คอลัมน์เรื่องเล่าซีอีโอ โดย วิชัย เบญจรงคกุล

เราคุยกันมากเรื่องโอกาสและความท้าทายของเรื่องเศรษฐกิจในยุค Digital Economy แต่เราคุยกันน้อยมากเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในเรื่อง “การศึกษา” ของเด็กไทยในยุค Digital Society ซึ่งยังไม่ชัดเจนเหมือนกันว่ากระทรวงใดจะรับเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปเรื่อง นี้ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ครอบคลุมรวมของ Digital Economy & Society Policy

ที่ผ่าน ๆ มาก็เน้นกันเรื่องการปฏิรูประบบราชการ ระบบฐานข้อมูล ระบบการพัฒนากระบวนการในกิจการบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ แต่ยังไม่เห็นอะไรมากนักหรือแทบจะไม่ได้เห็นเลยเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา และเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาภายใต้นโยบาย Digital Society เลยอดเป็นห่วงไม่ได้ครับว่า เด็กไทยในยุคดิจิทัลนั้น จะตามทันหรือถูกทอดทิ้งและจะทำให้ช่องว่างของสังคมถ่างกว้างขึ้นอีกหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้นต้องการที่จะมาลด “ช่องว่าง” หรือเรียกกันว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ของคนเมืองและคนในพื้นที่ชนบทให้ลดลง

สิ่งหนึ่งในช่องว่างของสังคมเรา คือ เรื่องการศึกษา ทั้งโอกาส การเข้าถึง การได้รับความรู้ที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกันของเด็กไทยทั้งประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ผมเพิ่งไปเยี่ยมโรงเรียนตำรวจชายแดนที่จังหวัดอุบลราชธานีมา เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่ผมและคณะเข้าไปหาทางช่วยพัฒนาเรื่องการศึกษาทั้งแก่ผู้สอนและผู้เรียนใน โรงเรียน ต้องรับสารภาพกัน ณ จุดนี้เลยว่า ผมยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้การเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจชายแดนที่ ทำอยู่ในโครงการทั้ง 3 แห่งนี้ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย

 

ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามาถในการสอน การเรียน ทุกอย่างยังค่อนข้างย่ำอยู่กับที่ ไม่ใช่ว่าโรงเรียนขาดอุปกรณ์การเรียนการสอนนะครับ หรือขาดน้ำ ขาดไฟฟ้า ขาดอินเทอร์เน็ต มีครบครับเพราะอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ค่อนข้างมีความเจริญทางด้านโครงสร้าง พื้นฐานพอสมควร และมีแท็บเลตใช้อีกต่างหากด้วย (แต่ก็เสีย ใช้การไม่ได้เป็นส่วนใหญ่) จึงต้องบอกว่า Hardware มีพร้อม ที่ขาดคือ Software มนุษย์

โรงเรียนทั้ง 3 แห่ง (คล้าย ๆ กับโรงเรียนในประเทศไทยอีกหลายร้อยหลายพันแห่ง) ที่ขาดครูที่มีความรู้ความสามารถที่จะ “สอน” เด็ก ๆ ครับ

เราคงจะเห็นข่าวกันว่า ผลคะแนนสอบโอเน็ตปีนี้ (พ.ศ. 2558) มีผลคะแนนต่ำมากจนต้องวิตก เราจะไปโทษเด็ก ๆ ไม่ได้ว่าทำไมไม่ตั้งใจเรียน เด็กส่วนใหญ่ก็ไม่ตั้งใจเรียนโดยพื้นฐานแบบเด็ก ๆ ครับ ธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่มักจะชอบเล่น ชอบคุย ชอบสนุกมากกว่าเรียน แต่ครูที่เก่งก็จะมีวิธีในการทำให้เด็ก ๆ ยอมเรียนจนในที่สุดความรู้ก็เกิดได้ในเด็ก ๆ เหล่านั้น

แต่ปัญหาวันนี้ เป็นปัญหาที่หากเราไม่ยอมรับและระดมกำลังแก้ไขด้าน Human Software หรือผมเรียกว่า Human ware นี้ก่อน คือเรื่อง “ครู”

ผมว่าหากนโยบายดิจิทัลโซไซตี้ในการพัฒนาการศึกษาด้วยก็คงไม่สามารถจะทำ ให้เด็กไทยเรียนรู้มากขึ้นหรือฉลาดขึ้นแน่ครับเครื่องมือเครื่องไม้แม้จะทัน สมัยเนื้อหาออนไลน์จะแน่น แต่หากปราศจากครูที่เก่งและมีความสามารถในการร่วมสอน ความรู้ย่อมไม่เกิด

อย่าลืมว่า “ความรู้” ที่โรงเรียนสอนไม่ใช่แค่ที่มีในตำรา แต่เป็นความรู้ทั่ว ๆ ไป ความรู้รอบตัว ความรู้ผสมประสบการณ์จริงของครูที่สามารถถ่ายทอดกับนักเรียน ทำให้เกิดจินตนาการ เกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากท้าทายเพื่อหาผลลัพธ์หรือคำตอบ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราคงยังไม่สามารถคาดหวังว่าเพียงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะมาทดแทนได้ครับ

ในบริบทของการนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการทำงานและกระจายบริการให้ทั่ว ถึงเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆภายในนโยบายดิจิทัลอีโคโนมีและ โซไซตี้นั้น การบริการคงเป็นเรื่องที่พอทำได้ไม่ยาก

การเรียนรู้และประสบการณ์ในการรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดี ทำให้เกิดความพึงพอใจกับประชาชน คงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเพราะอย่างแย่ก็คือบริการไม่ดีและคนไม่พอใจ รวมทั้งรัฐสูญเสียเงินงบประมาณในการทำ

แต่พอมาเปรียบเทียบกับด้านการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนกับการสร้างคน สร้างชาติ ถ้าเราไม่สามารถที่จะสร้างคนให้เก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น อนาคตของชาติก็คงมีความเสี่ยงมากขึ้น

ผมเชื่อว่า หากให้โอกาสการสร้างความรู้ทางปัญญาเท่า ๆ กันของคนเมืองและคนในพื้นที่ชนบท โอกาสทางสังคมจะสามารถปิดช่องว่างลงได้มากขึ้น คนมีความรู้ย่อมเกิดการพัฒนาการสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวให้ดีขึ้นตามธรรมชาติของมนุษยพันธุ์ โจทย์ให้ก็คล้าย ๆ กับที่ผมเคยกล่าวมาในบทความก่อน ๆ นี้คือเรื่อง “คน”

นอกจากเรื่องพัฒนาการให้ข้าราชการรู้จักใช้ รู้จักนำเทคโนโลยีมาช่วยบริการประชาชนให้ดี ยังต้องปรับทัศนคติของข้าราชการยุคดิจิทัลในการทำงานภายใต้แนวคิดใหม่ และบุคลากรอีกกลุ่มที่สำคัญคือ “กลุ่มครู” ที่ต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งกายและใจที่จะขับเคลื่อนไปกับนโยบายดิจิทัลโซไซ ตี้ ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องมีตึกใหม่ มือถือใหม่ คอมพิวเตอร์ใหม่ แท็บเลตใหม่ แต่เป็นเรื่องแนวคิดแนวสอนใหม่ที่รัฐบาลต้องมีการฝึกครูให้พร้อม เตรียมครูให้พร้อม

เมื่อเด็กนักเรียนไปค้นหาข้อมูลเองแล้วกลับมาถามครูครูต้องพร้อมและมี วิธีที่จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจแก่นักเรียนเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลในยุคดิจิทัลต้องเริ่มวางแนวการพัฒนาครูและหลักสูตรการเรียนการ สอนให้สามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลให้ได้และต้องเรียน ตั้งแต่ประถมวัยไปจนทุกวัยครับเพราะในระบบการศึกษาไทยวันนี้”ป่วย” ทั้งเรื่องครู หลักหมวดวิชาสอน และตำราเรียน

สิ่งเหล่านี้แก้ไม่ได้ด้วยสายไฟเบอร์ออปติก อินเทอร์เน็ต หรือไวไฟนะครับ

กระทรวงดิจิทัลจะต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงศึกษาธิการในการปรับปรุงการศึกษาของยุคดิจิทัลไม่สามารถปฏิเสธได้ครับ

 

 

ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจ 27 มี.ค. 2558