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ 4. เพื่อพัฒนาถอดบทเรียนนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ส่งเสริมและแก้ปัญหาด้านการอ่านและการเขียนที่สามารถต่อยอดและขยายผลได้ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 50 เครือข่าย 250 โรง

ดร.วิภา ตัณฑุลพงษ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันพบ 5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ 1. มีความหลากหลายของภาษาที่ใช้ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 70 ภาษา ส่งผลต่อการเรียนการสอนภาษาไทย 2. กระแสความเจริญของโลกเทคโนโลยีการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ทำให้ละเลยไม่สนใจเรียนภาษาไทย 3. เด็กจำนวนหนึ่งอยู่ในครอบครัว ยากจนขาดโอกาส ไปโรงเรียนไม่ต่อเนื่อง ขาดการฝึกฝนการอ่านการเขียน 4. ผู้สอนภาษาไทยบางส่วนขาดองค์ความรู้และวิธีสอนภาษาไทย และ 5. นักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรและความเหมาะสมตามช่วงวัย

ดร.วิภา กล่าวว่า การสอนภาษาไทยให้ได้ผลจะต้องใช้ รูปแบบและวิธีสอนที่หลากหลาย มีการผสมผสานทั้งการแจกลูกสะกดคำ สอนโดยวิธีมุ่งเสริมสร้างประสบการณ์หรือวิธีการใดๆ ที่ทำให้นักเรียนวัยเริ่มเรียน โดยเฉพาะชั้น ป.1 – 3 อ่านออกเขียนได้ และต้องสอนจากง่ายไปหายาก พร้อมทั้งส่งเสริมการเขียน และคัดลายมือ โดยเฉพาะชั้น ป.1 ส่วนชั้นอื่นๆ นอกจากคัดลายมือแล้วต้องส่งเสริมการเขียนเรียงความ ย่อความ และสรุปความ ทั้งนี้ ทักษะการอ่านที่ครูต้องสอน คือ การอ่านคำและรู้ความหมายของคำ การอ่านจับใจความ การอ่านออกเสียงให้ชัดเจน การอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ การฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน และการอ่านเพื่อให้คุณค่าและเกิดความซาบซึ้ง โดยประเด็นปัญหาสำคัญจงหยุดเข้าใจว่า ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นหน้าที่ของครูภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งความจริงคือครูทุกคนต้องเป็นต้นแบบการสอนและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และครูทุกวิชาต้องสอนภาษาไทยแบบแจกลูกสะกดคำได้ทุกคน

“ก้าวย่างที่สำคัญของการเรียนภาษาไทย คือ “รอยเชื่อมต่อการเรียนรู้ ระหว่างชั้นอนุบาลและประถมศึกษา” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เด็กทุกคนต้องเผชิญกับรอยเชื่อมต่อนี้ ทั้ง 3 ระยะ คือ 1. รอยเชื่อมต่อระหว่างบ้านและสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล 2. รอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นเรียนอนุบาลและประถมศึกษา และ 3.รอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเด็กในช่วงรอยต่อเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง หากเด็กปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะสามารถเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า แต่ในทางตรงกันข้าม หากเด็กปรับตัวไม่ได้อาจเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษา ทั้งนี้ ครูอนุบาลและครูประถมจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้” ดร.วิภา กล่าว