ไวรัสเมอร์สบุกไทยแล้ว พบชายชาวโอมานติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ทางการสั่งเฝ้าระวังผู้ใกล้ชิด 59 คน ขณะที่ล่าสุดราชกิจจานุเบกษา ประกาศ 3 เรื่องสำคัญ เกี่ยวกับโรคเมอร์ส
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ราชกิจจานุเบกษา มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้
1.เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่ออันตราย
ตามที่กระทรวงเคยประกาศ 6 โรคติดต่ออันตรายมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้ได้เพิ่มชื่อโรคติดต่ออันตรายคือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เป็นโรคที่ 7
2. เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อ ต้องแจ้งความ
ตามที่เคยประกาศไว้ จำนวน 21 โรค ทางกระทรวงได้เพิ่มโรคที่ 22 ได้แก่ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
3. เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อ และอาการสำคัญ
ตามที่เคยประกาศไว้จำนวน 50 โรค ได้เพิ่มโรคที่ 51 เข้าไป คือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยอาการของโรคนี้ จะมีอาการไข้ หอบ บางคนมีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน บางคนก็ปอดอักเสบ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตวาย จนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว
ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่มีคำยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อเมอร์สเป็นรายแรกแล้ว โดยเป็นชาวต่างชาติชาวโอมานที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และมาตรวจเชื้อยืนยันในห้องปฏิบัติการในประเทศไทย จนทราบผลดังกล่าว
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวเป็นชาวตะวันออกกลาง วัย 75 ปี มารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการเหนื่อยหอบ ก่อนที่จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลก็ออกมาเป็นบวก ส่วนอาการขณะนี้ยังทรงตัว
รายงานระบุด้วยว่า ชายคนดังกล่าวได้เดินทางมาที่ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ก่อนพักที่โรงแรมย่านสุขุมวิทซอย 3 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กำลังค้นหา และคัดแยกผู้สัมผัสในชุมชนย่านนั้น ก่อนเข้าโรงพยาบาลมารักษาอาการโรคหัวใจ และคาดว่าจะมีคนประมาณ 59 คนเป็นผู้ใกล้ชิด ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังว่าจะติดโรคเมอร์สหรือไม่
มารู้จักไวรัสเมอร์ส
เชื้อไวรัสเมอร์ส หรือ Middle East Respiratory Syndrome (MERS) ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 ไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์เป็นไวรัสที่ติดเชื้อ อยู่บริเวณส่วนต้นของทางเดินหายใจในคน เป็นสาเหตุอาการโรคหวัดทั่ว ๆ ไป แต่มีบางสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ต่อมาไวรัสสายพันธุ์นี้ได้มีการพัฒนาจนสามารถแพร่เข้ามาติดเชื้อในคนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ไอ หายใจไม่สะดวก ในที่สุดอาจเสียชีวิต
อาการของโรคมีความรุนแรงแตกต่างกันตั้งแต่รุนแรงมากจนถึงรุนแรงน้อย และมีประมาณร้อยละ 20 ที่ไม่แสดงอาการเลย ปัจจุบันยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าไวรัสจากสัตว์เข้าสู่คนด้วยวิธีใด และการติดต่อระหว่างคนเกิดขึ้นจากการปฎิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เช่น การติดเชื้อจากละอองเสมหะเมื่อมีอาการไอหรือจาม การสัมผัส เป็นต้น
โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นในบุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ เมื่อเกิดการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส จะมีอาการไอ มีไข้ และหายใจลำบาก ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นโรคไข้หวัดปกติ แต่เมื่อเป็นหนักเข้าก็อาจจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารด้วย อาทิ ท้องเสีย มวนท้อง และคลื่นไส้อาเจียน และหากเชื้อไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่ปอด อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 วัน
ในส่วนของการติดต่อจากคนสู่คนจะติดต่อผ่านทางการสัมผัสหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ อาทิ น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ เลือด สารคัดหลั่งต่าง ๆ และจะเพิ่มจำนวน แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเมื่อไวรัสเข้าไปรวมกับเซลล์ของร่างกายที่อุณหภูมิพอเหมาะ ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อตายลง ระบบการทำงานของร่างกายล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบทางเดินหายใจ ปอด และไต ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่ปอด หากลุกลามไปถึงขั้นนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้