จากข่าวสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นรั่วไหลออกมา หลังอาคารโรงไฟฟ้าเกิดการระเบิดขึ้น ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า สารกัมมันตรังสีดังกล่าวจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพบ้าง และหากได้รับรังสีเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นปริมาณมาก ๆ จะมีอาการอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอม มีความรู้ดี ๆ จาก คุณ กิ๊ฟไม่ใช่ตุ๊กตา เว็บไซต์ Pantip.com และ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มาบอกต่อกันค่ะ อย่างไรก็ตาม ใครที่อ่านบทความนี้ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกไป เพราะโอกาสที่จะได้รับรังสีในปริมาณมากถึงขนาดส่งผลขั้นรุนแรงมีน้อยมากค่ะ
ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า “สารกัมมันตรังสี” กันก่อน โดย “สารกัมมันตรังสี” คือ ธาตุที่มีการสลายตัวและปล่อยรังสี ซึ่งเป็นพลังงานรูปหนึ่งออกจากตัวเองตลอดเวลา จนกว่าจะหมดอายุ โดยมีครึ่งอายุเฉพาะตัวต่าง ๆ กัน เช่น ไอโอดีน-131 มีครึ่งอายุ 8 วัน แร่ซีเซียม-137 มีครึ่งอายุ 30 ปี ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสีบางชนิดมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น แร่เรเดียม-226,ยูเรเนียม-238 ฯลฯ แต่ที่มีใช้ในวงการแพทย์ปัจจุบันเป็นสารที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น โคบอลท์-60, ซีเซียม-137, อิริเดียม-192 เป็นต้น