สมุนไพรทางเลือกใหม่สำหรับการเลี้ยงสัตว์

 

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางเทคโลโลยีชีวภาพ กำลังมาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์มาก กรอบการพัฒนาประเทศที่มุ่งพัฒนา แบบพึ่งพาต่างชาติ และการมุ่งแสวงหาเงินตราอย่างเดียวนั้นทำให้เกิดปัญหาต่อสังคม และระบบนิเวศน์ และทำให้คนในประเทศ เป็นหนี้สินที่ยากจะหลุดพ้นรวมทั้งสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย แต่สิ่งที่เป็นจริงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ไปตามการพัฒนา คือ “ธรรมชาติ” โดยเฉพาะปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตได้แก่ “อาหารและยา” จากสาร ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีความ หลากหลายของพืชพรรณ กระแสความนิยมบริโภคอาหารที่ปลอดจากสารเคมีและสารพิษ แนวเกษตรอินทรีย์ กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ในปัจจุบันที่สถานะการณ์การส่งออกอาหารได้รับผลกระทบ จากการกีดกันการค้าที่ชัดเจน เช่นการส่งออกไก่และกุ้งไปยังประเทศกลุ่มอี.ยู. ฤาเราจะต้องวิ่งตามแก้เกม ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปกลุ่มประเทศ เหล่านี้จะอ้างเหตุอื่นๆ อีกหรือไม่ในการกีดกันอาหารจากเรา ดังนั้น การผลิตอาหารที่เป็นความมั่นคงของชาติ และต่อสุขภาพความ เป็นอยู่ของผู้คน ภายในประเทศส่วนใหญ่ จึงเป็นทางออกในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะ สังคมฐานรากสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับ การเลี้ยงสัตว์ ใช้ทดแทนสารเคมีในการป้องกันและรักษาโรค เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนั้น การใช้พืชสมุนไพรในการดูแลสุขภาพสัตว ์ของเกษตรกรรายย่อยจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายการเลี้ยงสัตว์ และยังทำให้ลดการสั่งซื้อยาเคมีจากต่างประเทศ ฉะนั้นการส่งเสริมความรู้ สร้างกระบวนการ เรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาใหม่ โดยใช้ฐานทุนที่มีอยู่ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของประเทศ สร้างสังคมฐานราก ให้เข้มแข็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จะเป็นทางออกในมิติใหม่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการที่ชาวบ้านเป็นนักวิจัยที่ยอดเยี่ยม
(ที่น่าจะได้รับรางวัล) เป็นนักวิทยาศาสตร์เชิงสังเกต โดยที่ในขณะนั้นไม่รู้ว่าพืชที่นำมาใช้มีสารออกฤทธิ์อะไรแต่ได้จากการสังเกต สิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาต ิว่ากินอะไรใช้ป้องกันรักษาโรคได้ ซึ่งแตกต่างจากการวิจัยในความหมายของนักวิทยาศาสตร์ที่มีแบบแผนมาจากตะวันตก แต่นักวิจัยชาวบ้านได้ผ่านการลองผิด ลองถูก จากการปฏิบัติจริงภายใต้สภาวะแวดล้อม และทรัพยากรในระบบนิเวศน์ และสังคม วัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ ค้นคว้าวิจัยโดยใช้ชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บทั้งของคนและสัตว์จนได้เป็นตำรับที่ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการสั่งสมถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อ ๆ มา (ซึ่งในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้ดูถูกและละเลยภูมิปัญญาเหล่านี้มาเป็นเวลานาน) โดยที่คน รุ่นเก่าได้ยึดหลักพระพุทธศาสนา การมีให้ มีแบ่งมีปัน มีความเมตตา ไม่ละโมบ มีการเจริญภาวนา และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่น ป่าเขา แม่น้ำ และแผ่นดิน เป็นต้น ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีที่มาที่ไป เป็นการดูแลรักษาโรคแบบองค์รวมที่เกิดจากการผสมผสานในระบบความสัมพันธ์ของ คนกับคน คนกับสังคม คนกับทรัพยากรธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมถึงปรัชญาในการดำรงชีวิต ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะหันกลับมาสู่แนวคิดการพึ่งพาตนเองภายในประเทศ โดยพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ภายในให้ได้รับการยอมรับ ให้มีคุณค่า และเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อให้หลุดพ้นจากการรุกรานทางเศรษฐกิจของต่างชาติ
ตำรับสมุนไพรสำหรับสัตว์ที่นำมาเสนอนั้น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งส่วนมากคัดสรรตำรับที่มีหลักฐานการบันทึกเผยแพร่จำนวนมาก หรือบางตำรับ มีผู้ให้ข้อมูล ตรงกันหลายราย ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งแสดงถึงความแม่นยำในการใช้ตำรับที่ปรากฏ ผู้เขียนได้มาจาก 3 แหล่ง คือ สมุนไพรรักษากระบือ โดย ศ.ประสบ บูรณมานัส การสืบค้นข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้สมุนไพรรักษาโรคโค-กระบือในภาคตะวันตกของทีมงานวิจัยของผู้เขียน และจากการบอกเล่าในการเยี่ยมกลุ่มเกษตรกร ในวาระต่าง ๆ ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้คัดสรรแล้วว่าใช้ได้ผล ที่สมควรนำมาเผยแพร่ให้นำไปปรับใช้ในแต่ละท้องถิ่นตามทรัพยากรที่มีอยู่ และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจนำไปปฏิบัติ เพื่อลดการพึ่งพาสารเคมีจากต่างประเทศ และมีผลต่อสุขภาพของคนในประเทศที่ยั่งยืน

 

ตำรับยาถ่ายพยาธิ วัว- ควาย
ตำรับที่ 1.1 ตัวยา บอระเพ็ด 1 กก. เกลือ 2 กำมือ
วิธีปรุงยา บอระเพ็ดผสมกับน้ำ คั้นเอาน้ำ
วิธีใช้ กรอกให้ควายกิน
สรรพคุณ ถ่ายพยาธิ และ รักษาอาการสัตว์ไม่กินหญ้า เบื่ออาหาร
ตำรับที่ 1.2 ตัวยา เมล็ดน้อยหน่า น้ำ
วิธีปรุงยา ตำเมล็ดน้อยหน่าให้ละเอียดผสมน้ำ
วิธีใช้ กรอกให้วัว- ควายกิน
สรรพคุณ ฆ่าพยาธิภายใน
หมายเหตุ เมล็ดน้อยหน่า มีสารออกฤทธิ์ คือ squamocin ซึ่งฆ่าเห็บเหาและแมลงได้ดี
ตำรับที่ 1.3 ตัวยา มะเกลือ น้ำ
วิธีปรุงยา ตำมะเกลือ 10 เม็ด พอแหลกคั้นกับน้ำ 1 ลิตร กรองเอาน้ำ
วิธีใช้ กรอกให้ควายกินตอนเช้าครั้งเดียว ควรใช้คั้นสดแล้วกรอกให้กินทันที
สรรพคุณ ถ่ายพยาธิ
หมายเหตุ มะเกลือมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ขับพยาธิ คือ diospyrol diglucoside ซึ่งละลายน้ำได้ดี จึงไม่ดูดซึมผ่านลำไส้
แต่ถูกพยาธิในลำไส้กินเข้าไป ทำให้พยาธิตาย
ตำรับที่ 1.4 ตัวยา ใบขี้เหล็ก 5 กำมือ กะทิ 3 กก. เกลือ 3 กำมือ และน้ำ
วิธีปรุงยา นำใบขี้เหล็กมาบดให้แหลกกับเกลือและหัวกะทิ
วิธีใช้ ใส่กระบอกไม้ไผ่กรอกให้สัตว์กิน
สรรพคุณ รักษาพยาธิ
ตำรับที่ 1.5 ตัวยา เปลือกสะเดา น้ำซาวข้าว
วิธีปรุงยา โขลกเปลือกสะเดาซึ่งมีรสขม แล้วแช่ในน้ำซาวข้าว คั้นเอาแต่น้ำ
วิธีใช้ กรอกตอนเช้าหรือตอนเย็นก็ได้วันละ 3-4 กระบอกไม้ไผ่ ให้กิน 3-4 วัน
สรรพคุณ รักษาพยาธิยาถ่ายพยาธิเส้นด้าย
ตำรับที่ 1.6 ตัวยา ลูกสะแก เกลือ
วิธีปรุงยา ลูกสะแกประมาณ 2-3 กำมือ ตำกับเกลือพอเค็ม เติมน้ำ 1 ลิตร
ใช้กระบอกไม้ไผ่กรอกทันทีครั้งละ 1 ลิตร
วิธีใช้ ใช้กรอก เป็นยาถ่ายพยาธิ
สรรพคุณ ยาถ่ายพยาธิตัวกลมในควาย
2. ตำรับยาบำรุงวัว-ควาย กินหญ้าดีอ้วนขึ้น
ตำรับที่ 2.1 ตัวยา บอระเพ็ด 1 กก. เกลือ 3 กำมือ ปัสสาวะคน น้ำซาวข้าว (ไข่ไก่ ไข่เป็ด)
วิธีปรุงยา เอาบอระเพ็ดมาหมักกับเกลือ 3 กำมือ และน้ำปัสสาวะพอท่วมกับน้ำซาข้าว ทิ้งไว้ 7 วัน
วิธีใช้ รินเอาน้ำมาผสมกับไข่ 1 ฟอง (อาจไม่ผสมไข่ก็ได้) กรอกให้สัตว์กินตอนเช้า หรือตั้งไว้ให้สัตว์กิน
สรรพคุณ ทำให้วัว – ควายอ้วนขึ้น รักษาอาการเบื่ออาหารไม่กินหญ้า
ตำรับที่ 2.2 ตัวยา ลูกยอสุก ข้าวบูด เกลือ น้ำ
วิธีปรุงยา นำลูกยอสุกดองกับข้าวบูดกับเกลือผสมน้ำ
วิธีใช้ รินเอาน้ำกรอกให้สัตว์กินตอนเช้า หรือตั้งไว้ให้กินทั้งเนื้อและน้ำ
สรรพคุณ รักษาอาการสัตว์ไม่กินหญ้าเบื่ออาหาร
ตำรับที่ 2.3 ตัวยา เปลือกสะเดา น้ำซาวข้าว เกลือ ไพล ขมิ้น มะกรูด
วิธีปรุงยา นำเปลือกสะเดามาตีให้แตก ตำรวมกับขมิ้น ไพล ให้แหลก ผ่ามะกรูด
นำทุกอย่างมาผสมกันแช่ในถังกรองเอาน้ำ
วิธีใช้ รินเอาน้ำกรอกให้สัตว์กิน
สรรพคุณ รักษาอาการสัตว์ไม่กินหญ้าเบื่ออาหาร
ตำรับที่ 2.4 ตัวยา ยาดำ ไพล ส้มมะขามเปียก
วิธีปรุงยา ใช้ยาดำขนาด 2 เท่าหัวแม่มือผสมกับส้มมะขามเปียกหรือไพลขนาด
2 ก้อนเท่าหัวแม่มือ แล้วละลายน้ำ
วิธีใช้ กรอกขนาด 1 กระบอกไม้ไผ่ เวลาไหนก็ได้
สรรพคุณ ควายจะมีระบบขับถ่ายเป็นปกติด
3. ตำรับยาแก้เส้นตึง เดินไม่ได้ ท้องแข็ง หลังโก่ง
ตำรับที่ 3.1 ตัวยา ต้นโคลาน เถาเอ็นอ่อน รากกำลังหนุมาน กำลังช้างสาร
โด่ไม่รู้ล้ม รากหญ้าคา รากหมาก ตาไม้ไผ่สามตา
วิธีปรุงยา ต้มทุกอย่างรวมกัน
วิธีใช้ รินเอาน้ำกรอกให้กินทุกเข้า
สรรพคุณ รักษาโรคเส้นตึง
ตำรับที่ 3.2 ตัวยา หญ้างวงช้างทั้ง 5 ตะไคร้ทั้ง 5 น้ำมันก๊าด
วิธีปรุงยา ตำยาแล้วผสมน้ำมันก๊าด
วิธีใช้ ทาตามตัว
สรรพคุณ เส้นตึงจะหาย
ตำรับที่ 3.3 ตัวยา เสล็ดพังพอน ข่า ตะไคร้ น้ำ
วิธีปรุงยา ตำเสล็ดพังพอน ข่า ตะไคร้ ให้ละเอียดนำไปห่อผ้าต้ม
วิธีใช้ นำไปประคบตรงที่เป็น
สรรพคุณ แก้โรคตัวแข็ง ขาแข็ง หลังแข็ง
ตำรับที่ 3.4 ตัวยา ใบหนาด บอระเพ็ด ไพล เกลือ ต้นตายปลายเป็น
วิธีปรุงยา นำทุกอย่างตำรวมกันคั้นเอาน้ำ
วิธีใช้ เอาน้ำกรอกให้สัตว์กิน
สรรพคุณ รักษาโรคไข้สามวัน หรือไข้ขา
4. ตำรับยารักษาโรคผิวหนัง เห็บ เหา วัว-ควาย
ตำรับที่ 4.1 เมล็ดน้อยหน่า
วิธีปรุงยา บดเมล็ดน้อยหน่าเป็นผงไว้ แช่ผงเมล็ดน้อยหน่าด้วยน้ำที่มีแฮลกอฮอล์ 10%ใช้น้ำ 2 เท่าของผงเมล็ดน้อยหน่า แช่ทิ้งค้างไว้หนึ่งคืน
วิธีใช้

1. กรองคั้นเก็บส่วนน้ำไว้เป็นหัวเชื้อ
2. นำหัวเชื้อ ไปผสมน้ำที่มีแอลกอฮอร์ 10 % เพื่อเจือจางอีก 6 เท่าของหัวเชื้อ แล้วกรองคั้นส่วนน้ำมารวมกัน
3. ใช้ฉีดพ่นให้โดนเห็บบนตัววัว หรือสุนัข จะฆ่าเห็บได้ทั้งตัวอ่อน เห็บตัวรุ่น และเห็บตัวแก่
4. สัปดาห์ต่อมาจะมีเฉพาะเห็บตัวอ่อนขึ้นใหม่ ให้ใช้สารสกัดเมล็ดน้อยหน่า หัวเชื้อ มาเจือจางด้วย 10 % แอลกอฮอล์อีก 300 เท่า พ่นฆ่าเห็บตัวอ่อน เป็นประจำทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อย 8-16 สัปดาห์ ขึ้นไป เพื่อไม่ให้เห็บตัวอ่อนขึ้นมาใหม่
สรรพคุณ ใช้ฆ่าเห็บ วัว และสุนัข
หมายเหตุ 1. น้อยหน่า 1 ลูก ได้เมล็ดเฉลี่ย 36 เมล็ด จะทำหัวเชื้อได้ 7 ซี.ซี. ถ้าผสมน้ำอีก 300 เท่า จะได้สารสกัด 2.1 ลิตร ฉีดพ่นโคนมได้ 4 ตัว โคพื้นเมือง 6 ตัว หรือ โคหนึ่งตัวใช้เมล็ดน้อยหน่า 10 เมล็ด ต่อหนึ่งสัปดาห์
2. สารสกัดต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และเก็บได้นานถึง 3 ปี แต่ไม่ควรสกัดเก็บไว้จะเปลืองไฟ ควรเก็บไว้ในสภาพเมล็ดไว้จะดีที่สุด เมื่อจะใช้ถึงนำมาแช่
3. แหล่งข้อมูล รศ.ดร.ณรงค์ จึงสมานญาติ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตำรับที่ 4.2 ตัวยา ใบน้อยหน่า ยาเส้น กำมะถัน น้ำมันพืช
วิธีปรุงยา นำทุกอย่างตำรวมกันผสมน้ำมันพืช
วิธีใช้ ใช้ทาตามตัว
สรรพคุณ รักษาขี้เรื้อน ได้ทั้ง วัว-ควาย สุนัข
ตำรับที่ 4.3 ตัวยา เมล็ดน้อยหน่า 10 เมล็ด เหล้าขาว
วิธีปรุงยา เมล็ดน้อยหน่า ตำ ผสมเหล้าขาว
วิธีใช้ ทาตามตัว
สรรพคุณ รักษาโรคขี้เรื้อน
ตำรับที่ 4.4 ตัวยา น้ำหน่อไม้ดอง
วิธีใช้ นำน้ำหน่อไม้ดองมาทาบริเวณผิวหนังที่เป็นด่าง ดวง ขนหลุด
สรรพคุณ รักษาโรคผิวหนังใน วัว-ควาย ให้หายได
5. ตำรับรักษาโรคกีบใน วัว-ควาย
ตำรับที่ 5.1 ตัวยา เปลือกประดู่
วิธีปรุงยา นำเปลือกประดู่จำนวนมากมาต้มจนน้ำข้น ทิ้งไว้พออุ่น
วิธีใช้ ใช้ราดแผลที่กีบกันแมลงวันตอม
สรรพคุณ รักษาแผลเน่าเปื่อย
ตำรับที่ 5.2 ตัวยา เปลือกต้นเฮว เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นซ้อ
วิธีปรุงยา นำตัวยาทั้ง 3 อย่าง มาอย่างละ 2 กก. หรือใช้เปลือกคู่ใดคู่หนึ่งเอาใส่ปี๊บเติม
น้ำให้เต็ม ต้มประมาณ 1 ชั่วโมงยกลง
วิธีใช้ พอน้ำยาอุ่นๆ นำมาเทในซองที่ขุดหลุมไว้ อาจจะเทคอนกรีตให้เท้าแช่น้ำนาน
1 ชั่วโมง
สรรพคุณ ทำ 3-4 วัน กีบที่เป็นแผลหรือเล็บหลุดก็จะหาย
6. ตำรับรักษาแผลมีหนอน
ตำรับที่ 6.1 ตัวยา ต้น (ราก) หนามเกี่ยวไก่ ยาสูบ น้ำมันเบนซิน
วิธีปรุงยา ขูดรากหรือต้นหนามเกี่ยวไก่ผสมกับยาสูบและน้ำมันเบนซินเล็กน้อย
วิธีใช้ ใส่บริเวณที่เป็นแผล
สรรพคุณ ทำให้หนอนเมา ตาย รักษาแผลที่มีหนอน
ตำรับที่ 6.2 ตัวยา ยาสูบ ปูนแดง
วิธีปรุงยา นำยาสูบผสมกับปูนแดง
วิธีใช้ อุดรูแผล ก่อนใส่ยา ให้เอาตัวหนอนออกก่อน
สรรพคุณ รักษาโรคแผลเน่ามีหนอน
7. ตำรับยารักษาโรคเต้านมอักเสบโคนม
ตำรับที่ 7.1 ตัวยา หญ้างวงช้าง 1 กก. น้ำตาลทรายแดง 1 กก. น้ำ 1 ปีบ
วิธีปรุงยา นำทุกอย่างมาต้มรวมกันกรองเอาน้ำ
วิธีใช้ กรอกให้สัตว์กินวันละขวดลิโพ
สรรพคุณ หญ้างวงช้าง มีสารออกฤทธิ์ที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสพวกเริมและมีฤทธิ์ไล่แมลง ผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า โคนมที่เป็นเต้านมอักเสบระยะต้น กิน 3 วัน จะหาย
ตำรับที่ 7.2 ตัวยา หญ้างวงช้าง เถาตูดหมูตูดหมา น้ำ 1 ปีบ หรืออาจเพิ่มน้ำตาลทรายแดง
วิธีปรุงยา นำทุกอย่างมาต้มรวมกันกรองเอาน้ำ
วิธีใช้ กรอกให้สัตว์กิน และควรรีดน้ำนมทิ้งด้วย
สรรพคุณ รักษาเต้านมอักเสบ
ตำรับที่ 7.3 ตัวยา พันงูเขียวทั้ง 5 น้ำตาลทรายแดง
วิธีปรุงยา นำมาต้มรวมกัน
วิธีใช้ 1. กรอกให้กิน 3-4 วัน จะหาย ร่วมกับให้กินเจตมูลเพลิงแดงถ้าสัตว์ไม่อยากกินจะไม่กิน หรือเมื่อหายแล้วจะไม่กิน
2. ถ้าเป็นน้อย ให้พันงูเขียวกินสดจะหาย
สรรพคุณ รักษาเต้านมอักเสบ
หมายเหตุ พันงูเขียว มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการต้านเชื้อแบคทีเรีย และเร่งให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดี
(สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
ตำรับที่ 7.4 ตัวยา หัวไพล น้ำอุ่น
วิธีปรุงยา นำหัวไพลมาตำละเอียดห่อผ้าขาวบางแช่น้ำอุ่น
วิธีใช้ นำมาปะคบเต้านมที่อักเสบ
สรรพคุณ ลดการบวม เต้านมอักเสบ