จรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ข้อ
จรรยาบรรณข้อที่ 1 : ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วงเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
หลักการ การแสดงออกของบุคคลในทางที่ดีเป็นผลมาจากสภาวะจิตใจที่ดีงาม และความเชื่อถือที่ถูกต้องของบุคคลที่มีความรักและเมตตาย่อมแสดงออกด้วยความปรารถนาในอันที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลอื่นมีความสุภาพ ไตร่ตรองถึงผลแล้วจึงแสดงออกอย่างจริงใจ ครูจึงต้องมีความรักและเมตตาต่อศิษย์อยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นผลให้พฤติกรรมที่ครูแสดงออกต่อศิษย์ เป็นไปในทางสุภาพเอื้ออาทร ส่งผลดีต่อศิษย์ในทุก ๆ ด้าน
ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า หมายถึง การตอบสนองต่อความต้องการ ความถนัด ความสนใจของศิษย์อย่างจริงใจ สอดคล้องกับการเคารพ การเห็นอกเห็นใจต่อลัทธิพื้นฐานของศิษย์จนเป็นที่ไว้วางใจเชื่อถือและชื่นชมได้รวมทั้งเป็นผลไปสู่การพัฒนารอบด้านอย่างเท่าเทียมกัน
พฤติกรรมสำคัญ
1. สร้างความรู้สึกเป็นมิตร เป็นที่พึ่งพาและไว้วางใจได้ของศิษย์ แต่ละคนและทุกคน ตัวอย่างเช่น
– ให้ความเป็นกันเองกับศิษย์
– รับฟังปัญหาของศิษย์และให้ความช่วยเหลือศิษย์
– ร่วมทำกิจกรรมกับศิษย์เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม
– สนทนาไต่ถามทุกข์สุขของศิษย์ ฯลฯ
2. ตอบสนองข้อเสนอและการกระทำของศิษย์ในทางสร้างสรรค์ตามสภาพปัญหาความต้องการและศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคน ตัวอย่างเช่น
– สนใจคำถามและคำตอบของศิษย์ทุกคน
– ให้โอกาสศิษย์แต่ละคนได้แสดงออกตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจ
– ช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของศิษย์
– รับการนัดหมายของศิษย์เกี่ยวกับการเรียนรู้ก่อนงานอื่น ๆ ฯลฯ
3. เสนอและแนะแนวทางการพัฒนาของศิษย์แต่ละคนและทุกคนตามความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
– มอบหมายงานตามความถนัด
– จัดกิจกรรมหลากหลายตามสภาพความแตกต่างของศิษย์เพื่อให้แต่ละคนประสบความสำเร็จ เป็นระยะ ๆ อยู่เสมอ
– แนะแนวทางที่ถูกให้แก่ศิษย์
– ปรึกษาหารือกับครู ผู้ปกครอง เพื่อน นักเรียน เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาของศิษย์ ฯลฯ
4. แสดงผลงานที่ภูมิใจของศิษย์แต่ละคนและทุกคนทั้งในและนอกสถานศึกษา ตัวอย่างเช่น
– ตรวจผลงานของศิษย์อย่างสม่ำเสมอ
– แสดงผลงานของศิษย์ในห้องเรียน (ห้องปฏิบัติการ)
– ประกาศหรือเผยแพร่ผลงานของศิษย์ที่ประสบความสำเร็จ
จรรยาบรรณข้อที่ 2 : ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
หลักการ ครูที่ดีต้องมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศิษย์ให้เจริญได้อย่างเต็ม ศักยภาพ และถือว่าความรับผิดชอบของตนจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อศิษย์ได้แสดงออกซึ่งผลแห่งการพัฒนานั้นแล้ว ครูจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคนเลือกกิจกรรมการเรียนที่หลากหลาย เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาตามศักยภาพนั้น ๆ ดำเนินการให้ศิษย์ได้ลงมือทำกิจกรรมการเรียน จนเกิดผลอย่างแจ้งชัด และยังกระตุ้นยั่วยุให้ศิษย์ทุกคนได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อความเจริญงอกงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ครูต้องอบรมสั่งสอนฝึกฝนสร้างเสริมความรู้ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้เกิดแก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ หมายถึง การดำเนินงานตั้งแต่การเลือกกำหนดกิจกรรมการเรียนที่มุ่งผลต่อการพัฒนาในตัวศิษย์อย่างแท้จริงการจัดให้ศิษย์มีความรับผิดชอบ และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ตลอดจนการประเมินร่วมศิษย์ ในผลของการเรียนและการเพิ่มพูนการเรียนรู้ภายหลังบทเรียนต่าง ๆ ด้วยความปรารถนาที่จะให้ศิษย์แต่ละคนและทุกคนพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและตลอดไป
พฤติกรรมสำคัญ
1. อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ ตัวอย่างเช่น
– สอนเต็มเวลา ไม่เบียดบังเวลาของศิษย์ไปหาผลประโยชน์ส่วนตน
– เอาใจใส่ อบรม สั่งสอนศิษย์จนเกิดทักษะในการปฏิบัติงาน
– อุทิศเวลาเพื่อพัฒนาศิษย์ตามความจำเป็นและเหมาะสม
– ไม่ละทิ้งชั้นเรือนหรือขาดการสอนฯลฯ
2. อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาศิษย์อย่างเต็มศักยภาพ ตัวอย่างเช่น
– เลือกใช้วิธีการที่หลากหลายในการสอนให้เหมาะสมกับสภาพของศิษย์
– ให้ความรู้โดยไม่ปิดบัง
– สอนเต็มความสามรถ
– เปิดโอกาสให้ศิษย์ได้ฝึกปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ
– สอนเต็มความสามารถและด้วยความเต็มใจ
– กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย พัฒนาขึ้น
– ลงมือจัดเลือกกิจกรรมที่นำสู่ผลจริง
– ภูมิใจเมื่อศิษย์พัฒนาฯลฯ
3. อบรม สั่งสอน ฝึกฝนและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใน ตัวอย่างเช่น
– สั่งสอนศิษย์โดยไม่บิดเบือนหรือปิดบังอำพราง
– อบรมสั่งสอนศิษย์โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
– มอบหมายงานและความผลงานด้วยความยุติธรรมฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 3 : ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
หลักการการเรียนรู้ในด้านค่านิยมและจริยธรรมจำเป็นต้องมีตัวแบบที่ดี เพื่อให้ผู้เรียนยึดถือและนำไปปฏิบัติตาม ครูที่ดีจึงถ่ายทอดค่านิยมและจริยธรรมด้วยการแสดงตนเป็นตัวอย่างเสมอ การแสดงตนเป็นตัวอย่างนี้ถือว่าครูเป็นผู้นำในการพัฒนาศิษย์อย่างแท้จริง
การประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี หมายถึง การแสดงอกกอย่างสม่ำเสมอของครูที่ศิษย์สามารถสังเกตรับรู้ได้เอง และเป็นการแสดงที่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งพฤติกรรมระดับสูงตามค่านิยม คุณธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
พฤติกรรมสำคัญ
1. ตระหนักว่าพฤติกรรมการแสดงออกของครูมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมของศิษย์อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น
– ระมัดระวังในการกระทำ และการพูดของตนเองอยู่เสมอ
– ไม่โกธรง่ายหรือแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อหน้าศิษย์
– มองโลกในแง่ดี ฯลฯ
2. พูดจาสุภาพและสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับศิษย์และสังคม ตัวอย่างเช่น
– ไม่พูดคำหยาบหรือก้าวร้าว
– ไม่นินทาหรือพูดจาส่อเสียด
– พูดชมเชยให้กำลังใจศิษย์ด้วยความจริงใจฯลฯ
3. กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี สอดคล้องกับคำสอนของตน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ตัวอย่างเช่น
– ปฏิบัติตนให้มีสุขภาพ และบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ
– แต่งกายสะอาดสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ
– แสดงกริยามารยาทสุภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ
– ตรงต่อเวลา
– แสดงออกซึ่งนิสัยในการประหยัดซื่อสัตย์ อดทน สามัคคี มีวินัย ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 4 : ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกายสติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์
หลักการ การแสดงออกของครูใด ๆ ก็ตามย่อมมีผลในทางบวกหรือลบ ต่อความเจริญเติบโตของศิษย์เมื่อครูเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการพัฒนาทุก ๆ ด้านของศิษย์ จึงต้องพิจารณาเลือกแสดงแต่เฉพาะการแสดงที่มีผลทางบวก พึงระงับและละเว้นการก้าวหน้าของศิษย์ ทุก ๆ ด้าน
การไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติ ปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หมายถึง การตอบสนองต่อศิษย์ในการลงโทษหรือให้รางวัลการกระทำอื่นใดที่นำไปสู่การลดพฤติกรรมที่พึงปรารถนา และการเพิ่มพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
พฤติกรรมสำคัญ
1. ละเว้นการกระทำที่ทำให้ศิษย์เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคมของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
– ไม่นำปมด้อยของศิษย์มาล้อเลียน
– ไม่ประจานศิษย์
– ไม่พูดจาหรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการซ้ำเติมปัญหาหรือข้อบกพร่องของศิษย์
– ไม่นำความเครียดมาระบายต่อศิษย์ไม่ว่าจะด้วยคำพูด หรือสีหน้าท่าทาง
– ไม่เปรียบเทียบฐานะความเป็นอยู่ของศิษย์
– ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าเหตุ
2. ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของศิษย์ ตัวอย่างเช่น
– ไม่ทำร้ายร่างกายศิษย์
– ไม่ลงโทษศิษย์เกินกว่าระเบียบกำหนด
– ไม่ใช้ศิษย์ทำงานเกินกำลังความสามารถ ฯลฯ
3. ละเว้นการกระทำที่สกัดกั้นพัฒนาการทาง สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคมของศิษย์
– ไม่ตัดสินคำตอบถูกผิดโดยยึดคำตอบของครู
– ไม่ดุด่าซ้ำเติมศิษย์ที่เรียนช้า
– ไม่ขัดขวางโอกาสให้ศิษย์ได้แสดงออกทางสร้างสรรค์
– ไม่ตั้งฉายาในทางลบให้แก่ศิษย์ ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 5 : ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
หลักการ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในวิชาชีพแสวงหาประโยชน์ตนโดยมิชอบ ย่อมทำให้เกิดความลำเอียงในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความไม่เสมอภาคนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในบุคคลและวิชาชีพนั้นดังนั้น ครูจึงต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้จากศิษย์ หรือใช้ศิษย์ให้ไปแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
การไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ หมายถึง การไม่กระทำการใด ๆ ที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนเกินสิทธิที่พึงมีพึงได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบตามปกติ
พฤติกรรมสำคัญ
1. ไม่รับหรือแสวงหาอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์อันมิควรจากศิษย์ ตัวอย่างเช่น
– ไม่หารายได้จาการนำสินค้ามาขายให้ศิษย์
– ไม่ตัดสินผลงานหรือผลการเรียน โดยมีสิ่งแลกเปลี่ยน
– ไม่บังคับหรือสร้างเงื่อนไขให้ศิษย์มาเรียนพิเศษเพื่อหารายได้ ฯลฯ
2. ไม่ใช่ศิษย์เป็นเครื่องมือหาประโยชน์ให้กับคนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขนมธรรมเนียม ประเพณีหรือความรู้สึกของสังคม ตัวอย่างเช่น
– ไม่นำผลงานของศิษย์ไปแสวงหากำไรส่วนคน
– ไม่ใช้แรงงานศิษย์เพื่อประโยชน์ส่วนตน
– ไม่ใช้หรือจ้างวานศิษย์ไปทำสิ่งผิดกฎหมาย ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 6 : กฎย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
หลักการ สังคมและวิทยาการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น ครูในฐานะผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงต้องพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
การพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อยู่เสมอ หมายถึง การใฝ่รู้ ศึกษาค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ให้ทัน
สมัย ทันเหตุการณ์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยี สามารถพัฒนาบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์
พฤติกรรมสำคัญ
1. ใส่ใจศึกษาค้นคว้า ริเริ่มสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาชีพอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น
– หาความรู้จากเอกสาร ตำรา และสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ
– จัดทำและเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ ตามโอกาส
– เข้าร่วมประชุม อบรม สัมมนา หรือฟังการบรรยายหรืออภิปรายทางวิชาการ ฯลฯ
2. มีความรอบรู้ ทันสมัย ทันเหตุการณ์สามารถนำมาวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย แนวทางพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การอาชีพ และเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น
– นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ประกอบการเรียนการสอน
– ติดตามข่าวสารเหตุการณ์ด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอยู่เสมอ
– วางแผนพัฒนาตนเองและพัฒนางาน ฯลฯ
3. แสดงออกทางร่างกาย กริยา วาจา อย่างสง่างาม เหมาะสมกับกาลเทศะ ตัวอย่างเช่น
– รักษาสุขภาพและปรับปรุงบุคลิกภาพอยู่เสมอ
– มีความเชื่อมั่นในตนเอง
– แต่งกายสะอาดเหมาะสมกับกาลเทศะและทันสมัย
– มีความกระตือรือร้น ไวต่อความรู้สึกของสังคม ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 7 : ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
หลักการ ความรักและเชื่อมั่นในอาชีพของตนย่อมทำให้ทำงานอย่างมีความสุขและมุ่งมั่น อันจะส่งผลให้อาชีพนั้นเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ดังนั้นครูย่อมรักและศรัทธาในอาชีพครูด้วยความเต็มใจ
ความรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู หมายถึง การแสดงออกด้วยความชื่นชมและเชื่อมั่นในอาชีพครูด้วยตระหนักว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม ครูพึงปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจและภูมิใจ รวมทั้งปกป้องเกียรติภูมิของอาชีพครู เข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนองค์กรวิชาชีพครู
พฤติกรรมสำคัญ
1. เชื่อมั่น ชื่นชม ภูมิใจในความเป็นครูและองค์กรวิชาชีพครู ว่ามีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคม ตัวอย่างเช่น
– ชื่นชมในเกียรติและรางวัลที่ได้รับและรักษาไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
– ยกย่องชมเชยเพื่อนครูที่ประสบผลสำเร็จเกี่ยวกับการสอน
– เผยแพร่ผลสำเร็จของตนเองและเพื่อนครู
– แสดงตนว่าเป็นครูอย่างภาคภูมิ ฯลฯ
2. เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพครูและสนับสนุนหรือเข้าร่วมหรือเป็นผู้นำในกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพครู ตัวอย่างเช่น
– ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดขององค์กร
– ร่วมกิจกรรมที่องค์กรจัดขึ้น
– เป็นกรรมการหรือคณะทำงานขององค์กร ฯลฯ
3. ปกป้องเกียรติภูมิของครูและองค์กรวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น
– เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของครูและองค์กรวิชาชีพครู
– เมื่อมีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับวงการวิชาชีพครูก็ชี้แจงทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
จรรยาบรรณข้อที่ 8 : ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
หลักการ สมาชิกของสังคมใดพึงผนึกกำลังพัฒนาสังคมนั้นและเกื้อกูลสังคมรอบข้าง ในวงวิชาชีพครูผู้ประกอบอาชีพครูพึงร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความเต็มใจ อันจะยังผลให้เกิดพลังและศักยภาพในการพัฒนาวิชาชีพครู และการพัฒนาสังคม
การช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์ หมายถึง การให้ความร่วมมือ แนะนำปรึกษาช่วยเหลือแก่เพื่อนครูทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และการงานตามโอกาสอย่างเหมาะสม รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน โดยการให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางวิธีการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
พฤติกรรมสำคัญ
1. ให้ความร่วมมือแนะนำ ปรึกษาแก่เพื่อนครูตามโอกาสและความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น
– ให้คำปรึกษาการจัดทำผลงานทางวิชาการ
– ให้คำปรึกษาแนะนำการผลิตสื่อการเรียนการสอน ฯลฯ
2. ให้ความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ สิ่งของแก่เพื่อนครูตามโอกาสและความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น
– ร่วมงานกุศล
– ช่วยทรัพย์เมื่อเพื่อนครูเดือนร้อน
– จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฯลฯ
3. เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนรวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ แนวทางวิธีการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยชุมชน ตัวอย่างเช่น
– แนะแนวทางการป้องกัน และกำจัดมลพิษ
– ร่วมกิจกรรมตามเพณีของชุมชน ฯลฯ
จรรยาบรรณข้อที่ 9 : ครูพึงประสงค์ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย
หลักการ หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของการศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีภูมิปัญญา และรู้จักเลือกวิธีการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ในฐานะที่ครูเป็นบุคลากรทางการศึกษา ครูจึงควรเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย หมายถึง การริเริ่มดำเนินกิจกรรม สนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย โดยรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์เลือกสรร ปฏิบัติตนและเผยแพร่ศิลปะ ประเพณีดนตรี กีฬา การละเล่น อาหาร เครื่องแต่งกาย ฯลฯ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การดำรงชีวิตตนและสังคม
พฤติกรรมสำคัญ
1. รวบรวมข้อมูลและเลือกสรรภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่เหมาะสมใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น
– เชิญบุคคลในท้องถิ่นเป็นวิทยากร
– นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้จัดการเรียนการสอน
– นำศิษย์ไปศึกษาในแหล่งวิทยาการชุมชน ฯลฯ
2. เป็นผู้นำในการวางแผน และดำเนินการเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น
– ฝึกการละเล่นท้องถิ่นให้แก่ศิษย์
– จัดตั้งชมรม สนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
– จัดทำพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา ฯลฯ
3. สนับสนุนส่งเสริมเผยแพร่และร่วมกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
– รณรงค์การใช้สินค้าพื้นเมือง
– เผยแพร่การแสดงศิลปะพื้นบ้าน
– ร่วมงานประเพณีของท้องถิ่น ฯลฯ
4. ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำผลมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น
– ศึกษาวิเคราะห์ วิจัยภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อนำผลมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตัวอย่างเช่น
– ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ตำนาน และความเชื่อถือ
– นำผลการศึกษาวิเคราะห์มาใช้ในการเรียนการสอน ฯลฯ
จากปัญหาการกวดวิชาของผู้เรียนในปัจจุบัน ทำให้ส่งผลสะท้อนถึงภาพรวมการศึกษาไทยว่ามีความเหลื่อมล้ำ แตกต่างและมีความไม่เท่าเทียมกันสูง การศึกษาไทยยังเน้นการเรียนการสอนที่ยังเน้นการสอบสูง มีการแข่งขันตามมามาก และการ เรียนการสอนในโรงเรียนยังมีปัญหามากโดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ระบบดังกล่าวนำไปสู่ค่านิยมของการเลือกสถาบันมีชื่อ ทางแก้จึงกลับมาอยู่ที่พื้นฐานหลัก คือการส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาการสอนอย่างแท้จริงและมีคุณภาพสูง หากว่าครูปฏิบัติได้ตามจรรยาบรรณดังกล่าวได้ ปัญหาระดับชาติก็จะไม่เกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นในระดับที่น้อยมาก ในสมัยก่อนไม่มีการกวดวิชา ก็ยังสามารถผลิตบุคลลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากมายหลายคน ในขณะเดียวกันรัฐก็จะต้องทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษานั้นลดน้อยลง โดย ภาพรวมจึงต้องดู 2 แนวทางหลัก คือในส่วนของการกวดวิชา รัฐจะต้องร่วมมือกับเด็ก ผู้ปกครอง โรงเรียนกวดวิชาเอง กำหนดเกณฑ์คุณภาพของโรงเรียนกวดวิชาขึ้นมาแล้วดูแลให้ปฏิบัติได้ ส่งเสริมโครงการระยะสั้น เตรียมความพร้อมให้เด็กที่ขาดโอกาสเรียนเสริม ในส่วนของระบบการศึกษาโดยรวมจะต้องปรับระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหรือเข้าศึกษาต่อในระดับ ชั้นต่างๆ ใหม่ รวมถึงการกระจายคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาให้ กว้างขวางใกล้เคียงกัน
ข้อมูลจาก ดร.นรีภัทร ผิวพอใช้
เอกสารอ้างอิง
ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (2545) การกวดวิชาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในปนระเทศไทย. รายงาน การวิจัย.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539.
ค้นหาออนไลน์ จาก http://www.edu.chula.ac.th/knowledge/rule/rule2539.htm