ความหมายของจิตวิทยา
            จิตวิทยา มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Psychology ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Psyche หมายถึง จิตวิญญาณ (mind, soul) กับคำว่า Logos หมายถึง ศาสตร์ วิชา วิทยาการ (science, study) (กันยา สุวรรณแสง, 2542, หน้า 11)

จิตวิทยา หมายถึง วิชาว่าด้วยจิต วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยปรากฏการณ์พฤติกรรม และกระบวนการของจิต (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, หน้า 312)

จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรม โดยเน้นพฤติกรรมทางจิตของบุคคลทั่วไป (ปราณี รามสูต, 2542, หน้า 2)

จิตวิทยา คือ การศึกษาพฤติกรรมกระบวนทางจิตเชิงปรนัย เป็นศาสตร์ที่มีขอบเขตกว้างขวาง เป็นองค์ความรู้ทั้งเชิงศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คลอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ทั้งทางกาย สังคม อารมณ์ จิตใจ ความคิดสติปัญญา จุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาศาสตร์สายนี้คือ เพื่อที่จะเข้าใจ อธิบาย ทำนาย พัฒนาและควบคุมพฤติกรรมด้านต่าง ๆ (จิราภา เต็งไตรรัตน์ และคนอื่น ๆ, 2550, หน้า 29)

จิตวิทยาเป็นวิชาที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ โดยใช้ระเบียบวิธีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ (เติมศักดิ์ คทวณิช, 2546, หน้า 12)

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ความรู้ที่ได้จากแนวคิดทฤษฎี และการทดลองนำมาเสนอเพื่ออธิบายและควบคุมพฤติกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ (สุปราณี สนธิรัตน์ และคณะ, 2537, หน้า 1)

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม และกระบวนการทางจิตซึ่งหมายถึง ทั้งพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายใน โดยที่บุคคลอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ (วิไลวรรณ ศรีสงคราม และคณะ, 2549, หน้า 2)

จิตวิทยา (psychology) คือ การศึกษาเรื่องของจิตใจ พฤติกรรมและสภาพแวดล้อมของคนและสัตว์โดยวิธีการทดลอง สังเกต สำรวจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มักเน้นการศึกษาแต่ละคนหรือกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่า แบ่งเป็นแขนงต่าง เช่น จิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology) เน้นวิธีการศึกษากระบวนการทางจิตใจและพฤติกรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาอาชีพ จิตวิทยาคลินิก (วิทยากร เชียงกูล, 2552, หน้า 191)

จิตวิทยา คือ

(1) ศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาพฤติกรรม การกระทำ หรือกระบวนการทางจิตใจ
(2) ศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดของชีวิต รวมถึงระบบของร่างกายที่เกี่ยวกับพฤติกรรม การทำงานของประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พัฒนาการ ปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม กระบวนการทางปัญญาที่อยู่ในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกสุขภาพจิตและความผิดปกติทางจิต พลวัตของพฤติกรรม การสังเกต การทดสอบ และการทดลอง การประยุกต์ความรู้ทางจิตวิทยา เช่น การจ้างงาน การจัดการศึกษา เรื่องเกี่ยวกับจิตบำบัด และพฤติกรรมของผู้บริโภค (ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 323-324)

จิตวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิญญาณหรือจิตใจของสิ่งมีชีวิต (กระบวนการของจิต) สมอง หรือกระบวนความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งครอบคลุมถึงอารมณ์ การนึกคิด รับรู้พฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (สงกรานต์ ก่อธรรมนิเวศน์, 2552, หน้า 300)

จิตวิทยา คือ ศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งศึกษาถึงเรื่องราวของพฤติกรรมของมนุษย์ เนื้อหาวิชาของจิตวิทยานั้นผิดแผกแตกต่างกันไปตามแต่แขนงวิชาของจิตวิทยา จิตวิทยาบางแขนงเน้นศึกษาในเรื่องหนึ่ง ส่วนจิตวิทยาแขนงหนึ่งอาจเน้นไปศึกษาอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ จิตวิทยาอาจหมายถึง วิชาการที่ศึกษาถึงกระบวนการของจิตใจ หรือศึกษาถึงกระบวนการของตัวตน หรือการกระทำก็ได้ จิตวิทยาแตกแยกออกไปเป็นหลายพวกหลายสกุล การจัดจำแนกสกุลจิตวิทยาอาจจะทำได้หลายทัศนะ แต่ละทัศนะก็มีหลักยึดในการจัดจำแนกแตกต่างกัน เช่น การจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาระบบและระเบียบวิธีการศึกษาเป็นเกณฑ์ การจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาลักษณะธรรมชาติของข้อมูลทางจิตวิทยาเป็นหลัก และการจำแนกสกุลจิตวิทยาโดยถือเอาอินทรีย์ที่มุ่งศึกษาเป็นเกณฑ์ (เดโช สวนานนท์, 2520, หน้า 203)

จิตวิทยา เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถวัดได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์เป็นระเบียบ ระบบ สมัยโบราณ จิตวิทยา หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับจิตเนื่องจากเห็นว่า จิตของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมแตกต่างกันและต่างไปจากสัตว์หรือชีวิตอื่น ๆ ต่อมาภายหลังจากการพัฒนาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรู้ทางสรีรวิทยา แนวการศึกษาทางจิตวิทยาจึงเปลี่ยนมาที่การกระทำของบุคคล และธรรมชาติของมนุษย์ (ทรงพล ภูมิพัฒน์, 2538, หน้า 24)

สรุปความหมายของจิตวิทยา คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม หรือกิริยาอาการของมนุษย์รวมถึงความพยายามที่จะศึกษาว่ามีอะไรบ้างหรือตัวแปรใดบ้าง ในสถานการณ์ใดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถคาดคะเน หรือพยากรณ์ได้โดยใช้แนวทางหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์จิตวิทยา (อังกฤษ: psychology) คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรม