ข่าวใหม่สำหรับท่านชาย “ขนาด” บ่งบอกโอกาสเป็นหมัน (ไทยโพสต์)
ผู้ชายอ่านแล้วอย่าเพิ่งใจแป้ว นักวิจัยพบว่าขนาดมีส่วนสัมพันธ์กับโอกาสมีลูก แต่ไม่ใช่ขนาดของเครื่องเคราอย่างที่หนุ่ม ๆ วิตกกันขนาดในที่นี้เขาหมายถึงระยะห่างระหว่างช่องทวารหนักกับถุงอัณฑะ หรือที่เรียกกันว่า เอจีดี (AGD-anogenital distance)
ผลวิจัยในสหรัฐพบว่า คนไหนยิ่งมีเอจีดีสั้น คนนั้นยิ่งมีโอกาสที่จะมีการเจริญพันธุ์ต่ำ รายงานในวารสาร Environmental Health Perspectives บอกว่า ชายใดมีเอจีดีสั้นกว่าขนาดเฉลี่ย คือประมาณ 2 นิ้ว คนนั้นยิ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้น 7 เท่าที่จะเป็นหมันคือมีปริมาณของน้ำอสุจิน้อยและมีตัวอสุจิน้อย
ภาวะเจริญพันธุ์ต่ำ หมายถึงผู้ชายที่มีตัวอสุจิน้อยกว่า 20 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร งานวิจัยในอดีตพบว่า ผู้ชายในกลุ่มนี้มีโอกาสเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชายที่มีตัวอสุจิปกติที่จะมีลูกได้ แชนนา สวอน แห่งมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์โรเชสเตอร์ในนิวยอร์ก บอกว่าข้อค้นพบใหม่นี้จะช่วยให้มีวิธีตรวจคัดกรองภาวะเจริญพันธุ์ที่ค่อนข้างง่ายเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง
“เป็นวิธีที่ไม่ต้องเจาะหรือผ่า ใคร ๆ ก็ทำได้ และไม่เกี่ยวกับภาวะบางอย่างที่ส่งผลต่อจำนวนอสุจิด้วย เช่น ความเครียด อาการเป็นหวัด หรือการอยู่ในอากาศที่ร้อน ถ้าใครมีเอจีดีสั้นโดยเฉพาะชายที่มีลูกยาก ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ด้านการเจริญพันธุ์ เพราะมีโอกาสที่จะเจอสิ่งผิดปกติ” เธอบอก
ดร.นาทาน บาร์-ชามา แพทย์ด้านการเจริญพันธุ์ของเพศชาย โรงพยาบาลเมาต์ซีนายในนิวยอร์ก บอกว่า งานวิจัยนี้นับเป็นครั้งแรกที่ศึกษาในมนุษย์ เป็นวิธีการวัดที่ยังเชื่อถือไม่ได้ นักวิจัยได้วัดเอจีดีของชาย 126 คนซึ่งเกิดในปี 2531 หรือหลังจากนั้น ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก แต่พบนัยสำคัญทางสถิติ
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาว่าทำไมผู้ชายบางคนจึงมีช่วงของเอจีดีสั้น แต่งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า แม่ที่ได้รับสารเคมีที่ชื่อ ทาเลต ในช่วงตั้งครรภ์ จะมีลูกที่มีเอจีดีสั้น ทาเลตพบได้ในน้ำหอม แชมพู สบู่ พลาสติก สี และยาฆ่าแมลง ผลวิจัยเหล่านั้นได้วัดปริมาณทาเลตในปัสสาวะของหญิงมีครรภ์ พบว่าผู้หญิงที่มีทาเลตสูงในปัสสาวะในช่วงตั้งครรภ์ มีโอกาสเพิ่มขึ้น 10 เท่าที่จะมีลูกชายที่มีช่วงเอจีดีสั้น