นับย้อนหลังไปเมื่อ30ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เทคโนโลยีในด้านต่างๆยัง

ไม่ค่อยเจริญ  ในชนบทที่ห่างไกล…บ้านแทบทุกหลังยังไม่มีโทรทัศน์

ส่วนโทรศัพท์ไม่ต้องพูดถึงการติดต่อสื่อสารก็มักจะใช่การเดินทางไปมาหาสู่

กัน  การเดินทางไปในแต่ละที่ก็ใช้เวลาเป็นวันๆหรืออาจข้ามวันเพราะการ

คมนาคมยังไม่สะดวก  ชาวบ้านทุกคนในชนบทยังห่วงแต่เรื่องปากท้อง ไม่มี

ใครที่จะมีเวลาไปสนใจเรื่องภายนอกใดๆทั้งสิ้น…ประมาณเดือนพฤษภาคม

2520 ก็ได้เกิดการค้นพบที่สร้างความตื่นเต้น และน่าอัศจรรย์ใจแก่นัก

โบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง  การค้นพบนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทเล็กๆแห่งหนึ่งที่

ห่างไกลจากความเจริญ  การค้นพบครั้งนี้ทำให้หลายๆคนเริ่มรู้จักชื่อของ

“โพหัก”หมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมาบ้าง

     การค้นพบที่เกิดขึ้นคือการค้นพบแหล่งโบราณคดีที่มีโครงกระดูกมนุษย์พร้อมของใช้และเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุ1000-3000ปี ซึ่งได้สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่นักโบราณคดีในสมัยนั้นเป็นอย่างมากเพราะว่ามันคือการค้นพบแหล่งประวัติศาสตร์ที่จะช่วยไขความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในยุค1000ปีที่แล้ว… นับแต่นั้นมาชื่อของ”โพหัก”ก็เริ่มเป็นที่คุ้นหูของใครอีกหลายๆคน  การค้นพบที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุ1000-3000ปีซึ่งในประเทศไทยการค้นพบแหล่งโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

       “โคกพลับ”คือจุดที่มีการค้นพบเกิดขึ้น  โคกพลับนี้อยู่ที่ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรีมีลักษณะเป็นเนินดินร้างที่อยู่ไกลจากชุมชน การค้นพบนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเนื่องจากมีการขุดคลองชลประทานส่งน้ำผ่านบริเวณโคกพลับ  ทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากฝังรวมอยู่กับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆลักษณะคล้ายมนุษย์โบราณก่อนประวัติศาสตร์ 

จึงได้มีการรายงานเรื่องนี้ไปยังกรมศิลปากร และทางกรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจอีก 2ครั้งในระหว่างปี2520-2522 ทำให้ได้พบหลักฐานที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีคุณค่าอย่างสูงต่อการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลองในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากขุดสำรวจขนาด4*4เมตรจำนวน2หลุมปรากฏว่าได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน48โครงฝังรวมกับสิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับจำนวนมาก

โครงกระดูกเหล่านี้ได้รับการฝังอย่างเป็นระเบียบ มีความประณีตตามลัทธิความเชื่อของชุมชน เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ฝังร่วมกับโครงกระดูกทุกโครง แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของบรรดาผู้คนในชุมชนยุคนั้นอย่างชัดเจน  หลักฐานเหล่านี้แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร  ที่โครงกระดูกมีร่องรอยของดินสีแดงที่ใช้โรยศพอยู่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายที่หูมีตุ้มหูสีเขียวคล้ายหยกประดับ  และอีกโครงกระดูกมีหม้อดินบรรจุอาหารและเปลือกหอยแครงวางอยู่ที่ข้างศีรษะ  โครงกระดูกเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหันศีรษะไปทางทิศเหนือ 

 อีกทั้งยังพบเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับหินสีต่างๆ เปลือกหอยทะเล เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่า “ ชุมชนโพหักเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ “ 

      การค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์และหวงแหนเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ ความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และเพื่อเป็นเกียรติแก่เหล่าบรรพชนทั้งหลาย  แต่ทำไมหลังการค้นพบ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้กลับไร้ค่าปัจจุบันนี้กลายเป็นเพียงผืนดินธรรมดาที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและจดจำ(ส่วนหนึ่งกลายเป็นที่ทิ้งขยะ)   อาจเป็นเพราะการค้นพบนั้นเกิดขึ้นเมื่อ30ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ห่วงเรื่องปากท้องมากว่าเรื่องรอบตัว  การค้นพบตอนนั้นจึงไม่ได้รับความสนใจหรือการตอบรับจากชาวบ้าน  ขนาดชาวบ้านบางคนในพื้นที่เองยังไม่ได้สนใจเลยว่ามีการขุดเจออะไรบ้าง  ชาวบ้านบางคนแม้บ้านอยู่ใกล้ๆกับโคกพลับเองก็ยังไม่เคยไปดูเลยว่าเค้าขุดอะไรกัน  จากการที่ชาวบ้านสมัยนั้นไม่มีกระแสตอบรับ ในเรื่องการค้นพบแหล่งโบราณคดีจึงทำให้โคกพลับขาดการอนุรักษ์เพื่อให้มาถึงอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ 

    จากบันทึกของอาจารย์ทองเพี้ยน คงแป้น ผู้อยู่ในเหตุการณ์การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนั้นเขียนเล่าในบางตอนว่า “สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ การที่นักโบราณคดีที่มาทำการขุดในครั้งนั้นได้เคยเสนอความคิดให้ชาวโพหักจัดให้โคกพลับเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แสดงถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่โคกพลับ  แต่ความคิดนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นกลับมีการทำลายโคกพลับให้หมดไปด้วยการขุดดินโคกพลับขายให้แก่บริษัทรับถมดิน เพื่อทำโคกพลับให้เป็นที่ราบลุ่มใช้สำหรับทำนาอีกด้วย ความคิดแคบๆเช่นนี้ใครเล่าจะแก้ได้ ”  สุดท้ายโคกพลับเลยมาไม่ถึงยุครุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเรา   สิ่งที่เหลืออยู่ก็เห็นจะเหลือเพียงตำนานการเล่าขานเท่านั้น…. แต่หากการค้นพบนั้นเกิดขึ้นในสมัยนี้ที่มีความพร้อมในแง่ต่างๆมากกว่า  อีกทั้งชาวบ้านก็ให้ความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์มากกว่าแต่ก่อน     รับรองโคกพลับจะได้รับการใส่ใจและดูแลมากกว่าที่เป็นและจะไม่ได้เหลือแต่ชื่ออย่างที่เป็นมาแน่นอน….อาจจะเรียกได้ว่าการค้นพบนั้นเกิดขึ้นผิดเวลา…

สภาพชีวิตของคนในชุมชนโบราณโคกพลับ 

       เจริญยาวนานมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี เพราะจากสภาพศพที่ฝังซ้อนกันอย่างหนาแน่น  ตลอดแนวความลึกประมาณ2เมตร มิใช่การประกอบพิธีฝังศพในคราวเดียว  แต่เป็นการฝังที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมานับศตวรรษ ศพทุกศพถูกฝังอย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของคนในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน  ศพถูกฝังในท่านอนหงายอย่างสบาย แขนวางแนบลำตัว ขาเหยียดยาว หน้าหงายมองฟ้า ศพฝังโดยไม่ใส่โลง  แต่หลุมที่ฝังนั้นขุดอย่างเรียบร้อยตามรูปร่างลำตัวคน มีการใส่สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และอาหารลงในหลุม 

จากสภาพศพที่ฝังไว้ทำให้เห็นว่าคนในชุมชนแห่งนี้มีฐานะความเป็นอยู่ต่างๆกัน  บางศพจะมีสิ่งของฝังรวมไว้จำนวนมาก แต่บางศพก็มีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย  สำหรับการเลือกสถานที่ฝังศพนั้นจะกระทำอย่างประณีต โดยเฉพาะที่โคกพลับจะพบโครงกระดูกฝังรวมกันอย่างหนาแน่น  ศพที่ฝังไว้ที่นี่จะถูกเนื้อดินรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ไม่มีการผุกร่อนหรือเปลื่อยยุ่ย 

แสดงว่าดินของที่นี่มีคุณสมบัติในการรักษาโครงกระดูกไว้ได้อย่างดี  ดินที่นี่มีลักษณะเป็นดินดำแข็ง ปนทรายละเอียดส่วนล่างสุดเป็นทรายล้วนๆ เนื้อทรายละเอียดสีขาว และสีเหลือง ซึ่งจะเรียกว่าทรายเงินและทรายทองก็คงไม่ผิด  คติการฝังศพในทรายนี้น่าจะเกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ริมทะเลซึ่งมีชายหาด  เนินดินที่โคกพลับมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหากแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ซึ่งสร้างขึ้นตามหลักความเชื่อของคนในชุมชน  เรียกได้ว่าโคกพลับคือสุสานของคนโบราณที่สร้างขึ้นด้วยความเฉลียวฉลาดของคนในสมัยนั้น และคงต้องใช้เวลาสร้างนานพอสมควร


       การศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของมนุษย์โบราณที่โคกพลับเป็นการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ที่จะได้รู้เรื่องราวความเป็นมาของปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษว่าสืบทอดต่อกันมาอย่างไร  มิได้ศึกษาเพื่อค้นหาของมีค่าไปขายเป็นประโยชน์เฉพาะตนแต่อย่างใด  หลายคนอาจมองว่าวัตถุโบราณที่โคกพลับเป็นของไม่มีค่า ขายไม่ได้ แต่ในทางการศึกษาถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล  

 หากท่านเคยเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ท่านจะได้เห็นภาพถ่ายขนาดใหญ่เป็นภาพโครงกระดูกมนุษย์นอนหงายเหยียดยาวอยู่ในหลุม บนศีรษะมีภาชนะดินเผาครอบอยู่คล้ายหมวก  แสดงรวมอยู่กับกลุ่มโบราณวัตถุบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี  ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จริงก็จะบอกว่าภาพนั้นคือโครงกระดูกที่บ้านเชียง  แต่คนโพหักจะรู้สึกภูมิใจอย่างเงียบๆว่าแท้จริงแล้วภาพนั้นคือโครงกระดูกที่ขุดพบที่โคกพลับ ตำบลโพหัก

  

สิ่งที่ขุดค้นพบจำแนกได้ดังนี้
 

1.กำไลหิน พบทั้งที่ทำจากหินสีเขียว และหินสีดำ มีลักษณะคล้ายจักร สันของวงกำไลเป็นสันคมขวานหรือมีดโดยรอบ  ทุกวงจะทำขึ้นอย่างปราณีตมันเรียบจนขึ้นเงา มีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ขนาดใหญ่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ8นิ้ว มีทั้งที่สวมอยู่ในข้อมือของศพและวางรวมไว้ในหลุม

2.ลูกปัดหินพบทั้งที่ทำจากหินสีเขียวและสีส้ม เนื้อหินเป็นสีเขี้ยวหนุมานหรือหยกอย่างอ่อน รูปร่างกลมแบนเจาะรูตรงกลางสำหรับใช้วัสดุประเภทเส้นใยร้อยเป็นพวงใช้คล้องคอ ส่วนใหญ่พบวางเรียงอยู่รอบๆคอศพคล้ายคล้องคอไว้แต่จำนวนลูกปัดในแต่ละพวงไม่เท่ากัน

3.ต่างหูหิน พบทั้งที่ทำจากหินสีเขียว สีส้ม และสีน้ำตาล เนื้อหินเป็นสีเขี้ยวหนุมานหรือหยกอย่างอ่อนเหมือนกับหินที่ใช้ทำลูกปัด  รูปร่างเป็นแผ่นแบนกลมบ้างรีบ้าง ตรงกลางเจาะรูกลมและมีร่องผ่าไปสู่ขอบด้านนอกเพื่อใช้สำหรับหนีบคาบติดไว้กับติ่งหู ส่วนใหญ่พบอยู่ด้านข้างของกะโหลกศีรษะ

4.หินบดยา เป็นแท่งหินสีเขียว กลมยาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5เซนติเมตร พบเพียงครึ่งท่อนปะปนอยู่ในกองกระดูกสัตว์นอกหลุมศพ

5.ขวานหิน เป็นแผ่นหินสีเทารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กกว้างประมาณ2นิ้ว ด้านที่เป็นคมมีลักษณะคล้ายคมมีดหรือคมขวานในปัจจุบัน ผิวขัดมันเรียบ พบเพียงชิ้นเดียว

 6.กำไลสำริดแบน  เป็นกำไลที่หล่อจากโลหะสำริด เลียนแบบกำไลหินสันของวงกำไลโดยรอบเป็นแผ่นเรียบ พบเพียงวงเดียว

7. กำไลสำริดกลม เป็นกำไลข้อมือหล่อด้วยสำริด เป็นเส้นกลมคล้ายเส้นลวดขนาดใหญ่ผิวเรียบ พบสวมไว้กับข้อมือศพข้างละ 2-3วง มากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่ของผู้ตาย

8.ปลอกแขนสำริด เป็นกำไลข้อมือรูปทรงกระบอก หล่อจากโลหะสำริดขนาดความยาวประมาณ6-7นิ้ว  ผิวภายนอกดุนเป็นตุ่มเล็กๆเพื่อความสวยงามบริเวณกึ่งกลางโดยรอบมีหนามเตยแหลมยื่นออกมาคล้ายพันเฟือง พบเพียง 3อัน บางอันสวมอยู่ที่ข้อมือศพ บางอันวางไว้ในหลุมศพ

9.ใบหอกสำริด  เป็นลักษณะของหอกใบข้าวหล่อจากโลหะสำริดมีป้องสำหรับไว้สวมกับด้าม  พบเพียงเล่มเดียวฝังรวมอยู่ในหลุมศพ

10.เบ็ดสำริด   เป็นเบ็ดตกปลาขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะสำริด  ตะกรุดขมวดเป็นปมสำหรับใช้เส้นใยผูก  ปลายมีเงี่ยง พบเพียงชิ้นเดียว พบในชั้นดินนอกหลุมศพ

11.แท่งสำริดคล้ายเขาสัตว์  เป็นแท่งสำริดกลมภายในกลวง  ปลายข้างหนึ่งสอบเข้าหากันปิดตันกลมมนคล้ายเขาสัตว์  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร  พบเพียง2 ชิ้นอยู่ในหลุมฝังศพ

12.หวีทำจากกระดูกสัตว์ (หรืองาช้าง)  เป็นกระดูกสัตว์หรือไม่ก็งาช้าง กว้างประมาณ 5 เวนติเมตร ยาวประมาณ7 เซนติเมตร รูปสี่เหลี่ยมปลายสอบเล็กน้อย มีลวดลายแกะสลัก  ด้านล่างผ่าเป็นซี่ๆเหมือนหวีในปัจจุบัน  พบเพียง2อันวางอยู่บนศีรษะศพ

13.กำไลข้อมือทำจากกระดูกสัตว์หรืองาช้าง  เป็นกำไลข้อมือลักษณะเดียวกับกำไลสำริดกลม  ทำจากกระดูกสัตว์หรือไม่ก็งาช้าง  สวมอยู่ในข้อนมือศพซ้อนกันข้างละหลายๆวง

14.กำไลข้อมือทำจากเปลือกหอย  เป็นกำไลข้อมือลักษณะเดียวกับกำไลสำริดกลม พบเพียง1ชิ้น

15.กำไลข้อมือรูปดาวเทียมทำจากเปลือกหอย  เป็นกำไลข้อมือแบบมีสัน เหมือนกำไลหิน แต่แทนที่สันของกำไลจะคมเหมือนใบมีดกลับมาทำหนามแหลมยื่นเป็นแฉกคล้ายดาว ทำจากเปลือกหอยมือเสือขนาดใหญ่

16.กำไลข้อมือรูปดาวทำจากกระดองเต่า  ลักษณะเดียวกับกำไลเปลือกหอยแต่ทำขึ้นจากกระดองเต่า

17.กำไลดินเผา  เป็นกำไลข้อมือชนิดมีสันเช่นเดียวกับกำไลหินและกำไลสำริดแบนแต่ทำจากดินเผาเนื้อค่อนข้างหยาบขนาดเล็ก

18.พานดินเผา  เป็นภาชนะรูปพานทำจากดินเผาฝีมือประณีต  เนื้อดินสีเทาวางอยู่บริเวณปลายเท้าและศีรษะของศพ เป็นศิลปะสมัยทาราวดี

19.หม้อดินเผา  เป็นภาชนะรูปหม้อส่วนใหญ่มีขนาดเล็กเนื้อดินเผาสีแดงผิวเรียบ ก้นมน ปากผายและคอหยัก ฝีมือการปั้นไม่ค่อยประณีต  ที่เป็นหม้อขนาดใหญ่พบเพียง 2ใบ รูปร่างคล้ายหม้อทะนนมีลายภายนอก เป็นลายก้านไม้ขีด เป็นศิลปะสมัยทาราวดี

20.จานดินเผา เป็นภาชนะรูปคล้ายจาน ทำด้วยดินเผาสีแดง พบเพียงชิ้นเดียว ที่ก้นเป็นขอบชักวงกลมตั้งได้ ลายภายนอกเป็นลายก้านไม้ขีด
21.ชามดินเผา  เป็นภาชนะดินเผารูปคล้ายชามที่ใช้กันในปัจจุบัน   ทำด้วยดินเผาสีแดง ภายนอกเป็นรอยนิ้วมือกด

22.ชามดินเผาก้นมน  เป็นภาชนะดินเผาคล้ายหม้อตาล ขอบปากตั้ง ก้นมน พบเพียงชิ้นเดียววางครอบอยู่ที่ศีรษะศพ

23.ถ้วยดินเผา  เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหนารูปร่างคล้ายกะลามะพร้าว ผิวเรียบ ปั้นขึ้นอย่างหยาบๆ เข้าใจว่าเป็นถ้วยใส่เครื่องเซ่นในหลุมฝังศพ

24.ฝาหม้อดินเผา เป็นภาชนะดินเผารูปร่าง ฝาละมี เหมือนฝาชีที่มียอดชักขอบเป็นวงกลมสูงให้สามารถจับถือได้

25.ลูกกระสุนดินเผา เป็นดินปั้นกลม ผิวเรียบ เผาสุกแกร่ง พบในระดับดินชั้นตื้นๆ

26.ภาชนะดินเผาทรงกระบอกลายเรขาคณิต  เป็นภาชนะดินเผาทรงกระบอกปลายสอบเข้าหากันเล็กน้อย ก้นมน ภายในกลวง มีรูกลมเจาะไว้ตรงกลาง ไม่ปิดตันเหมือนด้านก้น ผิวด้านนอกเขียนเป็นเส้นลายเราขาคณิตเป็นรอยลงบนเนื้อดินฝีมือการปั้นประณีต

27.รางดินเผา  เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีแดงเนื้อหนารูปร่างคล้ายรางดินปลายนอกบานออก  ก้นแคบปิดตัน

28.หินดุ  เป็นเครื่องปั้นดินเผาคล้ายดอกเห็ดผิวเรียบมีหลายขนาด

29.ดินเทศ  เป็นดินฝุ่นสีแดง พบกองอยู่บนหน้าอกศพบางศพ

30.เปลือกหอยและกระดูกสัตว์  เป็นวากเปลือกหอยทะเล เปลือกหอยน้ำจืด  ก้างปลาและกระดูกสัตว์ชนิดต่างๆฝังรวมอยู่ในหลุมฝังศพ พบเกือบทุกหลุม

    จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณบริเวณโคกพลับจะต้องเป็นชุมชนในสมัยเดียวกับ นครปฐมโบราณ อู่ทอง และคูบัวซึ่งเรียกกันว่า “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ “หรืออาจจะเก่ากว่านั้นอย่างแน่นอน  ในด้านการคมนาคมติดต่อกับชุมชนอื่นๆ พบว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปากอ่าวไทยทางด่านใต้เพียง20กิโลเมตรเศษเท่านั้น  พร้อมกับตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน มีร่องรอยของลำน้ำเก่าเชื่อมโยงติดต่อกับแหล่งชุมชนโบราณที่มีความเจริญได้ทุกแห่ง   การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า การติดต่อค้าขายระหว่างอินเดียและจีนทางทะเล ในระยะแรกๆนั้นได้ใช้วิธีการขนสินค้าผ่านเข้ามาจากชายฝั่งทะเลประเทศพม่า ผ่านเจดีย์สามองค์ ล่องลงมาตามลำน้ำแควน้อยและลำน้ำแม่กลองมาทำการขนถ่ายสินค้าลงเรือสำเภาจีนบริเวณปากอ่าวไทย ซึ่งเคยเข้าใจว่าน่าจะเป็นบริเวณเมืองนครปฐมและคูบัวนี้เอง ดังนั้นจึงเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าชุมชนโบราณบริเวณโคกพลับจะต้องมีอยู่แล้วก่อนที่เมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง และเมืองคูบัวเจริญรุ่งเรืองขึ้นในภายหลัง

     หลักฐานที่ค้นพบเหล่านี้ได้ถ่ายทอดบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคอดีตเมื่อ1000-3000ปีที่แล้ว  ให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันได้รับรู้และเรียนรู้  ถ้าเป็นไปได้แหล่งโบราณคดีโคกพลับควรมีการฟื้นฟูกลับคืนมาเพราะแหล่งโบราณคดีนี้มิใช่ประวัติศาสตร์เฉพาะของคนโพหัก  หากแต่นับว่าเป็นประวัติศาสตร์เผ่าพันธุ์ของคนไทยทั้งชาติ   และลูกหลานควรจะกล่าวขานว่า “โคกพลับเป็นแหล่งอารยธรรมประวัติศาสตร์1000ปี”  มิใช่ โคกพลับที่ทิ้งขยะดังเช่นทุกวันนี้………..

ขอขอบพระคุณข้อมูลจากหนังสือ อาจาริยานุสรณ์ ,

อาจารย์อภัย นาคคง,อาจารย์ทองเพี้ยน  คงแป้น