วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นำทีม One Team สพฐ. (สวก. สทศ. สบน. สบว.และ ศนฐ.) ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในงาน “ประวัติศาสตร์ล้านนา  ทรงคุณค่านครพิงค์” มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 – เขต 6 ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู จากพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ และพะเยา และนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน ณ ลานฉำฉา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้ฝากแนวคิดการขับเคลื่อนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองผ่านคลิปวิดีโอ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ สำหรับGen Z จะมีวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กนักเรียนมีความสนุก ไม่ใช่การเรียนรู้แบบท่องจำ ซึ่งจะเป็นบทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียน เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ และทักษะกระบวนการ โดยใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอน รวมถึงวิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาภาษาไทย ที่จะสร้างให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่สมบูรณ์  คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวเสริมว่า ในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก ในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะต้องสร้างความแตกต่าง ให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นท้าทาย ด้วยการใช้ AR สื่อร่วมสมัยในการเรียนรู้จากสถานที่จริง รวมไปถึงการเรียนรู้ลักษณะของคนไทยและวัฒนธรรมไทยอีกด้วย  ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ. ได้กำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มุ่งเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมให้เหมาะสมตามวัยของผู้เรียน และมอบนโยบายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปธรรม

โดยนางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวภายหลังการร่วมกิจกรรมว่า กิจกรรมในการขับเคลื่อนครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นสำคัญในทุกมิติ นำไปสู่การเป็นพลเมืองดีของนักเรียนผ่านการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ ศึกษานิเทศก์และครูแกนนำ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กิจกรรมค่าย Young Historians ของนักเรียน และการศึกษาประวัติศาสตร์ ผ่านแหล่งเรียนรู้รอบคูเมืองเชียงใหม่ รวมถึงนิทรรศการนำเสนอผลงานที่โดดเด่นของนักเรียน 9 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย โรงเรียนแม่แจ่ม โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม โรงเรียนฝางชนูปถัมถ์ โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนแม่ริมวิทยาคม โรงเรียนมัธยมกัลยานิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ เช่น การประกวดนิยามเกี่ยวกับวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นฐาน การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย การจัดการเรียนรู้การสอนที่เน้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ การสอนประวัติศาสตร์ด้วยสื่อบอร์ดเกม Podcast การจัดการเรียนการสอนโดยใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างและความหลากหลายที่มีคุณภาพบนพื้นฐานประวัติศาสตร์ที่สืบทอดผ่านอัตลักษณ์ของชุมชน

และยังกล่าวต่อไปว่า งานของพวกเราทุกคน มีหน้าที่ในการบ่มเพาะนักเรียนทุกคนในสังกัด หรือร่วมกับสังกัดอื่นๆ ด้วย เพราะพระบรมราโชบาย พระบรมราโชวาทของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากบรรพชนของเรา ผ่านความเสียสละ และเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เกิดเป็นอารยธรรม วิถีชีวิตที่มีความงดงาม เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาดินแดน การรักษาเอกราช การดำเนินวิถีชีวิต กว่าจะเป็นชาติไทย ณ ปัจจุบัน พวกเราทุกคนมีหน้าที่ ที่จะต้องสืบสานในสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบโดยตรง คือ การบ่มเพาะนักเรียนทุกคน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งถือได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงสร้างคน ให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งอย่างมีความสุข จึงต้องสืบสานความเป็นไทย พวกเราเป็นคนใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและหน้าที่พลเมืองให้คงอยู่อย่างเข้มแข็ง

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้สำคัญมากต่อการเข้าถึงการรอบรู้ของนักเรียน ในยุค VUCA World ที่แตกต่างจากเดิม ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ทั้งตัวเราเอง นักเรียน และคุณครู ควรดึง Soft Power แหล่งเรียนรู้ หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ มิใช่เพียงแต่การท่องจำ แต่ต้องเข้าถึงในสิ่งที่จะอธิบายได้ว่า ณ ตอนนั้น สถานการณ์นั้น เป็นคำตอบที่ดี ที่สามารถนำมาวิเคราะห์สิ่งที่มาเป็นบทเรียนของคนไทย หรือบทเรียนของคนรุ่นใหม่ได้ วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อดึงมาเป็นความภูมิใจในการทำสิ่งดีดีเพื่อสังคมต่อไป เปรียบเสมือนประตูเชื่อมช่วงวัย โดยเราจะทำอย่างไร ให้ความสง่างามของความเป็นไทยเกิดขึ้นกับนักเรียนของเรา และให้นักเรียนของเราสามารถสร้างความงดงามผ่านตัวตนของเขาได้อย่างภาคภูมิใจ

“ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม สพฐ. ได้มีการขับเคลื่อน จัดกระบวนการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ AL  แล้วต่อยอดเข้าสู่กระบวนการให้เกิดการบ่มเพาะ ทั้งหลักสูตรชาติ หลักสูตรแกนกลางการศึกษา พ.ศ.2551 ที่เน้นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ สามารถควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งกระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียน ไม่เพียงแต่มาตรฐานและตัวชี้วัดเท่านั้น แต่เป็นโอกาสสำคัญที่จะให้นักเรียนได้แสดงสมรรถนะที่สำคัญ 5 ประการ ผ่านสิ่งที่เราบ่มเพาะ ซึ่งสิ่งที่เราบ่มเพาะ 8 ข้อของคุณลักษณะอันพึงประสงค์จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์นโยบายของ เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้มอบไว้ว่า “อยากให้เด็กไทยเป็นเด็กเก่ง คู่กับการเป็นเด็กดี “ เมื่อเราทุกคนทำเป้าหมายของหลักสูตรชาติได้ เด็กของเราก็จะมีทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน คือทั้งดีและเก่ง อย่างมีความสุข ภายใต้ความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งในวันนี้ต้องขอชื่นชมทุกคน ที่ร่วมจัดงานสร้างความตระหนักและโชว์การขับเคลื่อนของแต่ละโรงเรียนได้อย่างดี เป็นต้นแบบของทั้งประเทศได้ เช่น นักเรียนที่เรียนแผนการเรียนวิทย์ คณิต นำเสนอประวัติศาสตร์รอบโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับชุมชนผ่านงานวิจัยอย่างภาคภูมิใจ เด็กบอกเลยว่าชอบประวัติศาสตร์ ผ่านการสังเกตและอยากรู้ ทำให้ไม่มีคำว่าน่าเบื่อในการเรียนประวัติศาสตร์อีกต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่ นางสาวฉัตรลดา สินธุสอน ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ กล่าวว่า ความสำคัญที่เราจะต้องร่วมมือกันในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของดินแดนล้านนา 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ชัดเจน มีวัฒนธรรมย่อย ๆ ของชนชาติพันธุ์ โดยเห็นได้ชัดเจนจากงานศิลปกรรม งานโบราณสถาน งานโบราณวัตถุ โดยล้านนา มีภาษา มีความเชื่อ มีวัตรปฏิบัติต่าง ๆ เป็นของตนเองซึ่งได้รับการรักษามาเป็นอย่างดี เพียงแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาของการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีบ้างบางครั้งที่เราจำเป็นต้องถ่อมตน ลดบทบาทลงไปเพื่อจะร่วมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีและกลมกลืนอย่างไม่ขัดแย้ง สิ่งนี้คือคุณลักษณะของชาวล้านนา คือความถ่อมตน และนอกจากนี้เรายังรู้จักเลือก รับ ปรับ ใช้ เพื่อให้เข้ากับผู้คนและสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด ดังนั้นถือว่าเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้มาร่วมกันเพื่อทำให้บทบาทของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนเอง ได้มีโอกาสสอดแทรกไปในวิถีชีวิตประจำวันของเด็กรุ่นใหม่ ได้อย่างไม่น่าเบื่อ และน่าสนใจ