หลาย ๆ คนคงบอกรักแม่ และบ้างก็อาจระลึกถึงวีรกรรมของคุณแม่ดีเด่นทั้งในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี วรรณกรรมเก่าแก่ต่าง ๆ มากมาย แต่มีคนนึงที่ผมอยากจะเขียนถึงและนำเสนอ เรื่องราวที่หลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่เคยได้รู้มาก่อน เพราะอาจจะเคยได้ยินแต่ “ชื่อเสีย” ส่วนใหญ่ของนางที่อาจจริงบ้างเท็จบ้าง (ที่แน่ ๆ หลาย ๆ แหล่งยืนยันแล้วว่า -คำว่า “ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ” นั้น “ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่านางเคยพูด มีแต่หลักฐานที่ว่ามันมี แต่ไม่ใช่คำพูดจากปากนาง และมีมาก่อนนางไปอยู่ฝรั่งเศสด้วยซ้ำไป”

ใช่แล้ว ผมกำลังอยากจะพูดถึง “พระนางมารี อังตัวเน็ตต์” ที่สังคมอาจจะครหานางมากมาย แต่ในปัจจุบันนี้มีข้อมูลโต้แย้งมากมายเกี่ยวกับนาง ซึ่งหักล้างความเชื่อเดิม ๆ ไปมากพอสมควร และหนึ่งในนั้นที่พวกเราอาจจะไม่รู้ แต่ก็น่ารู้ในวันสำคัญเช่นนี้คือ “นางเป็นแม่ที่ดีมากคนหนึ่ง”

จริงอยู่ที่แม้นางอาจจะไม่ใช่คนดีขนาดพอจะยกให้เป็นวีรชนหรือวีรสตรีอะไร แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดจะต้องประหารหรือยกให้นางเป็นเป้าโจมตีหรือเหยื่อการเมืองเลยสักนิด ใช่ มันเป็นเรื่องแย่ถึงแย่ที่สุด ที่โยนทั้งบาปและภาระต่าง ๆ ให้กับผู้หญิงคนเดียวให้เป็นเพียงแพะรัับบาป กลายเป็นสัญลักษณ์ของอะไรสักอย่างที่แย่ ๆ เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มแบบชนิดกะไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ทั้งที่ปัญหาจริง ๆ แล้ว อย่าว่าแต่พระนาง(ที่จริง ๆ ดูน่าจะมีดีกว่าสามีอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เสียอีก) ไม่ว่าใครก็คงแก้ปัญหาที่มีอยู่ในยุคนั้นด้วยตัวคนเดียวไม่ได้หรอก

แต่เอาเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะนำมาพูดในวันนี้ เพราะเรื่องประวัติศาสตร์และการเมือง เถียงให้ตายก็ไม่มีวันจบ แต่ผมต้องการนำเสนอจากข้อมูลที่รวบรวมมาได้ ว่านางเป็น “แม่” ที่ดียังไง

ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยเรื่องการกล่าวชื่อบางชื่อ เนื่องจากผมไม่มีความรู้ด้านภาษาฝรั่งเศส บางครั้งจึงได้แต่เพียงเรียกเป็นภาษาอังกฤษ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

อย่างที่เรารู้กัน พระนางมารี อองตัวเน็ต นั้นมีบุตรกับพระเจ้าหลุยส์ถึง 4 พระองค์ (ซึ่งจัดว่ามีบุตรช้า เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์มีปัญหาตรง “-นั่น” ซึ่งกว่าจะได้รับการรักษาจนใช้การได้ก็ผ่านไปนานพอสมควร) บุตรและบุตรีทั้งสี่นั้นประกอบด้วย
 มารี เทเรซ่า ชาร์ล็อต ซึ่งเป็นพระองค์เดียวที่มีชีวิตรอดจนจบยุคปฎิวัติฝรั่งเศส
– หลุยส์ โจเซฟ เซเวียร์ ฟรานซิส ตายตั้งแต่ตอน 7 ชันษา ด้วยวัณโรค ตั้งแต่ช่วงเริ่มการปฏิวัติ
– หลุยส์ ชาร์ล (พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 ในเวลาต่อมา แต่ก็แค่ในนาม ไม่เคยได้ขึ้นครองราชย์จริง ๆ ) คนเดียวกับที่ถูกพรากจากพระนางผู้เป็นแม่ ถูกบังคับให้ใส่ความพระมารดา และตายในวัย 10 ชันษาเท่านั้น (อ้างว่าเพราะวัณโรค แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัด ที่แน่ ๆ แพทย์ชันสูตรพบว่ามีแผลตามตัวมากมายตั้งแต่ตอนถูกคุมขัง)
 โซฟี เฮเลน บีทริกซ์ ตายตั้งแต่ 1 ชันษาก่อนการปฏิวัติด้วยซ้ำ


[ภาพ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ และลูก ๆ ทั้งสองพระองค์ ได้แก่ มารี เทเรซ่า ชาร์ล็อต และ หลุยส์ ชาร์ล by François Dumont 

แต่นอกจากนี้น้อยคนจะรู้ว่า นางยังได้รับอุปการะเด็กอีกหลายคน ถึงขั้นทุ่มทุนเพื่อการศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กพวกนั้นอีกด้วยซ้ำ
(-ที่โทษกันว่านางใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อสนองตัวเองนั้น อาจจะเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะหลาย ๆ ข้อมูลชี้ว่า นางมัธยัสต์กว่าชนชั้นสูงคนอื่นหลายคนด้วยซ้ำไป อย่างเช่นชุดผ้ามัสลินที่ว่ากันว่าเป็นชุดโปรดของนาง โอเคมันอาจจะยังแพงอยู่ แต่สำหรับฐานะราชินีแล้ว ถือว่า simple มาก ๆ ส่วนที่เหลือ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมชนชั้นสูงมันเป็นแบบนั้น อารมณ์เหมือนคุณกินกับข้าวเซเว่นทุกวัน ๆ แล้วมีคนบ่นว่ากินแพงอยู่ดีนั่นล่ะ)


[พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ ในชุดผ้ามัสลินสุดโปรดของนาง by Elisabeth Vigée-Lebrun ซึ่งหากมองในมุมมองสมัยนั้น ต้องถือว่ายังไม่แพงสมกับความเป็นราชินีเสียด้วยซ้ำ]

และที่สำคัญ สิ่งที่ทำให้ พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ นั้นเป็นคุณแม่ตัวอย่างที่น่าชื่นชมนั้น ที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่ ทั้งที่นางมีโอกาสจะหนีให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวงหลายครั้งมาก แต่นางกลับปฏิเสธเพียงเพราะว่า “จะไม่ขอหนีไปหากลูก ๆ ไม่ได้ไปด้วยโดยเด็ดขาด” ซึ่งส่งผลให้การหลบหนีช้ากว่าที่ควรจะเป็นและถูกจับได้ทั้งครอบครัวในภายหลัง
ถึงจะบอกว่านั่นเป็นปกติโดยสัญชาตญาณของแม่ที่รักลูกในไส้อยู่แล้วก็ตาม แต่เอาจริง ๆ จะมีสักกี่คนที่กล้าหาญขนาดนั้นในสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะที่แม่ใจแตกบางคนทิ้งลูกลงถังขยะได้ลงคอด้วยซ้ำไป

และนอกจากนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมได้มีการอ้างอิงเพิ่มว่า แม้จะอยู่ในช่วงเวลาปฏิวัติอันวุ่นวาย และอันตราย แม้จะถูกควบคุมอยู่ก็ตาม นางก็มิได้ละทิ้งเหล่าเด็กที่นางอุปการะเลย แถมยังรับเพิ่มเสียด้วยซ้ำ แม้กระทั่งช่วงที่ถูกคุมขังรอวันประหาร นางก็ยังคงถามพวกผู้คุมถึงข่าวคราวเกี่ยวกับความเป็นไปของเด็กพวกนั้นเสียด้วยซ้ำ

และในจำนวนนั้น มีเรื่องราวของเด็ก 4 คนที่เคยได้ใช้เวลาร่วมกับองค์ราชินีทั้งที่ไม่ได้เป็นลูกในไส้เลยด้วยซ้ำ

1.อาร์มันด์ (Armand , ชื่อเดิม- François Michel Gagné แต่ครอบครัวเดิมเขาเรียกว่า Jacques)เด็กชายผู้เสียแม่แท้ ๆ ไปตั้งแต่ยังเล็กและเกือบถูกม้าของนางชนตาย พอมารีทราบเรื่องของเด็กน้อยจากยายของเขา ก็รับอุปการะเด็กคนนี้ทันที

ทว่า-เรื่องที่มันซนนี่ไม่เท่าไหร่ แต่ประเด็นคือ -เด็กเปรตนี่ดันเจือกทรยศผู้มีพระคุณและไปเข้ากับฝ่ายปฏิวัติเฉยเลย แล้วก็ตายท่ามกลางความวุ่นวายนั่นแหละครับ

2.เอิร์นเนสทิน (Ernestine) เป็นเพื่อนเล่นรุ่นราวคราวเดียวกับมารี เทเรซ่า ชาร์ล็อต (ธิดาองค์โต) ต่อมาพอพ่อแม่เสียชีวิต พระนางมารี อองตัวเน็ตก็รับอุปการะเอิร์นเนสทีนทันที เลยมีศักดิ์เป็นพี่น้องบุญธรรมกับเจ้าหญิงองค์โตไปด้วยเลย ทว่าก็พลัดกันตอนที่ราชวงศ์ถูกจับ พระธิดาพยายามตามหานาง แต่ได้ข่าวเพียงแค่ว่านางได้ไปอาศัยอยู่กับย่า(หรือยาย) พอเรื่องสงบลง ก็กลายเป็นว่านางจากไปก่อนจะได้พบกับพระธิดาที่เหลือรอดเป็นคนสุดท้ายเสียแล้ว

3.ยีน อมิลก้า (Jean Amilcar) จากเดิมเป็นเพียงเด็กชายที่โดนอัศวินจับมาถวายให้กับพระนาง แต่แทนที่จะให้เป็นเพียงเด็กรับใช้ที่ต่ำต้อย พระนางกลับให้เขารับบัพติศมาและดูแลเขาอย่างดี ทว่าพอการปฏิวัติเกิดขึ้น เขาพลัดกับพระนางแต่ก็ยังได้รับเงินช่วยเหลืออยู่ตลอด แต่พอเงินช่วยเหลือจากพระนางไม่มาอีกแล้ว (ซึ่งก็รู้กันว่าเกิดอะไรขึ้น) เด็กชายก็โดนถีบหัวทิ้งและตายอยู่ข้างถนนทั้งที่อายุแค่สิบขวบเท่านั้น

4.Zoe นางก็เป็นอีกคนหนึ่งที่องค์ราชินีอุปการะไว้ แต่เมื่อเด็กหญิงอายุเพียง 5 ขวบ เกิดการปฏิวัติขึ้น พระนางได้ส่งเด็กหญิงไปอยู่ในคอนแวนท์ร่วมกับพี่น้องของนาง

นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายที่มิได้ถูกกล่าวถึง หรือไม่มีข้อมูลหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน

แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับพระนางมารี อองตัวเน็ต ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี นางอาจจะเป็นเพียงผู้หญิงคนนึงที่โชคร้ายต้องมาตกอยู่ในแวดวงของการเมืองเพียงเพราะเป็นราชวงศ์ และอาจไม่ได้มีคุณสมบัติพอจะเป็นราชินีที่ยิ่งใหญ่อะไร และนางอาจเป็นแค่คนธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไหลไปตามกระแสของสังคมที่เต็มไปด้วยระบบชนชั้น จนต้องกลายเป็นเหยื่อและแพะรับบาปของสังคมไป

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคงพอจะพูดได้คือ นางเป็นแม่ที่ดีคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้ดีที่สุดก็ได้ แต่อย่างน้อยนางก็ไม่สมควรจะถูกทอดทิ้งหรือลืมเลือนไปเนื่องในโอกาสวันสำคัญเช่นนี้แน่นอน

อย่างน้อยผมก็เชื่อเช่นนั้น

อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Marie_Antoinette
Marie Antoinette’s Adopted Children