การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)

ความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

ในการศึกษาความหมายของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง การเรียน             การสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาเป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนมีการตัดสินใจที่ดีมีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ และมีการเรียนรู้อย่าง ต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถก้าวทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลก วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการเรียนรู้ (Duch, Groh, & Allen, 2001).
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) หมายถึง วิธีการเรียนรู้     บนหลักการของการใช้ปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เดิม ให้ผสมผสานกับข้อมูลใหม่ แล้วประมวลเป็นกับความรู้ใหม่ (Barrows, 1982)
การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning) เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เป็น         ผลจากการแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่ผู้เรียนทำการสืบค้นเอง (Neufeld & Barrow, 1974; Schmidt, 1993; Barrows, 2000 อ้างถึงใน นภา หลิมรัตน์, 2546)

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นตัวสาระความรู้ และมุ่งเน้นที่ตัวผู้สอนเป็นสำคัญ แต่จะมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียน โดยถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง หรือผู้เรียนเป็นบุคคลสำคัญ โดยมุ่งที่การใช้ปัญหาจริงหรือการจำลองสถานการณ์เป็นตัวเริ่มต้น (Trigger) กระตุ้นการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิจารณญาณใน            ตัวผู้เรียน นำประเด็นจากปัญหาไปสู่การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อเรียนรู้เพิ่มขึ้น และสร้างความเข้าใจกลไกของตัวปัญหา รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งตามความหมายดังกล่าว การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนที่มีลักษณะต่อไปนี้ (Barrow & Tamblyn, 1980)

  1. ผนวกปัญหาเข้าไปในการบรรยายสาระแบบดั้งเดิม เพื่อจุดประสงค์ของการแสดงตัวอย่าง
  2. การใช้กรณีศึกษาเพื่อช่วยให้เกิดการอภิปรายในการบรรยายแบบดั้งเดิม
  3. การใช้ปัญหาหรือกรณี เพื่อเป็นเครื่องมือในการค้นหาปัญหา หรือประเมินผล

โดยสรุป การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ปัญหาหรือการจำลองสถานการณ์เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ความเป็นมาของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน                แบบหนึ่งที่เริ่มต้นใช้ในครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. 1969 ที่โรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University Medical School) ประเทศแคนาดา (อานุภาพ เลขะกุล, นภา หลิมรัตน์, วัลลี สัตยาสัย และ มาโนช โชคแจ่มใส, ม.ป.ป.) โดยคาดหวังให้ผู้เรียนมีบทบาทที่กระตือรือร้นต่อการเรียน ตลอดจนการบวนการเรียนการสอน ทำให้ลดภาวะเครียดจากการเรียนของผู้เรียน (Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 47) และในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ได้เผยแพร่แนวคิดนี้ไปยังนานาประเทศทั่วโลก จนกระทั่งได้มีการกล่าวถึงอย่างมาก และมีการนำมาใช้มากขึ้นในสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และ ออสเตรเลีย และในปัจจุบันมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545; Basanti Majumdar และ พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2544: 42, 48) โดยในต่างประเทศ ได้มีการนำรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  มาใช้ในระบบการศึกษาเป็น ทั้งในคณะแพทยศาสตร์  (Donner & Bickley, 1993; Boudie & Smits, 2002).     พยาบาลศาสตร์ (Baker, 2000; Haith-Cooper, 2000; Cooke & Moyle, 2002)  เภสัชศาสตร์ (Fisher, 1994; Pungente, 2002; Cisneros, 2002).   และทันตแพทยศาสตร์ (Doran, 2000)   ซึ่งปัจจุบันวิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเริ่มแพร่หลายออกไปในหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย สถาปัตยกรรม งานด้านสังคม ตลอดจนงานบริหารการศึกษา (Boud Felletti, 1998; Bridges & Hallinger, 1995; Clarke et al1998 อ้างใน สมวงษ์ แปลงประสพโชค, 2546) และในต้นปี 1990 จึงได้เริ่มนำการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ทิพาพร ตันฆศิริ, ม.ป.ป.).   นอกจากนี้สุปรียา วงษ์ตระหง่าน (2536 อ้างใน พัชรากราณต์ อินทะนาค, 2546, หน้า 20-21) ยังได้กล่าวว่า เหตุผลที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ได้แก่ 1) เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิชาการมีมากขึ้น เนื้อหาวิชาการที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้มีมากเพิ่มขึ้น ในทุกสาขา ทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารการจัดการเรียนการสอน เพราะระยะเวลามีจำกัด จึงต้องมีการเลือกเนื้อหาเฉพาะที่คิดว่าจำเป็นต่อผู้เรียนมากที่สุด 2) เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะต้องเผชิญกับปัญหาที่แท้จริง การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักจะเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เมื่อเผชิญกับปัญหาจริงได้ และ 3) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เลือกสิ่งที่ตนสนใจ อยากรู้อยากเห็นด้วยตนเอง

แนวคิดของการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนแบบ “การเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning)”  ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ภายใต้ความเชื่อว่า ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดในบรรยากาศของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นบนข้อตกลงร่วมกันและการร่วมมือกัน (Cooperation) มากกว่าการแข่งขันกัน กล่าวคือการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเทคนิคที่ใช้ในห้องเรียนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแนวทางที่จะทำงานกับผู้อื่นด้วยการเคารพในความสามารถและมีการสรรค์สร้าง (Contributions) ของสมาชิกในกลุ่ม  มีการแบ่งปันอำนาจ และความรับผิดชอบระหว่างสมาชิกกลุ่ม โดยมีจุดมุ่งหมายให้นักศึกษามีความสามารถดังนี้ 1) เข้าร่วมในการหาความรู้อย่างแข็งขันและอย่างมีความสร้างสรรค์กับงานหรือปัญหาที่มีความท้าทายและมีความซับซ้อน 2) ใช้เหตุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจนและมีความสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความรู้ที่เป็นองค์รวมและใช้ประโยชน์ได้จริง 3) ติดตามและประเมินความพร้อมของตนเองในการที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ  4) บอกได้ถึงความรู้และทักษะของตนที่ต้องได้รับการพัฒนา และ 5) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้งานสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย (Duch, Groh, & Allen, 2001)
การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นทั้งวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน  ในด้านการพัฒนาหลักสูตร เป็นวิธีการจัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาที่เป็นจริงในการปฏิบัติของวิชาชีพนั้นเป็นตัวแกน ส่วนวิธีการสอนเป็นการใช้ปัญหาเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่การแสวงหาความรู้และทักษะด้วยตนเอง โดยผ่านขั้นตอนการแก้ปัญหาที่จัดไว้ให้ และอาศัยทรัพยากรการเรียนรู้และการอำนวยความสะดวกจากผู้สอน  อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่ผสมผสานเนื้อหาวิชา  วิธีการเรียนการสอนและวิธีการประเมินผลโดยเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  มีหลักสำคัญในการจัดให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้กลไก 3 ประการคือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)    การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning) และการเรียนรู้ในกลุ่มย่อย (Small Group Learning) (โครงการปฏิรูปการเรียนรู้, 2545) ดังมีรายละเอียดดังนี้

1. การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning)

การใช้ปัญหามาเป็นอันดับหนึ่ง (Problem Comes First) ผู้เรียนจะได้รับโจทย์ปัญหา (Case/Scenario)จากนั้นจะตั้งคำถามหรือปัญหา (Problems) จากโจทย์ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนไปสืบค้นข้อมูลความรู้มาเพื่อตอบคำถามหรือเพื่ออธิบายปัญหานั้น ๆ ปัญหาหรือคำถามจากโจทย์คือปรากฏการณ์ใดๆ ที่ผู้เรียนไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งนี้จะไม่มีการปูพื้นผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นการสอนโดยการบรรยาย หรือ วิธีอื่นใดเกี่ยวกับข้อมูลความรู้ที่ต้องการเพื่อนำมาอธิบายปัญหาหรือคำถามในโจทย์ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักนี้ ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องที่กำลังจะศึกษาน้อย หรือไม่มีเลย แต่เมื่อผ่านกระบวนการการเรียนการสอนนี้แล้ว ผู้เรียนจะได้ความรู้เหล่านั้นจากการสืบค้นเอง และ การอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน โดยมีครูคอยให้การสนับสนุน (Facilitate) การเรียน (นภา หลิมรัตน์, 2546)

2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning)

การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning: SDL) ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักนี้ อาศัยกระบวนการแก้ปัญหาเพื่อเรียนรู้โดยตัวผู้เรียนเอง ซึ่ง ศาสตราจารย์ นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมณ์ ได้ให้ความหมายว่า “การเรียนรู้โดยการกำกับตนเอง”  โดยจะต้องมีเวลาสำหรับให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เวลาดังกล่าวจะต้องปรากฏในตารางสอนอย่างชัดเจนทั้งนี้เพื่อเป็นการประกัน (Guaranteed) ว่าได้มีการจัดสรรเวลาให้ผู้เรียนสำหรับการศึกษาด้วยตนเองอย่างแท้จริง ทั้งนี้ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง หมายถึงการที่ผู้เรียนมีความสามารถดังนี้  1) กำหนด ความต้องการในการเรียนรู้ของตนเองว่า ยังขาดความรู้อะไรบ้าง ที่ต้องการในการตอบปัญหาหรือโจทย์ที่กำหนดมาให้  2) รู้และระบุแหล่งที่จะสืบค้นข้อมูลนั้น ๆ ได้  3) กำหนดวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองและลงมือศึกษาที่จะศึกษาได้ และ 4) ประเมินผลการเรียนรู้ของตนเองได้
วิธีการของการเรียนรู้ด้วยตนเองจะประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้ (มาลินี ธนารุณ, 2550)
2.1ครูสร้างโจทย์ปัญหาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างวัตถุประสงค์การเรียนรู้ระหว่างการอภิปรายในกระบวนการกลุ่ม
2.2 ตั้งประธาน และเลขากลุ่ม โดยมีครูเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลืออยู่ประจำกลุ่ม
2.3 ผู้เรียนช่วยกันทำความเข้าใจกับคำศัพท์ของโจทย์ (Clerify Term and Concept)
2.4 ผู้เรียนช่วยกันระบุปัญหาของสถานการณ์นั้น (Define the Problem)
2.5 ผู้เรียนช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา (Analyse the Problem)
2.6 ผู้เรียนช่วยกันตั้งสมมุติฐานและจัดลำดับความสำคัญ (Formulate Hypothesis)
2.7 ผู้เรียนช่วยกันสร้างวัตถุประสงค์การเรียนรู้ (Formulate Learning Objective)
2.8 ผู้เรียนต่างคนไปรวบรวมข้อมูลนอกกลุ่ม (Collect Additional Information Outside the Group)
2.9 ผู้เรียนกลับเข้ากลุ่มเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาใหม่  และสรุปหลักการเป็นแนวทางในการนำไปใช้
2.10 เมื่อเสร็จสิ้นการแก้ปัญหา กลุ่มควรมีการประเมินตนเอง รวมทั้งให้เพื่อนๆ ประเมินตนในประเด็นต่อไปนี้ 1) ทักษะการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา 2) ความรู้ที่ได้จากโจทย์ปัญหาที่เรียน 3) ทักษะในการเรียนรู้โดยการกำกับตนเอง และ 4) ความร่วมมือและสนับสนุนในกระบวนการกลุ่ม

3. การเรียนรู้ในกลุ่มย่อย (Small Group Learning)

การเรียนรู้โดยการอภิปรายในกลุ่มย่อย (Small Group Session/Tutorial Session) ผู้เรียนจะเรียนรู้โดยการอภิปรายถกเถียงในกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นโอกาสในการทำให้เกิดการขยายความให้กระจ่างชัด (Elaboration) ในเนื้อหาที่ได้ศึกษา พร้อมได้มีโอกาสเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในกลุ่มและ ได้ฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาน (Critical Thinking) เนื่องจากต้องอธิบายค่า ตอบให้กับเพื่อนในกลุ่มอย่างชัดเจนตามความคิดเห็นที่ตนได้เสนอไว้ และเป็นโอกาสที่ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสื่อสาร ทั้งในฐานะผู้พูดหรือถ่ายทอดข้อมูล (Transmit Message) และในฐานะผู้ฟัง (Receive Message)ฝึกการทำงานเป็นทีมมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในกลุ่มเช่นประธานเลขาคนเขียนกระดานและสมาชิกในกลุ่มมีบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในกลุ่มย่อยโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสในการทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้ตามส่งผลให้สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทที่เปลี่ยนไปของครูในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

เนื้อหาความรู้ หรือ วัตถุประสงค์การศึกษาในรายวิชาใด ๆ ในการเรียนการสอนแบบเดิม ที่ประกอบด้วยการสอนแบบบรรยาย การฝึกปฏิบัติการ การฝึกภาคสนาม จะถูกกำหนดโดยครูผู้สอน โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน และไม่ให้ความสำคัญว่า “ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้แล้วหรือไม่อย่างไร” มักให้ความสำคัญถึงบทบาทหน้าที่ของครูว่า “ได้สอนแล้ว” ซึ่งเป็นการเน้นครูเป็นสำคัญ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นสำคัญ (Teacher-centered)ไม่ก่อให้เกิดผลดีกับผู้เรียนมากนัก ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในด้านการศึกษาจาก เน้นครูเป็นสำคัญ (Teacher-centered Pedagogy) เป็นเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student-centered Andragogy) ทั้งนี้บทบาทของครูในบริบทใหม่นี้ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเช่นกัน โดยสรุปบทบาทของครูเปลี่ยนจากผู้ให้ข้อมูลหรือความรู้ (Information Provider/Instructor of Knowledge) มาเป็น “พี่เลี้ยง” ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ (Learning Facilitator)โดยไม่ได้ให้ข้อมูลโดยตรงแต่ช่วยชี้แนะทางอ้อมที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าสามารถเรียนรู้ได้ด้วย “ตนเอง” จริง ๆ เมื่อการเรียนรู้นั้นสัมฤทธิ์ผล  การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีทั้งข้อดี ข้อเสียเช่นเดียวกับรูปแบบอื่นๆ ถึงจะนำไปใช้ผู้สอนต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและปัจจัยร่วมทั้งสภาวะที่เกี่ยวข้อง (นภา หลิมรัตน์, 2546)

ปัจจัยทีกำหนดคุณภาพของการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

 

คุณภาพของการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ (นภา  หลิมรัตน์, 2546)
1. คุณภาพของโจทย์ปัญหา (Case/Scenario) ต้องชัดเจนและกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
2. การทำงานในกลุ่มย่อย ผู้เรียนต้องรู้หน้าที่และเป้าหมายในการทำกลุ่มย่อย
3. บทบาทของครูในกลุ่มย่อย (Tutor/Facilitator) ครูต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไป
4. สื่อ หนังสือ หรือทรัพยากรการเรียนรู้อื่น ๆ ให้มีมากพอต่อการค้นคว้าของผู้เรียน

หลักการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

การเรียนโดยใช้ปัญหาหรือสถานการณ์เป็นฐาน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน รวมถึงทักษะการสืบค้นข้อมูล การสรุปข้อมูล โดยในขั้นเริ่มต้นผู้สอนควรกำหนดปัญหาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมกับวัยและความรู้พื้นฐานของผู้เรียน  และเมื่อผู้เรียนผ่านกระบวนการแก้ปัญหาในขั้นต้นได้แล้ว สถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ จะเพิ่มระดับความยากและซับซ้อนขึ้น อย่างไรก็ตามหากจัดกิจกรรมโดยให้มีการทำกิจกรรมกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มศักยภาพของการเรียนรู้ได้มากขึ้น ทั้งนี้การเรียนเป็นกลุ่มในลักษณะร่วมมือกันเรียนรู้ย่อมทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกัน และแบ่งปันความคิดเห็น
การจัดสภาพแวดล้อมโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ นั้นย่อมทำได้ง่าย ซึ่งผู้สอนต้องคัดสรร แหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำหนด เพื่อผู้เรียนจะได้เข้าถึงแหล่งนั้นได้ง่าย และเกิดความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น
การเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก  เป็นวิธีการเรียนการสอนที่ใช้ “ปัญหา” เป็นตัวกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความรู้สึกอยากรู้  และต้องการแสวงหาความรู้มาแก้ปัญหา โดยนักศึกษาจะมีการฝึกทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม  มีการคิด วิเคราะห์ปัญหา หาเหตุผลมาเชื่อมโยงความคิด  เพื่อหาข้อมูลมาพิสูจน์สมมติฐานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น
ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนจะใช้ปัญหาที่เป็นสถานการณ์ที่จัดทำขึ้นหรือเรียกว่า “โจทย์ปัญหา (Scenario)” เป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์  ในการเรียนจะจัดนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย ประมาณ 8-10 คน  เริ่มต้นจากการเปิดประเด็น “โจทย์ปัญหา”  โดยให้นักศึกษาในแต่ละกลุ่มย่อยทำความเข้าใจกับศัพท์บางคำของสถานการณ์นั้น  ระบุและวิเคราะห์ข้อมูลหรือประเด็นปัญหา ตั้งสมมติฐาน ทดสอบและจัดลำดับความสำคัญ กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หลังจากนั้นนักศึกษาจะมีการวางแผนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จากนั้นจึงนำความรู้ที่ได้มาเข้ากลุ่มและร่วมอภิปราย เพื่อแก้ปัญหาใน “โจทย์ปัญหา” ดังกล่าว  ทั้งนี้ในทุกระยะของการเรียนรู้ ผู้สอนจะเป็นเพียงผู้ชี้แนะสนับสนุน (Facilitator) ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุดตามศักยภาพ โดยอาศัยเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการคือ 1) การกระตุ้นความรู้เดิม โดยผู้สอนจะต้องกระตุ้นให้นักศึกษานำความรู้เดิมออกมาใช้ให้มากที่สุด   เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ความรู้ใหม่  2) เสริมความรู้ใหม่ที่เฉพาะเจาะจง โดยการส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้เดิมมาเป็นฐานในการเรียนความรู้ใหม่    ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจข้อมูลที่เป็นความรู้ใหม่ได้ดีขึ้น 3) ต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์  โดยกระตุ้นให้นักศึกษามีกิจกรรมที่ช่วยต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์ เช่น การตอบคำถาม การจดบันทึก การอภิปรายถกเถียงร่วมกับผู้อื่น การรายงานหน้าชั้นหรือต่อหน้าที่ประชุมและการสรุป เป็นต้น  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์   กล่าวคือผู้สอนจะทำหน้าที่เพียงการจัดกระบวนการและเกื้อหนุนกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษา ด้วยการใช้ปัญหาเป็นแนวทางให้กลุ่มนักศึกษาได้เสาะแสวงหาคำตอบหรือความรู้เพิ่มเติม การใช้ความรู้ของผู้สอนเป็นเพียงเครื่องมือในการกระตุ้นให้นักศึกษาคิดและตั้งคำถาม ไม่ใช่เป็นการใช้ความรู้เพื่อเป็นคำตอบที่ถูกต้องให้แก่นักศึกษา

ขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

ขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ประกอบด้วย 9 ขั้นตอน (Schmidt, 1993; ทิพาพร ตันฆศิริ, ม.ป.ป.) คือ
ขั้นตอนที่ 1 อ่านสถานการณ์โดยละเอียดทำความเข้าใจกับคำ และความหมายของคำในสถานการณ์ โดยอาศัยความรู้พื้นฐานของสมาชิกภายในกลุ่ม หรือเอกสาร ตำรา
ขั้นตอนที่ 2 นิยามปัญหา หรือระบุสถานการณ์ โดยแสวงหาความคิดเห็นแบบระดมสมองอย่างมีเหตุผล และวิจารณญาณ
ขั้นตอนที่ 3 วิเคราะห์ปัญหา หรือสถานการณ์ โดยแสวงหาความคิดเห็นแบบระดมสมองอย่างมีเหตุผล และวิจารณญาณ
ขั้นตอนที่ 4  ตั้งสมมติฐาน โดยพยายามตั้งสมมติฐานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ขั้นตอนที่ 5  จัดลำดับความสำคัญของสมมติฐาน พิจารณาข้อยุติสำหรับสมมติฐานที่ปฏิเสธได้
ขั้นตอนที่ 6 กำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้จากสมมติฐาน ที่ได้เลือกไว้พิจารณาว่าต้องหาความรู้เรื่องอะไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 7 ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากภายนอกกลุ่ม เช่น เอกสาร ตำรา ผู้เชี่ยวชาญ
ขั้นตอนที่ 8 สังเคราะห์ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากภายนอกกลุ่ม เช่น เอกสาร ตำรา ผู้เชี่ยวชาญ
ขั้นตอนที่ 9 สรุปการเรียนรู้หลักการและแนวคิดจากการแก้ปัญหาโดยนำความรู้มาเสนอต่อสมาชิก

ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก

ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ประกอบด้วยวิธีการเป็นขั้นตอน ดังนี้ (อานุภาพ เลขะกุล, นภา หล่มรัตน์, วัลลี สัตยาสัย และ มาโนช โชคแจ่มใส, ม.ป.ป.; สมวงษ์ แปลงประสพโชค, 2546)
1. ขั้นตอนแรก: ขั้นเปิดปัญหา ประกอบด้วยขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 6 ของขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ดังที่กล่าวมาแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นการเรียนกลุ่มย่อยครั้งแรก ผู้เรียนได้รับโจทย์ปัญหา/สถานการณ์ จากนั้นผู้เรียนในกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์แยกแยะปัญหา แยกปัญหาออกเป็นประเด็นต่าง ๆ แล้วนำแต่ละปัญหามาพิจารณาว่ามีต้นเหตุความเป็นมาอย่างไร และควรแก้ไขอย่างไร  ตั้งสมมติฐาน กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน ในระยะนี้ครูควรดูแลชี้แนะให้ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์หลักสูตร
2. ขั้นตอนที่สอง: ขั้นศึกษาด้วยตนเอง ประกอบด้วยขั้นที่ 7 และ 8 ของขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการศึกษาด้วยตนเองของผู้เรียน โดยผู้เรียนแยกย้ายไปค้นคว้าตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ร่วมกันกำหนดจากขั้นตอนแรก โดยทุกคนจะต้องค้นคว้าทุกวัตถุประสงค์ เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจึงกลับมารวมกลุ่มอีกครั้ง
3. ขั้นตอนที่สาม: ขั้นปิดปัญหา ประกอบด้วยขั้นที่ 9 ของขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นการเรียนกลุ่มย่อยครั้งที่สองผู้เรียนทุกคนจะร่วมกันอภิปรายถึงหัวข้อ ความรู้ที่ได้ไปค้นคว้ามาว่าตรงประเด็นการแก้ปัญหาหรือไม่  สามารถเข้าใจปัญหาเพิ่มขึ้นได้หรือไม่  พร้อมทั้งสรุปเป็นความรู้ทั่วไป ผู้สอนมีหน้าที่ชี้แนะหากนักเรียนมีข้อมูลไม่ครบ หรือ ไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้สรุปให้นักเรียน

ข้อดีและข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก มีหลายประการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ (นภา หลิมรัตน์, 2546)
1. สนับสนุนให้มีการเรียนรู้อย่างลุ่มลึก (Deep Approach) ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเรียนอย่างเข้าใจและสามารถจดจำได้นานเกิดเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง
2. สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่ทุกคนควรมี เพราะสามารถพัฒนาไปเป็นผู้ที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learner)
3. โจทย์ปัญหาที่ใช้ในการเรียนรู้ จะส่งผลให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียนกับการปฏิบัติงานในอนาคต ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้สามารถจดจำได้ดีขึ้น
4. ทั้งครูและผู้เรียนสนุกกับการเรียน ในส่วนผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนเพราะได้มีบทบาทในการเรียนรู้เอง (Play Active Part) เช่นการอภิปรายถกเถียงในระหว่างการทำกลุ่มย่อย ฝ่ายครูเห็นพัฒนาการทางด้านความคิดและทักษะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน นอกจากนี้ครู  ยังได้มีโอกาสเรียนรู้ข้ามสาขาที่ตนชำนาญ เนื่องจากโจทย์เป็นแบบบูรณาการ โดยเรียนรู้ไปกับผู้เรียน สามารถเห็นความเชื่อมโยงของศาสตร์ต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความคิดกว้างไกล
5. ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานเป็นทีม ซึ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าการทำงานเดี่ยว
6. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีโอกาสฝึกทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การหาข้อสรุปเมื่อมีความขัดแย้งเป็นต้น

ข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

ข้อเสียของการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ (นภา หลิมรัตน์, 2546)
1. ผู้เรียนอาจไม่มั่นใจในความรู้ที่ตนค้นคว้ามา เพราะไม่สามารถกำหนดวัตถุประสงค์อาจมีผลกระทบในทางลบเกี่ยวกับการเรียนได้
2. ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ทั้งฝ่ายผู้เรียนและผู้สอน ฝ่ายผู้เรียน เนื่องจากต้องค้นคว้าและศึกษาด้วยตนเองจึงต้องการเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับการเรียนโดยการฟังบรรยาย ฝ่ายผู้สอนจะต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในช่วงเตรียมการ ช่วงทำหน้าที่เป็นครูในกลุ่มย่อย (Tutor) เป็นต้น
3. เนื้อหาในส่วน วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Sciences) ถูกตัดทอนลง ข้อความดังกล่าวเป็นความจริงแต่สิ่งที่ถูกตัดทอนออกไปอาจไม่มีความจำเป็นในการเรียนการสอนในสาขาวิชาแพทยศาสตร์หรืออาจไม่จำเป็นในการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ดังนั้นเนื้อหาที่คงไว้จะเป็นเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ หรือ การเรียนรู้ในชั้นปีที่สูงขึ้นต่อไป (Clinical Years) ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่ม Relevancy of Knowledge ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อผู้เรียนมากกว่า
4. การเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักนี้ อาจไม่เหมาะกับผู้เรียนที่ไม่ชอบการอภิปรายถกเถียง ชอบฟังมากกว่า
5. ในกรณีที่จำนวนผู้เรียนมาก ต้องการการลงทุนมาก ทั้งวัสดุ เวลา และยากในการบริหารจัดการแต่สามารถเป็นไปได้ในส่วนที่เป็นข้อเสีย จะเห็นได้ว่าจะต้องมีการติดตามและเฝ้าระวังการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง และทำการปรับเปลี่ยนแก้ไขตามเห็นสมควรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสูดแก่ผู้เรียน นอกจากนี้จะต้องมีการเตรียมผู้เรียนให้รับรู้และตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ให้คำปรึกษาในระยะแรกของการเรียนที่อาจยังปรับตัวไม่ได้ และต้องเตรียมครูให้ตระหนักถึงบทบาทที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการสอนในกลุ่มย่อย การเตรียมบทเรียน การวัดและการประเมินผล เป็นต้น ทั้งนี้หากได้ดำเนินการอย่างครบถ้วนจะสามารถลดทอนปัญหาหรือข้อเสียของการเรียนแบบนี้ลงได้บ้าง