การสอนที่ดีนั้นมิใช่หมายเพียงแค่เทคนิคการสอน  แต่การสอนที่ดีจะต้องออกมาจาก อัตลักษณ์และจรรยาบรรณของความเป็นครู จากภายในจิตใจของผู้ที่รักในอาชีพครูและเสียสละได้เพื่อนักเรียนและโรงเรียน  สิ่งที่เราต้องการในตัวครู คือ  ความเป็นครูด้วยหัวใจ (A teacher at heart) ( Palmer, 1998)  ความเป็นครูด้วยหัวใจนั้นหมายถึง  การให้ความรักกับนักเรียน  รักที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  รวมถึง รักในชีวิตการสอนนักเรียน แม้ว่า ธรรมชาติของการเป็นครูจะไม่ต่างจากการทำงานในอาชีพอื่นๆ  ที่จะต้องพบกับทั้งความสุขความสมหวัง  และ ความผิดหวัง  ความรู้สึกหดหู่ใจ  คุณภาพการสอนของครูจะมาจากภายในจิตใจของครู  ดังนั้น  การรู้จักตนเองของครูจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่ปรารถนาเป็นครูที่ดีหลายต่อหลายครั้งที่ผมมีอารมณ์โกรธ  เนื่องจากนักเรียนไม่ได้ให้ความสนใจในบทเรียนและสิ่งที่ผมกำลังอธิบาย ผมก็คิดว่า “ เราจะเคี่ยวเข็ญให้เขาเรียนรู้ไปทำไม  ลูกหลานเราก็ไม่ใช่  ช่างหัวมันเถอะ  ปล่อยให้มันคุยไป เล่นไป ตามที่มันพอใจ  จะเข้าเรียนหรือไม่  จะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่  ก็ไม่ต้องไปสนใจ  ความคิดเช่นนี้ได้ทำลายหัวใจของความเป็นครูของผม ที่ผมตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่เริ่มเป็นครู  ผมต้องดึงเอาอารมณ์และความคิดที่ออกนอกเส้นทาง  ให้กลับเข้ามาใหม่  แล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง  คราวนี้สอนด้วยใจ  ผมพบว่า  ผมมีความสุขและรู้สึกได้ถึงความสำเร็จในการสอน  ความสำเร็จในการสอนนี้  สำหรับผม  ผมหมายถึง การที่เด็กๆ  ของผมพอใจและรักที่จะร่วมกิจกรรม  ครูหลายคนไม่สนใจที่จะสอนหรือพัฒนาการสอน  ไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเองและพัฒนาเด็ก Freire (1995)  ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจในหนังสือที่เขาเขียน  ว่า ครูที่ไม่สนใจการสอน ไม่สนใจที่จะพัฒนาเด็ก  ก็จะไม่ศึกษาและพัฒนาตน  แล้วคุณภาพการสอนก็จะต่ำ  หรือไม่เช่นนั้น  ก็จะสอนในความรู้เก่าๆ ที่ตนเองรู้อยู่เท่านั้น ไม่เคยคิดที่จะแสวงหาวิธีการ  หรือพัฒนารูปแบบการสอน ทำให้ไม่เกิดการประสานกับกระบวนการการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคที่มีความแตกต่างจากผู้สอน บุคคลดังกล่าวก็ไม่สมควรเรียกว่าตนเองเป็นครูครูควรที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ที่ครูเรียนเมื่อครั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายปีก่อนนั้น มันได้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปแล้ว Freire (2001) ได้ย้ำให้เห็นว่า  หากครูไม่ได้พัฒนาอย่างจริงจังแล้ว การเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น  และครูก็จะสอนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่จะสร้างเสริมพัฒนาการเด็กในทุกๆ ด้านได้ และไม่เทียบทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เด็กพบเจอภายนอกห้องเรียนได้เช่นกัน  ถ้ายังคงเป็นเช่นนี้อยู่  ในไม่ช้าโรงเรียนก็จะเป็นเพียงแค่  สถานที่เลี้ยงเด็ก  มากกว่าที่จะเป็นสถานที่ที่จะบ่มเพาะความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้กับเขาเหล่านั้น หรืออย่างดีขึ้นมาหน่อยตามที่ใครต่อใครมองกันก็คือ  โรงเรียนเป็นสถานที่  ที่เด็กได้เรียนรู้ และมีผู้ใหญ่เป็นผู้สอนสำหรับครูที่หวังจะเห็นความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียนแล้ว  ตัวครูถือเป็นบุคลากรหลักและสำคัญยิ่งของโรงเรียน ต้องพัฒนา เพราะความก้าวหน้าของครูมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับความก้าวหน้าของนักเรียน (Barth,1990) ในแง่ของการพัฒนาทักษะต่างๆ  รวมถึงการสร้างความมั่นใจในตนเอง  และพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนผมทำงานกับเด็กเล็ก  ระดับอนุบาล และประถมศึกษา ก็จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับคนในแวดวงที่มีความรู้และมีประสบการณ์โดยตรงกับเด็กในวัยนี้ รวมถึงผู้ปกครองทำให้ผมเห็นความรักและความห่วงใยที่ผู้ปกครองมีต่อลูกหลานของเขา ตลอดจนความต้องการที่จะให้ลูกหลานของตนเองพัฒนาไปให้สูงที่สุด  เท่าที่ความสามารถของเขาจะเป็นไปได้  สิ่งที่ผู้ปกครอง  ครู  และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง พยายามศึกษาและลงมือปฏิบัติก็คือ  รูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่จะพัฒนาเด็กไปสู่ขีดสูงสุด สอดคล้องกับตัวตนของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน

ทั้งพัฒนาการทางด้านร่างกายและสมองคำว่า “คนเก่ง” ตามความคิดของคนในวงการศึกษาไทยเรา คือ คนที่เรียนได้ดี ทำคะแนนได้สูง เข้าแข่งขันความสามารถทางวิชาการก็ได้รับรางวัล  เป็นที่เชิดหน้าชูตาของโรงเรียน  มีป้ายประกาศใหญ่โตให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับรู้  คนเก่งของครูบางคน จะต้องจดจำสิ่งที่ครูสอนให้ได้มากที่สุด  แล้วสามารถนำสิ่งที่จดจำนั้นมาตอบเมื่อครูถาม  หรือ การทำข้อสอบในโอกาสต่อมา Paolo Freire (1995)  ได้นิยามกระบวนการของกิจกรรมการศึกษาชนิดนี้ว่า “The Banking-Concept of Education” ซึ่งถือเป็นการพัฒนาสมองบางส่วนบางซีกของมนุษย์เท่านั้น  ทรัพยากรมนุษย์ควรได้รับการพัฒนาสมองให้มีศักยภาพมากกว่าการจดจำ (Remember) และการระลึกได้ (Recall) เท่านั้น  Freire เน้นถึงการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างครู  เด็ก  และสังคม  เด็กๆ  ควรมีโอกาสได้คิดวิเคราะห์  กำหนดแนวคิดและสร้างรูปแบบการเรียนรู้สำหรับตนเอง  โดยมุ่งพัฒนาสมองซีกขวาให้ทัดเทียมและประสานสัมพันธ์ด้วยดีกับสมองซีกซ้าย (Online: http://www.funderstanding.com) ให้เด็กแต่ละคนเจริญเติบโตและเรียนรู้โดยผ่านสถาณการณ์ในวิถีชีวิตของเขา  เนื้อหาวิชาควรได้รับการพัฒนาจากความจริงของโลกที่เด็กๆ  เหล่านั้นมีชีวิตอยู่  เขาควรได้เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว  สิ่งที่เขาได้เห็นและสัมผัส  การเรียนรู้ของเด็กๆ  มิใช่เพียงแค่การปรับตัวเองให้เข้ากับวิถีของโลกเท่านั้น  แต่เด็กๆ  ต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนโลกและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา  ให้ดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น  นั่นหมายความว่า  เด็กมิใช่เรียนเพียงแค่สิ่งที่มีอยู่และเป็นไปในโลกเท่านั้น  แต่ต้องเรียนที่จะคิดและสร้างสรรค์พัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นกับโลก  ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กต้องไม่ถูกปิดกั้น
จากปรัชญาแห่งการเรียนรู้ดังกล่าว  การเป็นครูจึงมิใช่เป็นเรื่องง่าย  ครูจะมองเพียงแค่  ตนจะได้อะไรจากความเป็นครู จะได้อะไรจากเด็ก จากผู้ปกครอง  เท่านั้น  คงไม่ใช่  แต่ครูต้องมองในทางกลับกันว่า ครูจะให้อะไรกับเด็ก  จะให้อะไรกับผู้ปกครองและชุมชน  หลายต่อหลายครั้งที่  สิ่งที่ครูทำวันนี้เพราะเป็นสิ่งที่ครูทำเมื่อวานนี้  หรือ เพราะครูคิดว่า  นี่คือสิ่งที่เขาได้รับการคาดหวังว่าจะต้องทำอย่างนี้  สำหรับผม และ นักการศึกษาอีกหลายๆ  คน  ก็คงเห็นด้วยกับผมที่ว่า
เมื่อใดที่ครูได้รู้จักสังเกต  ตั้งคำถาม  รู้จักที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริง สะท้อน
ความคิดและผลิตวิธีการใหม่ๆ  ซึ่งมีผลกับนักเรียน  นักเรียนก็จะเรียนรู้
ด้วยความมีชีวิตชีวา  เมื่อใดที่ครูหยุดการพัฒนาและหยุดแสวงหาวิธีการ
และแนวทางใหม่ๆ  ในการจัดการการเรียนรู้  เด็กๆ  ก็จะหยุดพัฒนาเช่นเดียวกัน
เด็กในปีนี้ก็ได้เรียนรู้เหมือนเด็กเมื่อปีที่แล้ว  และนานๆ  ไป  ก็จะไม่ต่างอะไรไปจากเมื่อ 5  หรือ  10  ปีที่แล้ว  ความก้าวหน้าของวิชาชีพครู  น่าจะหมายถึงความสามารถของครู  ในการสังเกตและวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นกับเด็ก ในการที่ได้ใช้พฤติกรรมการสอนและนวัตกรรมการสอนที่แตกต่างกัน  ประกอบกับการเรียนรู้ที่จะพัฒนาปรับปรุงการสอนอย่างต่อเนื่อง  โดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลจากตัวผู้เรียน  ครูต้องสามารถสร้างบทเรียนที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ครูท่านอื่นๆ  จัดให้กับเด็กในห้องเรียนเดียวกันด้วย
หัวใจของความเป็นครูอยู่ที่  “ความสุข”  ความสุขที่เกิดจากการที่นักเรียนของครู  ทำงานร่วมกับครูในการค้นหาความจริงที่ท้าทายและยังซ่อนเร้น  ซึ่งเส้นทางใหม่ของการค้นหาความลี้ลับนั้น  และเป็นเส้นทางที่ไม่มีใครค้นพบมาก่อน  เส้นทางที่ดูจะมืดมิด  แต่มันจะเป็นเส้นทางที่งดงามที่สุด  หากเป็นช่องทางสู่การค้นพบและเกิดการเรียนรู้อย่างใหญ่หลวงสำหรับเด็กและครู (Palmer, 1998) มันเป็นความสุขและกำลังใจ เพราะหลายครั้งที่ครูเกิดการท้อแท้  เสียใจ  หรือสับสน แล้วครูก็จะมองตนเองเป็นผู้ที่หมดหวัง  ไร้พลังในการที่จะต่อสู้หรือเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นร้อยแปด  และหลายครั้งที่ความคิดและจินตนาการของครูถูกปิดกั้น  ครูมีความรู้สึกว่าบุคคลหรือสิ่งต่างๆ  รอบข้างตัวครู  ดูเสมือนจะเป็นศัตรูกับครูไปหมด  ผมไม่อยากเห็นสภาพที่รอวันตายของวิชาชีพที่สร้างจิตวิญญาณให้กับคน  ผมทราบดีถึงพลังของครูในก้าวแรกของการเป็นครู  ก้าวแรกที่สอนนักเรียนในโรงเรียน  ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตื่นเต้น  ความตั้งใจ  ความสุขและความปรารถนาที่จะเป็นครูด้วยอุดมการณ์  ผมไม่อยากเห็นเพื่อนร่วมวิชาชีพต้องท้อแท้  การสอนและนักเรียนเป็นความสุขของครู  ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ของครูทุกคน  ครูต้องดึงพลังของครูให้กลับคืนมา  ปัญหาและอุปสรรคใดๆ  ก็ไม่สามารถมาทำลายสิ่งที่เรารักได้
ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา  เรามักจะลืมข้อเท็จจริงที่ว่า  การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง  จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน  ถ้าการปฏิรูปนั้น  เป็นเพียงแค่การปรับโครงสร้างในระบบการศึกษา  การปรับโครงสร้างโรงเรียน  การเขียนหลักสูตรใหม่  หรือ การปรับหนังสือแบบเรียนใหม่  แต่ยังคงบั่นทอนความรักในการสอนและการเรียนรู้ของครูอย่างต่อเนื่อง Palmer (1998) ได้สรุปเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไว้ว่า
ครูต้องได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่า ต้องมีอิสระในด้านความคิดและการใช้
วิจารณญาณในการสอน  การควบคุมตนเองในบทบาทของความเป็นครู
และการได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในด้านกระบวนการสอนและสื่อการสอน
แต่อย่างไรก็ตาม  ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานี้  ก็ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้
ถ้าหัวใจของครูไม่ได้รักในการสอนเพื่อการเรียนรู้ที่ด

ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา  เรามักจะลืมข้อเท็จจริงที่ว่า  การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง  จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน  ถ้าการปฏิรูปนั้น  เป็นเพียงแค่การปรับโครงสร้างในระบบการศึกษา  การปรับโครงสร้างโรงเรียน  การเขียนหลักสูตรใหม่  หรือ การปรับหนังสือแบบเรียนใหม่  แต่ยังคงบั่นทอนความรักในการสอนและการเรียนรู้ของครูอย่างต่อเนื่อง Palmer (1998) ได้สรุปเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาไว้ว่า

ผู้ที่มีอิทธิพลทางการศึกษาทุกวันนี้  มองการสอนและพัฒนาคน  เป็นเหมือนโรงงานผลิตสินค้า  ได้นำกฎเกณฑ์มาตรฐานในลักษณะของกระบวนการผลิตและผลผลิต  มาใช้วัดคุณภาพของครูในการพัฒนาคนที่มีชีวิตและจิตใจ  มุ่งเน้นการตรวจสอบตัวครู  การสอนของครู  การทำแผนการสอน  กำหนดตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบผลสัมฤทธิ์  และประเมินค่าของสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษ  กล่าวคือ  การพัฒนาที่มุ่งที่ “การสอน”  มากกว่ามุ่งที่  “การเรียนรู้”  ของผู้เรียน  เราควรเข้าใจว่า  ในเวลาที่เราชมการแสดง  ผู้จัดจะมองที่ความสุขและความพึงพอใจของผู้ชม  มากกว่าผลงานการแสดง  หนังที่ได้รับรางวัลออสการ์หลายเรื่อง  ที่ไม่ใช่เป็นหนังทำรายได้  สร้างดี  กำกับดี  ดารานักแสดงดี  บทบาทดี  แต่ไม่มีคนดู  ในการเรียนการสอนที่แท้จริง  ต้องคำนึงว่า เด็กได้เรียนรู้อะไร  เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร  มีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นบ้าง  ผมชื่นชมครูที่มีการพัฒนา และ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนตามความสนใจของผู้เรียน  มุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและสิ่งที่มีอยู่  มากกว่าที่จะเรียกร้องหาอุปกรณ์ที่มีราคาสูง

ในปี 2552  และ  2553 ผมได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครูในรายวิชาที่ผมสอน  จำนวนมากกว่า 300 คน ในเรื่องของความประทับใจที่มีต่อตัวครูของนักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนจบปริญญาตรี  นักศึกษาได้ให้คำตอบเกี่ยวกับครูที่เขาประทับใจและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเป็นครู  เป็น  2 ประเด็น ประเด็นแรก  ที่เด็กประทับใจและยังคงระลึกจดจำครูท่านนั้นได้  คือ เรื่องเทคนิควิธีการสอนแปลกใหม่ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้  จดจำได้นาน  สนุกสนาน และนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  ส่วนประเด็นที่ 2 คือ  ความเอื้ออาทรของครูที่มีต่อเด็ก  นอกเหนือจากการเรียนการสอน  เช่น การให้ความช่วยเหลือนักเรียนและครอบครัวในเรื่องส่วนตัว  การเข้าใจและให้กำลังใจเด็กที่เกิดการท้อแท้ และการมีสัมพันธภาพที่ดีกับทั้งเด็กและผู้ปกครอง  ประเด็นเหล่านี้  มีอิทธิพลอย่างมากต่อความต้องการและความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดีของบุคคลที่มีภูมิหลังทางการศึกษานอกเหนือวิชาชีพครู

ผมเองอดภาคภูมิใจแทนครูที่นักศึกษาเหล่านี้เอ่ยถึงไม่ได้  แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า  จะมีไหมหนอที่ลูกศิษย์ของเรา  ระลึกถึงเราในลักษณะเดียวกันแบบนี้บ้าง  การสอนความเป็นคนที่มีคุณค่ามีความรู้ให้กับศิษย์ของครู  อาจแปลงเป็นลายลักษณ์อักษรได้และถ่ายทอดไปยังเด็กๆ  หลายๆ  คนได้ในคราวเดียวกัน แล้วอาจไม่ได้รับการมองเห็นคุณค่าโดยทันที  แต่การกระทำที่เปี่ยมด้วยความเป็นครูที่บริสุทธิ์ต่อศิษย์  กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาจดจำในดวงใจเขาตลอดไป  ศักยภาพในการจำของสมองจะมีอายุในการจดจำสั้นกว่าศักยภาพในการจำของหัวใจ

ดังนั้น  เมื่อคุณคิดว่าคุณมีความพร้อมทั้งความรู้ความสามารถ  ความรักในวิชาชีพ  ความรักและความเมตตานักเรียน  พร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในขณะเดียวกันกับการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าไว้  คุณก็จะเป็นครูที่ดีได้

โดย : ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน

รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต