สธ. พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย ต้นเหตุหลักเกิดจากเบาหวาน (กระทรวงสาธารณสุข)
กระทรวงสาธารณสุขจัดกิจกรรมให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไต ให้ลดกินเค็มครึ่งหนึ่ง ในโรงพยาบาลในสังกัด 900 แห่งทั่วประเทศ เนื่องในวันไตโลก เริ่ม 6-12 มีนาคม 2554 เผยขณะนี้มีคนไทยป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 30,000 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง พร้อมเปิดรับบริจาคไต 840 ไต เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ที่มีปัญหาไตวาย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องในวันไตโลกปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศจำนวน 900 แห่ง ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมการกินอาหารรสเค็ม โดยจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 6-12 มีนาคม 2554
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ประการสำคัญ ในช่วงจัดกิจกรรมในปีนี้ จะรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคไตให้ได้ 840 ไต เพื่อนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้มีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ประชาชนที่มีความประสงค์บริจาค สามารถแจ้งได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย และทั่วโลก จากสถิติของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยปี 2551 พบผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 31,496 ราย และพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละ 400 ราย ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตวาย มี 4 กลุ่มได้แก่
1.ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เช่นติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะซ้ำซาก เป็นนิ่วในไต หรือไตพิการเป็นถุงน้ำ
2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ และโรคเอสแอลอี
3.การกินยาบางชนิด เช่น ยาเฟนาติซิน เฟนิลบิวตาโซน
4.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จากไตเสื่อมตามอายุขัย