การวางแผนการสอน
การวางแผนการสอน เป็นภารกิจสำคัญของครูผู้สอน ทำให้ผู้สอนทราบล่วงหน้าว่าจะสอนอะไร เพื่อจุดประสงค์ใด สอนอย่างใด  ใช้สื่ออะไร และวัดผลประเมินผลโดยวิธีใดเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอน การที่ผู้สอนได้วางแผนการสอนอย่างถูกต้องตามหลักการย่อมช่วยให้เกิดความมั่นใจในการสอน ทำให้สอนได้ครอบคลุมเนื้อหา สอนอย่างมีแนวทางและมีเป้าหมาย และเป็นการสอนที่ให้คุณค่าแก่ผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ลักษณะ ขั้นตอนการจัดทำและหลักการวางแผนการสอน ตลอดจนลักษณะของแผนการสอนที่ดี เพื่อส่งผลให้การเรียนการสอนดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นการจัดวางโปรแกรมการสอนทั้งหมดในวิชาใดวิชาหนึ่งไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนได้จัดดำเนินกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่วางไว้ ดังนั้นในแผนการสอนจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ เช่น มีจุดประสงค์ความคิดรวบยอด/หลักการ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดผล/ประเมินผล และจำนวนคาบเวลาที่ใช้สอน ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจัดรวมไว้อย่างมีระบบระเบียบในแผนการสอน

การวางแผนการสอนเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนสอน เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจปัญหาการสำรวจทรัพยากรการวิเคราะห์เนื้อหาการวิเคราะห์ผู้เรียนการกำหนดมโนมติ วัตถุประสงค์ กิจกรรมการเรียน สื่อการสอน และการประเมินผล แล้วเขียนแผนออกมาในรูปของแผนการสอน

                การวางแผนการสอน คือกิจกรรมในการคิดและการทำของครูก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมาย การคัดเลือกเนื้อหา การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน การเลือกตำรา เอกสาร อุปกรณ์ การประเมินผล และการพิมพ์ประมวลการสอนรายวิชา

จากความหมายดังกล่าวข้างต้นพิจารณาได้ว่า เป็นความหมายที่อธิบายถึงกิจกรรมและข้อมูลที่จะต้องใช้ในการวางแผนการสอน จึงสรุปความหมายได้ว่าการวางแผนการสอน คือ การเตรียมการสอนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางการสอนสำหรับครู อันจะช่วยให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลที่ผู้สอนต้องเตรียมในการวางแผนการสอน ได้แก่
1. การกำหนดจุดประสงค์
2. การคัดเลือกเนื้อหา
3. การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
4. การเลือกสื่อการเรียนการสอน
5. การวัดผลประเมินผล
ผู้สอนควรได้จัดเตรียมข้อมูลเหล่านี้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน เพื่อประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติจริง

ความสำคัญของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอน เป็นงานสำคัญของครูผู้สอน การสอนจะประสบผลสำเร็จด้วยดีหรือไม่มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการวางแผนการสอนเป็นสำคัญประการหนึ่ง ถ้าผู้สอนมีการวางแผนการสอนที่ดีก็เท่ากับบรรลุจุดหมายปลายทางไปแล้วครึ่งหนึ่ง การวางแผนการสอนจึงมีความสำคัญหลายประการ ดังนี้

  1. ทำให้ผู้สอนสอนด้วยความมั่นใจเมื่อเกิดความมั่นใจในการสอนย่อมจะสอนด้วยความแคล่วคล่อง เป็นไปตามลำดับขั้นตอนอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว การสอนก็จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางอย่างสมบูรณ์
  2. ทำให้เป็นการสอนที่มีคุณค่าคุ้มกับเวลาที่ผ่านไป เพราะผู้สอนสอนอย่างมีแผน มีเป้าหมาย และมีทิศทางในการสอน มิใช่สอนอย่างเลื่อนลอย ผู้เรียนก็จะได้รับความรู้ ความคิด เกิดเจตคติ เกิดทักษะ และเกิดประสบการณ์ใหม่ตามที่ผู้สอนวางแผนไว้ ทำให้เป็นการเรียนการสอนที่มีคุณค่า
  3. ทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามหลักสูตร ทั้งนี้เพราะในการวางแผนการสอน ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรทั้งด้านจุดประสงค์การสอนเนื้อหาสาระที่จะสอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน  และการวัดผลประเมินผล แล้วจัดทำออกมาเป็นแผนการสอน เมื่อผู้สอนสอนตามแผนการสอน ก็ย่อมทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามจุดหมายและทิศทางของหลักสูตร
  4. ทำให้การสอนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าการสอนที่ไม่มีการวางแผนเนื่องจากในการวางแผนการสอนผู้สอนต้องวางแผนอย่างรอบคอบในทุกองค์ประกอบของการสอน รวมทั้งการจัดเวลา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยสะดวกและง่ายดายขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการวางแผนการสอนที่รอบคอบและปฏิบัติตามแผนการสอนที่วางไว้ ผลของการสอนย่อมสำเร็จได้ดีกว่าการไม่ได้วางแผนการสอน
  5. ทำให้ผู้สอนมีเอกสารเตือนความจำ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นแนวทางในการทบทวนหรือการออกข้อทดสอบเพื่อวัดผลประเมินผผู้เรียนได้ นอกจากนี้ทำให้ผู้สอนมีเอกสารไว้ให้แนวทางแก่ผู้ที่เข้าสอนแทนในกรณีจำเป็น เมื่อผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนเองได้ ผู้เรียนจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ต่อเนื่องกัน
  6. ทำให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน ทั้งนี้เพราะผู้สอน สอนด้วยความพร้อม เป็นความพร้อมทั้งทางด้านจิตใจ และความพร้อมทางด้านวัตถุ ความพร้อมทางด้านจิตใจคือความมั่นใจในการสอน เพราะผู้สอนได้เตรียมการสอนมาอย่างรอบคอบ ส่วนความพร้อมทางด้านวัตถุคือ การที่ผู้สอนได้เตรียมเอกสารหรือสื่อการสอนไว้อย่างพร้อมเพียง เมื่อผู้สอนเกิดความพร้อมในการสอน ย่อมสอนด้วยความกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในบทเรียน อันส่งผลให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน

ลักษณะการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าจะต้องสอนอะไร สอนอย่างไร สอนเมื่อใด ใช้เวลาเท่าใด ใช้อะไรประกอบการสอนบ้าง และวัดผลประเมินผลอย่างไร ดังนั้นในการวางแผนการสอนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว จึงต้องจัดทำเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1. จัดทำเป็นกำหนดการสอน
ขั้นตอนที่ 2. จัดทำเป็นแผนการสอน
ในขั้นแรกผู้สอนต้องจัดทำกำหนดการสอนก่อน โดยวิเคราะห์เนื้อหาสาระจากคำอธิบายรายวิชา  เมื่อจัดทำกำหนดการสอนแล้ว จึงนำกำหนดการสอนมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนการสอน ดังนั้นผู้สอนจึงควรได้ทราบลักษณะของกำหนดการสอน และแผนการสอนซึ่งมีดังนี้

กำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นเอกสารสำคัญที่ครูทุกคนจะต้องใช้เป็นหลักในการวางแผนการสอน จัดเป็นการวางแผนการสอนระยะยาวตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาโดยไม่มีรายละเอียดมากนัก

ความหมายของกำหนดการสอน
กำหนดการสอน คือ แผนงานการสอนหรือโครงการสอน ที่จัดทำขึ้นจากหลักสูตรและคู่มือครู  หรือแนวการสอนของกรมวิชาการ โดยกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญ จำนวนคาบ เวลาและสัปดาห์ที่สอนไว้ตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าตลอดภาคเรียนนั้น ในแต่ละสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใดบ้าง จัดกิจกรรมข้อใดและในเวลากี่คาบ

                ความสำคัญของกำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นการวางแผนระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำให้เสร็จก่อนเริ่มเปิดภาคเรียนหรือปีการศึกษาใหม่ เพราะกำหนดการสอนมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นแนวทางในการทำแผนการสอนของครู กล่าวคือ การจัดทำแผนการสอนจำเป็นต้องดูกำหนดการสอนเป็นหลัก  ทั้งนี้เพราะกำหนดการสอนจะบ่งให้ทราบว่า ในแต่ละวันของสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใด กิจกรรมข้อใด ผู้สอนก็จะทำแผนการสอนของเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละวันแต่ละวันแต่ละวิชาได้ถูกต้องตรงกันกับกำหนดการสอน
  2. ทำให้ครูได้เห็นแผนงานการสอนระยะยาว ได้ทราบเนื้อหาที่จะต้องสอนตลอดภาคเรียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวและการวางแผนทำงานตลอดภาคเรียนหรือตลอดปีการศึกษา
  3. เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหารของโรงเรียนในการวางแผนงานบริหารด้าน วิชาการของโรงเรียน เช่น การวางแผนจัดทำตารางสอน จัดครูเข้าสอน จัดเตรียมเอกสาร จัดเตรียมวันสอบกลางภาค สอบปลายภาค จัดเตรียมสื่อการสอน เตรียมห้องสมุด เตรียมห้องเรียน เตรียมการใช้อาคารสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น

                รูปแบบของกำหนดการสอน
โดยทั่วไป กำหนดการสอนจะเขียนในรูปแบบของตารางประกอบด้วยสัปดาห์ที่สอน เนื้อหาในแต่ละสัปดาห์ และจำนวนคาบเวลา นอกจากนี้อาจมีรูปแบบอื่นที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังตัวอย่างที่นำเสนอเป็นรูปแบบที่นิยมใช้

ตัวอย่างกำหนดการสอน
กำหนดการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 60 คาบ

สัปดาห์ที่                    เนื้อหา         คาบ
1 บทที่ ๑ หลักพุทธศาสนาโดยสรุป 3
2 บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา 3
3 บทที่ ๓ พุทธธรรม 3
4 บทที่ ๓ พุทธธรรม 3
5 บทที่ ๔ คุณธรรมประจำใจ 3
6 บทที่ ๕ พุทธประวัติ 3
7 บทที่ ๕ พุทธประวัติ 3
8 บทที่ ๖ ประวัติพุทธสาวก 3
9 บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ 3
10 บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ 3
11 บทที่ ๘ การฝึกสมาธิ 3
12 บทที่ ๙ การพัฒนาปัญญา 3
13 บทที่ ๑๐ พระสงฆ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ 3
14 บทที่ ๑๐ พระสงฆ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ 3
15 บทที่ ๑๑ มารยาทชาวพุทธ ศาสนพิธีและวันสำคัญทางศาสนา มารยาทชาวพุทธ 3
16 บทที่ ๑๒ ภาษาบาลีและพุทธภาษิต 3
            หมายเหตุ
จัดทำกำหนดการสอนบทที่ 1- 12
จำนวน            48  คาบ
กิจกรรมอื่น ๆ    12  คาบ
รวม        60   คาบ
 

แผนการสอน
เมื่อผู้สอนทำกำหนดการสอนเสร็จแล้ว ก็จะนำมาเป็นกำหนดการเขียนแผนการสอน โดยเขียนรายละเอียดของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ให้ชัดเจนขึ้นเพื่อนำไปใช้จริง ผู้สอนจึงควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบของแผนการสอนซึ่งมีดังนี้

                ความหมายของแผนการสอน
แผนการสอนคือการนำวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์ที่จะต้องทำการสอนตลอดภาคเรียนมาสร้างเป็นแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อ อุปกรณ์การสอน และการวัดผลประเมินผล โดยจัดเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนย่อยๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หรือจุดเน้นของหลักสูตร สภาพของผู้เรียน ความพร้อมของโรงเรียนในด้านวัสดุอุปกรณ์ และตรงกับชีวิตจริงในห้องเรียน

แผนการสอนเป็นแผนซึ่งกำหนดขั้นตอนการสอนที่ครูมุ่งหวังจะให้ผู้เรียนได้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ในเนื้อหาและประสบการณ์หน่วยใดหน่วยหนึ่งตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

แผนการสอนที่เป็นส่วนขยายของหลักสูตร ซึ่งกำหนดแนวทางการสอน และการจัดกิจกรรมเสนอแนะแก่ครูโดยยึดถือจุดประสงค์ของการเรียนรู้และความคิดรวบยอดในหลักสูตรไว้เป็นหลัก

จากความหมายของแผนการสอนที่ประมวลทั้งหมดนี้สังเกตได้ว่า เป็นความหมายที่ครอบคลุมทั้งด้านลักษณะ ที่มา และสิ่งที่ควรกำหนดไว้ในแผนการสอน จึงสรุปความหมายของแผนการสอนได้ว่า แผนการสอน คือ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน การวัดผลประเมินผลให้สอดคล้องกับเนื้อหาและจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะใช้คำว่า แผนการจัดการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์จากคำอธิบายรายวิชา รายปี หรือรายภาค และหน่วยการเรียนรู้ที่จัดทำกำหนดเป็นแผนการจัดการเรียนรู้

                ความสำคัญของแผนการสอน
แผนการสอนเปรียบได้กับพิมพ์เขียวของวิศวกรหรือสถาปนิกที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมงานก่อสร้าง วิศวกร หรือสถาปนิกจะขาดพิมพ์เขียวไม่ได้ฉันใด ผู้เป็นครูก็จะขาดแผนการสอนไม่ได้ฉันนั้น ยิ่งผู้สอนได้จัดทำแผนการสอนด้วยตัวเอง ก็ยิ่งให้ประโยชน์แก่ตนเองมากเพียงนั้น

                ประโยชน์ของแผนการสอน
1. ทำให้เกิดการวางแผนวิธีสอนวิธีเรียนที่มีความหมายยิ่งขึ้น เพราะเป็นการจัดทำอย่างมีหลักการที่ถูกต้อง
2. ช่วยให้ครูมีคู่มือการสอนที่ทำด้วยตนเอง ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน ทำให้สอนได้ครบถ้วนตรงตามหลักสูตร และสอนได้ทันเวลา
3. เป็นผลงานวิชาการที่สามารถเผยแพร่เป็นตัวอย่างได้
4. ช่วยให้ความสะดวกแก่ครูผู้มาสอนแทนในกรณีที่ผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนได้

                องค์ประกอบของแผนการสอน
องค์ประกอบของแผนการสอน เกิดขึ้นจากความพยายามตอบคำถามดังต่อไปนี้
1. สอนอะไร (หน่วย หัวเรื่อง ความคิดรวบยอด หรือสาระสำคัญ)
2. เพื่อจุดประสงค์อะไร (จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม)
3. ด้วยสาระอะไร (โครงร่างเนื้อหา)
4. ใช้วิธีการใด (กิจกรรมการเรียนการสอน)
5. ใช้เครื่องมืออะไร (สื่อการเรียนการสอน)
6. ทราบได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ (วัดผลประเมินผล)

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว จึงกำหนดให้แผนการสอนมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. วิชา หน่วยที่สอนและสาระสำคัญ (ความคิดรวบยอดของเรื่อง)
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
3. เนื้อหา
4. กิจกรรมการเรียนการสอน
5. สื่อการเรียนการสอน
6. วัดผลประเมินผล

ตัวอย่างแผนการสอน
แผนการสอนเรื่อง อริยสัจสี่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  เวลา 3 คาบ

สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน การวัดผล
    ความจริงอันประเสริฐ 4  คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค   เมื่อผู้ใดปฏิบัติตามจะพบกับความจริงที่สามารถดับทุกข์ได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ

1. บอกคุณค่าและความสำคัญของอริยสัจสี่ได้

2. บอกความหมายของอริยสัจสี่ได้

3. อธิบายความจริงเรื่องทุกข์  สมุทัย   นิโรธ และมรรค ได้

4. สรุปวิธีการแก้ปัญหาตามหลักการอริยสัจสี่ได้

5.เขียนโครงงานเรื่องการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ได้

 

อริยสัจสี่

1. ความจริงเรื่องทุกข์

2. ความจริงเรื่องสมุทัย

3. ความจริงเรื่องนิโรธ

4. ความจริงเรื่องมรรค

 

ขั้นนำ

1. ครูพูดคุยกับนักเรียนเกี่ยวกับความทุกข์ที่คนเราทุกคนเผชิญอยู่

2. ครูถามนักเรียนว่าเคยมีความทุกข์ ( ปัญหา ) บ้างไหมแล้วนักเรียนมี      วิธีแก้ปัญหานั้นอย่างไร

ขั้นสอน

1. ครูอธิบายถึงคุณค่าและความหมายของอริยสัจสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้มา

2. ครูอธิบายถึงความหมายของทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

3. ครูอธิบายหลักการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ ทุกข์คือตัวปัญหา เราจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องหาเหตุของปัญหา( สมุทัย ) หลังจากนั้นก็รวบรวมหลักฐาน ตรวจสอบ แล้วดับปัญหานั้น ( นิโรธ ) เมื่อดำเนินการตามกระบวนการเราจะได้แนวทางดับทุกข์ (มรรค )

4. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาปัญหาที่พบบ่อยๆแล้วช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆตามหลักอริยสัจสี่

5. ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอ หน้าชั้นเรียน

6. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มวางแผนเขียนโครงงานเรื่องการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่ โดยเขียนลงแบบฟอร์มการเขียนโครงงานที่ครูแจกให้เพื่อนำเสนอในชั่วโมงต่อไป

ขั้นสรุป

1. ให้นักเรียนสรุปคุณค่า และความสำคัญของอริยสัจสี่

2.ให้นักเรียนสรุปการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่

1. รูปภาพการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

2. แผนภูมิอริยสัจสี่

3. รูปภาพบุคคลที่มีปัญหาต่างๆ

4. วีดิทัศน์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆในสังคม

5. แบบฟอร์มการเขียนโครงงาน

1.สังเกตจาก

1.1 การบอกคุณค่าและความสำคัญของอริยสัจสี่

1.2 การบอกความหมายของอริยสัจสี่

1.3 การอธิบายความจริงเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

1.4 การสรุปวิธีการแก้ไขปัญหาตามหลักอริยสัจสี่

2. จากการตรวจผลงานโครงงาน และอภิปรายกลุ่ม

เอกสารอ้างอิง
เขียน  วันทนียตระกูล. หลักการและวิธีการสอน . เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา , 2551.
สุกัญญา ธารีวรรณ. หลักการสอนและเตรียมประสบการณ์ภาคปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชา หลักสูตรและการสอน
วิทยาลัยครูสวนสุนันทา, 2521.
สงบ ลักษณะ. แนวการทำแผนการสอน. กรุงเทพมหานคร: กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ 2533.
อาภรณ์ ใจเที่ยง. หลักการสอน. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโต,2546.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. หลักและวิธีสอนระดับอุดมศึกษา. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2524.
ฟื้น เหมทานนท์. การสอนกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต. นครราชสีมา: ภาควิชาหลักสูตรและการสอนวิทยาลัยครูนครราชสีมา, 2528.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์. การวางแผนการสอน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2525.
———–. การวางแผนการสอนและเขียนแผนการสอน. นนทบุรี:  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532.

 

โดย ผศ.เขียน วันทนียตระกูล