เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 3 : จะเปลี่ยนเด็ก ต้องเปลี่ยนครู
……………………………………………….
ครั้งแรกผมตั้งใจจะใช้ชื่อตอนว่า “จะเปลี่ยนเด็ก ต้องเปลี่ยนทุกอย่างรอบตัวเด็ก” แต่เมื่อไตร่ตรองแล้ว เห็นว่า เป็นคำที่ใหญ่เกินไป และบางเรื่องก็เหนือการควบคุม ก็เลยมาเน้นที่เกี่ยวข้องโดยตรงดีกว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องและส่งผลเป็นอย่างมากต่อเด็ก ก็คือ ผู้ปกครองกับครู เราต้องการให้เด็กๆ ของเรามีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จะอยู่รอด ทักษะการอยู่ร่วม ทักษะในการแข่งขันกับคนอื่นได้ในศตวรรษที่ 21 ผู้ปกครองกับครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย คำว่า “เปลี่ยนครู” ของผมมีความหมายสองนัย นัยแรก ครูที่ผลิตออกมาใหม่ เพื่อทดแทนครูเก่าที่เกษียณ ต้องผลิตออกมาให้ตรงกับความต้องการ และนัยที่สอง คือ ครูเก่าที่อยู่ในระบบปัจจุบัน ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ผมขอเน้นครูเก่าก่อนก็แล้วกัน ครูในระบบปัจจุบันต้องได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเรามีหลายหน่วยงานที่พัฒนาครูประจำการของเราและพัฒนากันอย่างหลากหลายวิธี
จากผลการวิจัยเชิงประเมิน พบว่า ถึงแม้ว่าเราพยายามพัฒนาครูด้วยวิธีการที่หลากหลาย จากหลายหน่วยงานแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังพัฒนาได้ไม่ทั่วถึง พัฒนาได้ไม่ตรงตามความต้องการของครู การพัฒนาไม่ส่งผลถึงผู้เรียน การพัฒนาทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียน การพัฒนาไม่ยึดสมรรถนะ เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ รูปแบบการพัฒนายังใช้รูปแบบเดิม ๆ ไม่มีนวัตกรรมที่จะช่วยทำให้ครูประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนได้ และแล้วสิ่งที่ฝันไว้ เมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็บังเกิดขึ้น นั่นคือ คูปองพัฒนาครู เราเคยฝันว่าในแต่ละปี ครูจะได้รับเงินก้อนหนึ่ง สำหรับพัฒนาตนเองตามสมรรถนะที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล วิธีการพัฒนาทำได้หลากหลายรูปแบบ อาจเข้ารับการอบรม สัมมนา ประชุมปฏิบัติการ เดินทางไปศึกษาดูงาน หรือแม้กระทั่งศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยการซื้อหาตำรามาอ่านก็ทำได้ สรุปว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตนเองมีความรู้ความสามารถ และคุณลักษณะตรงตามสมรรถนะของครูมืออาชีพที่กำหนดไว้
ขณะนี้ สพฐ. ได้จัดทำโครงการนำร่องคูปองพัฒนาครู โดยลงนามในข้อตกลงกับมหาวิทยาลัย 48 มหาวิทยาลัย และ สสวท. กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาครูไว้ 7,000 คน ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท สำหรับวิธีดำเนินการนั้น จะพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Developing Unit) ที่เน้นการสอนงาน (Coaching) และระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) ในการปฏิบัติงานจริง (On the job Training) ลักษณะการใช้งบประมาณ ก็คือ ครู 1 คน จะได้รับงบประมาณ คนละ 5,000 บาท จ่ายเป็นค่าลงทะเบียนแก่มหาวิทยาลัย 3,500 บาท ค่าพาหนะเดินทางสำหรับครู 1,500 บาท ผมเสียดาย 2 อย่าง อย่างแรก คูปองพัฒนาครูไม่ไปถึงจุดหมายสุดๆ ที่ใฝ่ฝันไว้ อย่างที่สอง เสียดายที่มหาวิทยาลัยจะมีเวลาดำเนินการเพียง 2 เดือน (สิงหาคม – กันยายน 2558) จะเอาเวลาที่ไหนไป coach ไป mentor ถ้าเริ่มตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ อะไรๆ คงดีกว่านี้ ข้อเสนอของผมก็คือ เจ้าของโครงการที่ สพฐ. ต้องทำเรื่องเสนอขอกันเงินงบประมาณไปจนถึงเดือนมีนาคม 2559 ดีกว่า เราจะได้ไม่ต้องเร่งรีบใช้งบประมาณกันจนไม่ได้อะไรตามที่อยากได้ อย่าบอกนะว่าทำไม่ได้ รัฐธรรมนูญยังแก้ได้เลย สำหรับคุณครูที่ยังไม่ได้เข้าโครงการดังกล่าวก็ไม่ต้องน้อยใจเราก็สามารถพัฒนาตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร พยายามตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ก็พอ
1. เด็กที่ต้องการในศตวรรษที่21มีลักษณะอย่างไร
2. เราจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กเกิดลักษณะดังกล่าว
3. รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเกิดลักษณะดังกล่าวแล้ว
4. เราจะดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างไร
ตอนนี้ค่อนข้างยาวหน่อย เวลาคุยเรื่องคุณครูแล้ว รู้สึกสนุก คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ