อุปสรรคที่ขวางกั้นการทำหน้าที่ของครู

สาเหตุที่ทำให้ครูไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสถานภาพของความเป็นครู และทำหน้าที่ของครู ได้อย่าง สมบูรณ์ พอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
๑. ครูถูกใช้ให้ทำหน้าที่อื่น หรือมอบหมายงานอื่นซึ่งมิใช่หน้าที่โดยตรงให้ครูทำมากเกินไป
เป็นสิ่งที่ ดิฉันอยากจะเรียกร้อง ถ้าเราอยากจะได้ครูผู้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์กลับคืนมา ก็ควรจะให้ครู ได้มีเวลาอย่างเพียงพอ อย่าให้กิจกรรมพิเศษต่างๆ ทั้งงานจากสำนักงาน กรม กระทรวง งานท้องถิ่น งานการเมือง มาดึงเวลาของครูไป
๒. ครูเลิกบูชาอุดมคติของความเป็นครู
เพราะเห็นว่าอาชีพครูด้อยกว่าอาชีพอื่น มีค่าตอบแทนหรือเกียรติยศน้อยกว่า
๓. ครูยอมให้ใจตกเป็นทาสของวัตถุ
เดี๋ยวนี้อำนาจวัตถุนิยมมาแรงมาก ครูกลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะทนความเย้ายวน ของวัตถุ ไม่ไหว
๔. ครูไหลไปตามกระแสค่านิยมของสังคม
ครูจำนวนมากเห็นดีเห็นงามตามค่านิยม สมัยใหม่ ที่วัดความมีหน้ามีตากันที่ทรัพย์สิน เงินทอง ครูจึงต้อง ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้ด้วยอาชีพเสริมอื่นๆ จนละเลย ย่อหย่อนต่อการทำหน้าที่ โดยตรง ของตน
๕. ครูถูกอบายมุขครอบงำ
ผู้มีจิตใจอ่อนแอย่อมมอบตัวในทางผิด บังคับตัวเองไม่ได้ หรือคิดรวยทางลัด โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี ของความเป็นครู
๖. ครูขาดสัปปุริสธรรม
สัปปุริสธรรม คือ ธรรมะของผู้รอบรู้ ผู้เป็นบัณฑิต มี ๗ ประการ คือ
๑) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ จะทำอะไรต้องรู้จักดูว่า มีเหตุอย่างไรจึงต้องทำ ควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร
๒) ความเป็นผู้รู้จักผล เป็นการสอบทานว่า เมื่อมีเหตุให้ทำอย่างนั้น ทำแล้วผลจะเป็นอย่างไร ยังจะควรทำหรือไม่ ใคร่ครวญดูด้วยความรู้ สติปัญญา ประสบการณ์ ให้รอบคอบถี่ถ้วน
๓) ความเป็นผู้รู้จักตน เรามีความพร้อมที่จะทำแล้วหรือยัง ความพร้อมภายนอก เช่น กำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ อุปกรณ์ เวลา ความพร้อมภายใน เช่น ฉันทะ ความรักและพอใจที่จะทำ ศรัทธามั่นคง เพียงพอไหม ความมานะอดทน เข้มแข็ง บากบั่น
๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ จะทำขนาดไหน ถึงจะพอดีพอเหมาะ ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ไม่ทุ่มเทจนเกิดความเสียหาย เช่นสูญเสียทรัพย์ เจ็บป่วย หรือ ไม่มีเวลาทำการงานอย่างอื่น
๕) ความเป็นผู้รู้จักกาล รู้จักเวลาอันสมควรที่จะประกอบกิจการนั้น ดูว่ามีจังหวะพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าโอกาสยังไม่เหมาะ ก็ควรเตรียมทุกอย่างรอไว้ก่อน
๖) ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน ต้องรู้จักชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ศึกษาถึงภูมิหลังของชุมชนนั้นว่า มีทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ ความชอบไม่ชอบอย่างไร เมื่อมีปัญหาเขาแก้ปัญหากันยังไง เพื่อจะได้ รู้ทางหนีทีไล่ ไม่บุ่มบ่าม
๗) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล ดูเจาะจงลงไปที่บุคคลซึ่งเราเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะเดียวกับ การดูประชุมชน เพื่อจะได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ผู้ประกอบการใดใคร่ครวญในสัปปุริสธรรมอยู่เสมอ ย่อมประกอบเหตุได้อย่างถูกต้อง เป็นผู้รู้ ความควร ไม่ควร ผลก็ย่อมถูกต้อง ครูก็เช่นกัน จะสามารถทำหน้าที่ครูได้อย่างสมบูรณ์สมความตั้งใจ