ความหมายของคำว่า “ครู”
ครูคือผู้เป็นที่พึ่ง ในตำบลหมู่บ้านในชนบท เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็มักจะไปหาครู ไปถาม ไปขอให้ ช่วยตัดสิน ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเขามีความมั่นใจว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วย ความเมตตากรุณา ยินดีที่จะช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่พึ่ง ซึ่งจะให้คำปรึกษาหารือ แก่เขาได้ นี่เป็นเกียรติของครูที่ควรแก่การภาคภูมิใจ
ครูคือผู้เปิดประตูคอก เจ้าประคุณท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านใช้คำพูดว่า ครูเป็นผู้เปิดประตูคอก ที่ขังสัตว์ ไว้ในความมืด ให้ได้ออกไปสู่แสงสว่าง หรือเป็นผู้เปิดประตูคุกแห่งอวิชชา ให้สัตว์ออกมา เสียจากความโง่เขลา
ครูคือผู้ฝึก นอกจากนั้นท่านยังเห็นว่า ครูคือผู้ฝึก เป็นดังสารถีผู้ฝึกสัตว์ให้เชื่อง เหมือนอย่างนายสารถี ผู้ขับรถม้าหรือเกวียน ครูจึงต้องเป็นผู้มี ความเมตตาปรานี ไม่ใช้อำนาจดึงดันเอาแต่ใจของตัว เพราะการฝึกโดยการฟาดฟันลงไปด้วยแส้ ด้วยไม้ ด้วยตะขอสับนั้น ก็แน่นอนที่สุดว่า ย่อมจะไม่ได้รับ ความรัก ความจงรักภักดีจากสัตว์ที่ตนฝึก มันยอมให้ก็เพราะกลัว สบโอกาสเมื่อใดก็ต่อต้าน
ครูคือผู้ให้แสงสว่าง ให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างทั่วถึง ทั้งวิชาการทางโลก และวิชชาอันเป็นปัญญาด้านใน
ครูจึงต้องศึกษา ฝึกฝน อบรมตนเองให้พร้อมทั้งวิชาและวิชชา วิชานั้นเรียนรู้จาก ตำรา ครูอาจารย์ และ ประสบการณ์ได้ แต่วิชชาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการศึกษาด้านใน ด้วยการหมั่นมองดู ใคร่ครวญ ถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรม
กฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ “ประกอบเหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น” ถ้าเห็นความจริงข้อนี้ เมื่อมีปัญหา เกิดขึ้นก็จะมีปัญญาพิจารณา รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อได้ประกอบเหตุปัจจัยในส่วนของเรา อย่างเต็มความสามารถ แล้วก็สบายใจ ภาคภูมิใจได้ ส่วนผล จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีก
หากสามารถรักษาความเป็นปกติของจิตไว้ได้อย่างนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปเที่ยวโทษคนนั้น คนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เกิดสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ครูคือผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ดิฉันประทับใจในคำพูดของท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านกล่าวว่า คนมีบุญคือคนที่เกิดในตระกูลที่มี สัมมาทิฏฐิ ในสายตาของคนทั่วไป คนมีบุญ คือคนมีหน้ามีตา มีทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมมูลในเรื่องของวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปไหม? เราก็คงเคยเห็น หลายครอบครัว หลายตระกูล ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่มี กินใช้ไปเป็นร้อยปีก็ไม่หมด แต่แล้วก็ต้องสูญสิ้น ล้มละลายไป นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะ ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักกำจัดสิ่งที่จะมาบ่อนทำลาย แต่ครอบครัว ที่มีสัมมาทิฏฐินั้น แม้บ้านช่อง อาจจะไม่โอ่โถงใหญ่โต พ่อแม่ไม่ได้มี อำนาจวาสนาอะไรมากมาย แต่เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ให้ลูกได้มีการศึกษาเล่าเรียน ตามควรแก่ฐานะ อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นคนดี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข
ฉะนั้น ความเป็นครูจึงเป็นของหนัก ครูที่แท้จริงจึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ ควรแก่การบูชา เป็น ปูชนียบุคคล ผู้เป็นที่พึ่ง และผู้นำ ทางจิตวิญญาณแก่สังคม