หน้าที่ของครูต่อสังคม
หน้าที่โดยตรงของครูคือการสั่งสอนอบรมให้เด็กมีความรอบรู้ ความรู้ในวิชาการทางโลกนั้น เห็นจะ ไม่จำเป็น ต้องพูดกันในที่นี้ แต่ความรู้ ที่จะทำให้เขารู้จัก ที่จะพัฒนาจิต รักษาจิต สร้างสรรค์จิต ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ เพื่อเวลาที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง ไม่ได้เป็น แต่เพียง อายุ ความรู้อย่างนี้เป็นสิ่งที่ครูควรจะได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดแก่เด็ก
เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัวก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากคน ที่เป็นผู้ใหญ่ แต่อายุ จิตใจยังไม่ได้ รับการพัฒนา ทำไมจึงไม่ได้รับ การพัฒนา ทั้งๆ ที่มีวิชาความรู้ จบปริญญาตรี โท เอก กันมาตั้งมากมาย ก็เพราะจิต ที่เรียกว่า spiritual growth ยังไม่เกิดขึ้น
spiritual growth คือ การพัฒนาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดให้เป็นไปอย่างถูกต้อง พ่อแม่เอาลูกมาฝากครู ก็หวังพึ่ง ตรงนี้ หวังว่าครูจะช่วยอบรมสั่งสอน กล่อมเกลาให้ลูกของเขา เปลี่ยนจิตที่คิดผิดให้คิดถูก จากจิตเกเรเป็นจิตที่เรียบร้อย จิตหยาบเป็นจิตประณีต จิตที่เคยกระด้าง ก็อยากให้เป็นจิต ที่อ่อนโยน นี่คือสิ่งที่บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคม หวังว่าจะได้รับจากครู
เมื่อพูดถึงคำว่า “ครู” ก็มีอีกคำหนึ่งแทรกขึ้นมา คือคำว่า “อาจารย์” สังเกตดูโดยทั่วไป ผู้ที่อยู่ในอาชีพนี้ มักจะยินดี กับคำว่าอาจารย์ มากกว่าคำว่าครู หากถูกเรียกว่าครู แทนที่จะเรียกว่าอาจารย์ ก็จะมีความรู้สึก ต่ำต้อยน้อยหน้าขึ้นมาในใจ คำว่าครูจึงกลายเป็นคำเล็กๆ ไปเสียแล้ว เป็นคำที่ไม่มี ความหมายยิ่งใหญ่ เหมือนคำว่าอาจารย์ จนทำให้ความหมายของความเป็นครูเลอะเลือนไป ผู้ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ยังไม่เข้มแข็ง มั่นคง ก็เกิดอาการตะเกียกตะกาย จะต้องเป็น อาจารย์ให้ได้ แล้วก็จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เปลี่ยนจากครูมาเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่หน้าที่ในอาชีพนั้น หาได้แตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปไม่ บ้างก็ไปเข้าใจกันว่าอาจารย์เป็นผู้มีวิทยฐานะสูงกว่า มีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่า และมีอัตราเงินเดือน สูงกว่า
ดิฉันเป็นครูตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี เรียกว่าอายุน้อยมากในสมัยนั้น ยังมีความเป็นเด็กอยู่มาก ยังอยู่ในวัยรุ่น ที่ชอบ สนุกสนาน ชอบกิน ชอบเที่ยว ชอบเล่น แต่พอเข้ามาเป็นครู หน้าที่ของความเป็นครู ความรับผิดชอบ มันสอดแทรก ประทับเข้ามา ในหัวใจว่า หน้าที่ของครู จะต้องให้อะไรแก่ลูกศิษย์บ้าง ต้องบังคับใจ ไม่ให้ทำอย่างที่เคยทำ นี่คือความรู้สึกของครู ที่รู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวอย่างแก่เขา เราสอนลูกศิษย์อย่างไร เราจะต้องทำอย่างนั้น จะมาทำอะไร ตามใจชอบไม่ได้
ความเป็นครูนั้นตีราคากันไม่ได้ แต่เพราะความนิยมในวัตถุที่วัดความดีไม่ดีกันที่ราคา เราจึงได้ปล่อย ให้มันค่อยๆ กัดกินหัวใจของเราไปทีละน้อยๆ จนค่าของ ความเป็นครูลดลง ผู้เป็นอาจารย์โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ในมหาวิทยาลัย จึงมีความรู้สึกแต่เพียงว่า การเป็นอาจารย์คือการมาให้วิชาความรู้ มาถึง ก็บรรยายไป สอนไป หมดชั่วโมงก็ออกจากห้อง ความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่าง ลูกศิษย์กับ อาจารย์ ก็ค่อยๆ จางหายไป และมันก็ทำให้คุณค่า และความหมายสำคัญ ในชีวิตของครู ลดน้อย ถอยลงไปด้วย