ความสำคัญของจิตวิทยาและระเบียบวิธีการศึกษาทางจิตวิทยา

        จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ดังนั้นผู้ศึกษาวิชาจิตวิทยาจึงสามารถนำความรู้ไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวและ สถานที่ทำงาน ตลอดจนมีความสำคัญต่อประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งนี้เพราะหลักการทางจิตวิทยาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับงานต่างๆ มากมาย ความสำคัญและคุณค่าของวิชาจิตวิทยา เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ (ปราณี รามสูต, 2542, หน้า 4-5)

        1. จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น มักให้ความสนใจตนเองมากกว่าผู้อื่นและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับตนเอง การศึกษาจิตวิทยาซึ่งให้คำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ จึงช่วยให้ผู้ศึกษานำไปเปรียบเทียบกับตนเองและเกิดความเข้าใจตนเองไปด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้มนุษย์รู้จักยอมรับตนเองและได้แนวทางในการจัดการกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นอาจเป็นการปรับตัว พัฒนาตน หรือเลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมกับต้นเองเป็นต้น

        2. จิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจผู้อื่น ศาสตร์ทางจิตวิทยาซึ่งเป็นข้อสรุปธรรมชาติพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ นอกจากช่วยให้ผู้ศึกษาเกิด ความเข้าใจ พฤติกรรมของบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเป็นแนวทางให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้ที่อยู่แวดล้อมด้วยอันอาจจะเป็นบุคคลในครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มบุคคลภายนอก ความเข้าใจดังกล่าวส่งผลให้เกิดการยอมรับในข้อดีข้อจำกัดของกันและกัน ช่วยให้มีการปรับตัวเข้าหากัน และยังช่วยการจัดวางตัวบุคคล ให้เหมาะสมกับงานหรือการเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ดีมากขึ้น

        3. จิตวิทยาช่วยให้ได้แนวทางในการวางกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น กฎหมายบ้านเมือง ระเบียบปฏิบัติบางประการมักเกิดขึ้น หรือถูกยกร่างขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น จิตวิทยาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความต้องการการยอมรับ ความต้องการสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของคน ส่งผลให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือการจัดให้มีวันเด็กแห่งชาติ ปีสากลสำหรับผู้สูงอายุ หรือเกิดองค์กรบางลักษณะที่ทำงานในด้านการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลบางกลุ่ม หรือสำหรับผู้ด้อยโอกาสบางประเภท หรือแม้แต่การจัดให้มีการแข่งขันกีฬานานาชาติสำหรับคนพิการ ก็จัดเป็นส่วนหนึ่งของการนำความรู้เรื่องจิตวิทยาสำหรับผู้มีลักษณะพิเศษมาเป็นแนวทางปฏิบัติบางประการทางสังคม

        นอกจากนั้น จิตวิทยายังมีผลต่อ กฎหมายว่าด้วยการพิจารณาความผิดทางกฎหมายบางลักษณะโดยมีการนำสามัญสำนึกมาร่วมพิจารณาความผิดของบุคคล เช่น กฎหมายว่าด้วยการกระทำ ความผิดของผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีสุขภาพจิตบกพร่องที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือโดยเพราะความผิดปกติทางจิตใจ ซึ่งจิตวิทยาจะช่วยให้ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจความผิดปกติต่างๆเหล่านั้นได้มากกว่าศาสตร์สาขาอื่น ช่วยให้การพิจารณาบุคคลหรือการวางเกณฑ์ทางสังคม เป็นไปอย่าง สมเหตุสมผลมากขึ้น

        4. จิตวิทยาช่วยบรรเทาปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสังคม ความรู้ทางจิตวิทยาในบางแง่มุมช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจในอิทธิพลของสิ่งเร้า และสิ่งแวดล้อมทีมีผลต่อการหล่อหลอมบุคลิกภาพบางลักษณะ เช่น ลักษณะความเป็นผู้หญิง ลักษณะความเป็นผู้ชาย ลักษณะผิดเพศบางประการ รวมไปถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนบางประเภท รายการโทรทัศน์บางลักษณะที่ส่งผลให้เด็กเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอยากทำลาย หรือเกิดความเชื่อที่ผิด หรือเกิดการลอกเรียนแบบอันไม่เหมาะสมซึ่งมีผลกระทบต่อการกระทำในเชิงลบฯลฯ เป็นต้น

        จากความเข้าใจดังกล่าวนี้นำไปสู่การคัดเลือกสรร สิ่งที่นำเสนอเนื้อหาทางสื่อมวลชนให้เป็นไปทางสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมของเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมอย่างเหมาะสม นอกจากนั้น จากคำอธิบายของจิตวิทยาในเรื่องของเจตคติของบิดามารดาบางประการที่ส่งผลให้เด็กมีลักษณะลักเพศ ก็อาจจะเป็นแนวคิดแก่บิดามารดา ในการปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมต่อไป อันนับเป็นการบรรเทาปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคมไปได้บ้าง

        5. จิตวิทยาช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ความรู้ทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยการเลี้ยงดูในวัยเด็กอันมีผลต่อบุคคลเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ส่งผลให้เกิด ความพยายาม ในการสร้างรูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาคนทั้งกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา เพื่อให้ได้คนดีมีประสิทธิภาพ หรือคนที่มีคุณลักษณะอันพึงปรารถนาของสังคมนั้นๆ และจิตวิทยายังช่วยให้ผู้ศึกษารับรู้โดยเร็ว เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยในพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ อันนำไปสู่การแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาพฤติกรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางลักษณะที่ไม่เหมาะสมของบุคคล จึงกล่าวได้ว่า จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกศาสตร์หนึ่ง

        ระเบียบวิธีการศึกษาทางจิตวิทยา

            1.วิธีทดลอง (Experimental Method)

            การทดลองสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ การทดลองในสภาพธรรมชาติกับการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทดลองชนิดใดต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญ ได้แก่ การปฏิบัติซ้ำเพื่อตรวจสอบผลให้เกิดความมั่นใจ การควบคุมเพื่อไม่ให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความจริง ตัวแปร คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงค่าได้ และต้องมีขอบเขตจำกัด ในการทดลองจะมีการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวประกอบ 2 ตัว หรือ 2กลุ่ม โดยให้กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มทดลอง (Experimental Group) เป็นกลุ่มที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุม (Control Group) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะถูกเปรียบเทียบกัน ปัจจุบัน วิธีทดลองถูกนำไปใช้ในจิตวิทยาสมัยใหม่เกือบทุกสาขาอย่างได้ผลดี

            2.วิธีการตรวจสอบจิต (Introspection)

            เป็นการให้บุคคลสำรวจตรวจสอบตนเองด้วยการย้อนทบทวน และความรู้สึกนึกคิดของตนเองในอดีตที่ผ่านมา แล้วรายงานความรู้สึกออกมาดายการอธิบายทั้งเหตุและผลของการกระทำนั้นๆ การศึกษาด้วยวิธีการนี้มีข้อดีตรงที่เป็นข้อมูลตรงจากผู้ได้รับประสบการณ์ หากผู้รายงานจดจำได้แม่นยำ รายงานตามความเป็นจริงไม่ปิดบัง มีความซื่อสัตย์และจริงใจแต่อาจเป็นข้อเสียถ้าผู้รายงานจำเหตุการณ์ไม่ได้หรือไม่ชัดเจนหรือไม่ต้องการบอกข้อมูลที่แท้จริงให้ทราบซึ่งจะทำให้การตีความหมายของเรื่อง เหตุการณ์นั้นคิดพลาดไม่ตรงตามข้อเท็จจริง

            3.วิธีใช้แบบทดสอบ (Testing Method)

            เป็นการใช้เครื่องมือที่มีเกณฑ์ในการวัดลักษณะพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งหรือหลายๆพฤติกรรม โดยให้ผู้รับการทดลองเป็นผู้ทำแบบทดสอบ ซึ่งอาจเป็นแบบทดสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติก็ได้ แบบทดสอบจะช่วยวัดความสามารถด้านต่างๆ ของมนุษย์ รวมทั้งการวัดบุคลิกภาพ อารมณ์ ความถนัด ความสนใจ ทัศนคติ และความคิดเห็นโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาซึ่งมีหลายประเภท การใช้แบบทดสอบมีสิ่งที่ควรระวังมากที่สุดคือค่าความเชื่อมั่นและค่าความเที่ยงตรงของแบบทดสอบซึ่งควรได้มาตรฐานและสามารแปรผลได้อย่างถูกต้อง

            4.วิธีสังเกต (Observation)

            การสังเกตมี 2 ลักษณะ คือ การสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน และการสังเกตอย่างมีแบบแผน สำหรับการสังเกตอย่างไม่มีแบบแผน เป็นวิธีสังเกตธรรมชาติ ไม่มีการเตรียมการหรือการวางแผนล่วงหน้า ผู้จะสังเกตสามารถสังเกตได้ตามความสะดวก เป็นการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลตามสภาพธรรมชาติ วิธีนี้มีข้อเสียคือ ผู้สังเกตไม่สามารถควบคุมตัวประกอบเฉพาะส่วนที่สนใจจะศึกษาได้ ส่วนการสังเกตอย่างมีแบบแผนเป็นการสังเกตที่มีการเตรีมการและการวางแผนล่วงหน้า กำหนดวัน เวลา สถานที่ บุคคล พฤติกรรมและสถานการณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว จุดสำคัญของการสังเกตคือ จะต้องทำอย่างระมัดระวัง ผู้สังเกตต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตัวสังเกต และต้องจดบันทึกสิ่งที่ได้เห็นอย่างละเอียด โดยไม่เพิ่มเติมความรู้ส่วนตัวลงไป นอกจากนั้นผู้สังเกตควรได้รับการฝึกหัดสังเกตมาพอสมควร ต้องเป็นคนละเอียดถี่ถ้วน และรู้จัดเทคนิคการสังเกตเป็นอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดและกำจัดความลำเอียงให้มีน้อยที่สุด

            5.วิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific Method)

            เป็นวิธีการศึกษาในการแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจในสิ่งนั้น วิธีนี้ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

                – ขั้นการตั้งปัญหา (Problem) เป็นการตั้งประเด็นปัญหาที่สนใจ ต้องการศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาทางแก้ปัญหานั้น
                – ขั้นการตั้งสมมุติฐาน (Hypothesis) เป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุผลเพื่อช่วยให้ผู้ศึกษาดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
               – ขั้นการรวบรวมข้อมูล (Collecting Data) เป็นขั้นรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหานั้นให้มากที่สุด และต้องวางแผนไว้ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้ด้วยวิธีใด เช่น การใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การทดลอง
               – ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis of Data) เป็นการนำข้อมูลต่างๆที่ได้มานำแปลความหมายด้วยกาสรวิเคราะห์ตามหลักสถิติ
               – ขั้นการสรุปผล (Conclusion) เป็นการสรุปผลและรายงานผลที่ได้จาการศึกษาค้นคว้าและนำผลนั้นไปใช้ รวมทั้งให้ข้อ
เสนอแนะต่อไปด้วย

            6.วิธีการศึกษารายกรณี (Case Study Method)

            เป็นการศึกษาชีวประวัติความเป็นมาของบุคคลซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วรวบรวมข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ พิจารณา ตีความเพื่อให้เขาใจความเป็นมาในอดีตและช่วยชี้ให้เห็นปัญหาที่บุคคลนั้นกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาและพฤติกรรมปัจจุบัน เพื่อหาทางช่วยเหลือ แก้ไข ปรับปรุง ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ โดยการศึกษาหาข้อมูลของบุคคลอย่างละเอียด เช่น ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอด สุขภาพ การเรียน สังคม อารมณ์ ซึ่งอาจได้จากการสัมภาษณ์ จากบุคคลใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างละเอียดให้มากที่สุด 7.วิธีการสัมภาษณ์ (Interview)

            เป็นวิธีการที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน สามารถทำได้ทั้งอย่างมีแบบแผนและไม่มีแบบแผน จุดประสงค์เพื่อต้องการรู้รายละเอียดและทำให้เข้าใจในตัวบุคคล การใช้เทคนิคการสัมภาษณ์มีลักษณะคล้ายแบบสอบถาม คือ เป็นการ
ถามตอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการซึ่งสามารถทำได้ทั้งเป็นหมู่และเป็นรายบุคคล โดยมีวิธีการเป็นขั้นตอนคือ ขั้นเตรียมการ ได้แก่ การเตรียมสถานที่ คำถาม นัดหมายเวลา และสร้างความคุ้นเคยกับบุคคลที่จะถูกสัมภาษณ์ ขั้นสัมภาษณ์ เป็นการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ พยายามให้ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดหรือแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด และขั้นสุดท้ายเป็นการยุติการสัมภาษณ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม