สังคมควรปฏิบัติต่อครูอย่างไร

เมื่อสังคมคาดหวังให้ครูเป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้สร้างโลก สังคมก็ ควรส่งเสริม สนับสนุน ให้ครูสามารถยืนหยัดทำหน้าที่ต่อไปได้ สังคมควรให้อะไรแก่ครูบ้าง
๑. สังคมจะต้องช่วยกันสนับสนุน สถาบันครูให้คงอยู่ เพื่อให้มีโอกาสทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เต็มกำลัง ความสามารถ ให้สมศักดิ์ศรีของความเป็นครู ดิฉันเชื่อว่า ครูส่วนใหญ่อยากทำหน้าที่ ให้สมศักดิ์ศรี แต่เหตุปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย ถ้าสังคมเอาแต่เรียกร้องให้ครูเสียสละ ให้เป็นครู ที่ดี ช่วยอบรมลูกหลานของเขาเพื่อไปช่วยกันพัฒนาสังคม แต่สังคมนับตั้งแต่ ผู้ปกครองของเด็ก พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ชุมชน บุคคลในวงการต่างๆ ไม่ให้การสนับสนุน ครูจะทำหน้าที่ฝ่ายเดียวได้อย่างไร
๒. สังคมจะต้องกตัญญูต่อครู
ทุกคนในสังคมจะต้องยอมรับว่า สังคม ชาติ ประเทศ หรือโลกรอดมาได้ทุกวันนี้ เพราะสถาบันครู เป็นผู้นำ จะต้องมีความกตัญญูรู้คุณครู ไม่ใช่เอาแต่ภาระมาให้ แต่ไม่มีความสำนึกในความเสียสละ ในการอุทิศตนของครู

สังคมมีหน้าที่ที่จะต้องกตัญญูรู้คุณตอบแทนในทุกทาง เมื่อมีสิ่งใดเป็นอุปสรรค หรือเป็นที่น่าตำหนิ ติเตียนเกิดขึ้น ก็จะต้องช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไข ไม่เอาแต่ประณามอย่างเดียว
๓. สร้างหลักสูตรด้วยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง มีเป้าหมายที่ถูกต้อง
ครูทำงานหนัก แต่ถูกประณามอยู่ตลอดมา ว่าสอนลูกศิษย์ให้เป็นเด็กเกเร เติบโตขึ้นมา เป็นปัญหา ของสังคม แต่หากว่าหลักสูตรไม่เอื้ออำนวย ไม่ให้เนื้อหา ไม่ให้เวลา ไม่ให้โอกาสแก่ครู ที่จะสั่งสอน สิ่งที่เรียกว่า “วิชชา” เข้าไปในใจศิษย์ สังคมจะมาตำหนิครูฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น สังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร ให้มีเป้าหมายที่ถูกต้อง
๔. ให้เวลาแก่ครูอย่างเพียงพอในการอบรมสั่งสอนศิษย์ แทนที่จะเอาครูไปใช้งานในหน้าที่อื่น ดิฉัน ทราบด้วยความเห็นใจว่า แม้แต่ปิดเทอมครูก็แทบจะไม่มีเวลาว่าง บางทีทางกระทรวง จะลืมไป กระมังว่า ครูไม่ใช่เครื่องจักร

อีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครูต้องทำงานหนักก็คือ การประเมินผล การวัดผลงานความดีความชอบ ครูอาจารย์ทั้งหลายต้องแบ่งเวลาไปเขียนผลงาน ไปทำกิจกรรมโครงการ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของตัวเอง และเพื่อขอตำแหน่งบุคลากร เพื่อของบประมาณให้แก่หน่วยงาน นี่คือการศึกษาที่ไม่ได้ให้สติปัญญาที่ถูกต้อง ไม่ได้ยกจิตวิญญาณให้พ้นจากอำนาจของวัตถุ
๕. มีหลักสูตรการฝึกอบรมครู ให้เป็นผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง
การเรียนการสอน ในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยควรมีการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ไม่เน้นหรือกระตุ้นให้ครู วัดความสำเร็จใ นวิชาชีพครูด้วยการเลื่อนตำแหน่ง แต่ควรให้เกิดความเข้าใจว่า ความสำเร็จของครูคือ ความสุข เมื่อเห็นความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ จากความเป็นคนไปสู่ความเป็นมนุษย์

ความเป็นครูจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เกิดจากผ่านการศึกษาวิชาครูเท่านั้นหรือ?
การได้รับการศึกษาจากสถาบันครูเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือการฝึกฝน อบรมตนเอง
๖. ส่งเสริมวิทยฐานะของครู ให้ครูเป็นผู้ที่พร้อมด้วยวิชาและวิชชา มีคุณธรรมของความเป็นครู ไม่ตกเป็นทาส ของตัณหา อบายมุข อสัปปุริสธรรม
๗. ให้ครูมีอิสระในการทำงาน ขจัดเหตุปัจจัยที่จะมาเป็นข้อขัดข้องหรือบั่นทอนการทำงานของครู
๘. มีสวัสดิการสำหรับครูอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ครูต้องห่วงใยเรื่องปากท้องจนเกินไป เพราะครู ก็มีภาระ มีครอบครัวที่จะต้องดูแล ครูจะได้ทุ่มเทเวลา กำลังกาย กำลังใจ ลงไปในการสอน และฝึก อบรมเด็กได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบันครูดูมีพลัง รวมตัวกันได้แน่น แฟ้นขึ้น แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ได้รวมพลังเรียกร้องต่อสังคม ในลักษณะนี้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น เพราะการเรียกร้อง อย่างนี้ ไม่ได้ทำไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหลานของเขา และจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ของสังคม ชาติบ้านเมือง และโลกต่อไปในวันข้างหน้า
ถ้าเราจะร่วมกันเรียกร้องก็ควรเรียกร้องอย่างนี้ การประกวดโรงเรียนดีเด่น ผู้อำนวยการดีเด่น นักเรียน ดีเด่น เป็นอย่างไร ล้วนแต่ดูที่วัตถุ อาคารสถานที่ ผลการศึกษา ดูที่ความประพฤติกันบ้างไหม ที่บอกว่า กีฬาเป็นยาวิเศษ แล้วทำไมพอลงสนามต้องเชือดเฉือนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เด็กๆ มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ กตัญญูต่อสังคมบ้างไหม สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรม มองเห็นยาก จึงพากันละเลย เมื่อเราละเลยสิ่งสำคัญเช่นนี้ แล้วเราจะเอาอะไรเป็นแก่นสารของชีวิต
หากเราต้องการเป็น ครูผู้สร้างโลก ก็จำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นครู ไว้ให้ได้ เหมือนอย่างเกลือรักษาความเค็ม ด้วยการรักษาความถูกต้องและมั่นคง ของการศึกษา วัฒนธรรม จริยธรรม และศีลธรรมของสังคมไว้ นี่คือการทำหน้าที่ของครู.