การกิน ไม่ใช่กินอย่างไรให้อร่อย แต่เน้นเรื่อง “ กินดี ” เพื่อต้านโรค เพราะเล็งเห็นว่าคนยุคนี้มีโรคภัยมากมายเกาะกุมรุมเร้าอันมีสาเหตุมาจากอาหารการกิน ผู้ใหญ่และวัยรุ่นยุคนี้คุ้นเคยกับอาหารจานด่วนมากกว่าน้ำพริกผักจิ้ม ส่วนเด็กยุคใหม่เรียกได้ว่าโตมาจากนมผงและอาหารจานด่วน แถมดูอ้วนท้วนสมบูรณ์แก้มกลมแสนน่ารัก แต่อนาคตทำนายได้ยากว่าจะรอดพ้นจากภัย โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ โรคมะเร็งได้แค่ไหน

แล้วอาหารมีผลอย่างไรที่ทำให้เกิดโรคได้ ?

เมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วจะถูกย่อยเป็นโครงสร้างเล็กๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญ หรือเมตาบอลิซึม ที่ทำให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกายสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์และเป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารในสัดส่วนที่ไม่สมดุลเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ทำให้มีแนวโน้มของการได้รับสารอาหารบางประเภทมากเกิน โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และไขมัน ยกตัวอย่างเช่น แป้ง น้ำตาล ที่มักพบในอาหารจานด่วนและขนมต่างๆ เมื่อได้รับมากเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และเมื่อมีปริมาณไม่เพียงพอ จะนำไปสู่การเป็นเบาหวานได้ นอกจากนี้แป้งและน้ำตาลที่เหลือใช้จะเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเมื่อเกิดการสะสมมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายจะเริ่มแปรปรวนและทำงานบกพร่องจนนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ไขมันที่ไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข “ การกินดี เพื่อต้านโรค ” จึงต้องเริ่มจากการเลือกอาหารในแต่ละวันให้มีสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสม ลดและเลี่ยงอาหารบางชนิด โดยมีหัวใจหลักดังนี้

เลือกกินอาหารที่หลากหลาย

เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดจะมีองค์ประกอบของสารอาหารไม่เหมือนกัน โดยจะมีปริมาณที่แตกต่างออกไปตามหมวดหมู่ของอาหาร เช่น ส้มจะเป็นแหล่งของวิตามินซี แต่มีวิตามินบี 12 อยู่น้อย ในขณะที่ชีสจะมีปริมาณของวิตามินบี 12 อยู่มากกว่า การกินอาหารชนิดเดียวกันทุกๆ วันจะทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่กินมังสวิรัติมีแนวโน้มที่จะขาดโปรตีน วิตามินบี แคลเซียม และธาตุเหล็กได้ง่าย จึงอาจจำเป็นต้องรับประทาน วิตามิน หรืออาหารเสริม ในหนึ่งวันจึงควรเลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้ นม เนื้อสัตว์ และถั่วตามปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละคน

คุมปริมาณพลังงานและสัดส่วนสารอาหารในแต่ละวัน

คุณควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ให้พลังงานต่ำ การหมั่นสังเกตฉลากแสดงปริมาณสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบ ในอาหารนั้นๆ จะทำให้เข้าใจและสามารถกำหนดสัดส่วนการกินใน แต่ละมื้อได้ดีขึ้น โดยเฉลี่ยพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน 50% ควรมาจาก กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งควรเน้นอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว และธัญพืชต่างๆ อาหารกลุ่มโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ ควรได้รับประมาณ 15% ส่วนที่เหลือ 35% มาจากไขมันชนิดดี หรือไขมันที่ไม่อิ่มตัว