นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.นำโปรแกรมการตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะ และอนุมัติย้ายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 2 ราย

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อสะท้อนจากกรรมการพิจารณาผลงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งพบว่าบางรายมีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการ โดยการคัดลอกวิทยานิพนธ์ หรือคัดลอกผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกัน ซึ่งทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิชาการและวงวิชาชีพ

จึงอนุมัติให้สำนักงาน ก.ค.ศ.พิจารณานำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบเอกสารที่ใช้ในการเสนอขอรับการประเมินวิทยฐานะ ซึ่งคงไม่พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาใหม่ แต่จะเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งใช้ตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการที่เป็นสิ่งพิมพ์ออนไลน์ พร้อมชี้แจงแหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำและแสดงรายการลอกเลียนเป็นแถบสีและระดับเปอร์เซ็นต์การเทียบซ้ำ โดยสามารถตรวจสอบได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวใช้ตรวจสอบในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยขอให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำโปรแกรมมาใช้ประกอบการประเมินวิทยฐานะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติย้ายและแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จำนวน 2 ราย ได้แก่
1) นายวิชัย แสงศรี
  ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.ปทุมธานี เขต 2
2) นายโกวิท เพลินจิตต์  ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 5 ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 1

สำหรับประเด็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) และหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 55 ที่กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพเป็นระยะ ๆ นั้น

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์ใน Social Media ในเรื่องการประเมินเพื่อคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ ซึ่งระบุว่าหากใครไม่ผ่านการประเมินจะต้องถูกออกจากราชการ เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ กำหนดว่าต้องมีการประเมินเพื่อคงไว้ซึ่งวิทยฐานะอยู่แล้ว หากใครไม่ผ่านประเมินต้องถูกให้ออกจากราชการจริง แต่ครูไม่ต้องตกใจว่าประเมินไม่ผ่านแล้วจะถูกให้ออกจากราชการ เพราะหลักเกณฑ์และวิธีการที่ให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปกำหนด ได้ให้โอกาสในการพัฒนาหลายครั้ง เช่น หากไม่ผ่านการประเมินครั้งแรก จะให้พัฒนาตนเองก่อน แต่หากครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน ให้งดเงินวิทยฐานะ, ครั้งที่ 3 ให้งดเลื่อนเงินเดือน และครั้งที่ 4 ให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 110 (6)

ทั้งนี้ ครูเกือบทั้งประเทศร้อยละ 80 มีวิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ดังนั้นการได้มาซึ่งวิทยฐานะถือเป็นการเพิ่มพูนความรู้และเป็นความภาคภูมิใจ แต่การให้เงินวิทยฐานะเกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งยอมรับว่าเป็นผู้นำเรื่องนี้มาดูเอง เพราะครูถูกคนปรามาสว่าได้รับเงินเดือนมาก มีสวัสดิการดี แต่เด็กไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ตนเองยอมไม่ได้ ดังนั้นครูต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการประเมิน แต่วิธีการประเมินจะไม่ให้เป็นภาระกับครู ไม่ต้องมีกระดาษรายงาน แต่เป็นสิ่งที่ครูทำอยู่แล้ว และจะต้องสอดคล้องกับเกณฑ์ PA ซึ่งผู้รับการประเมินต้องยอมรับ

ดังนั้น ครูไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ครูก็ต้องปรับตัว เพื่อให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง


สำหรับผลการประชุม ก.ค.ศ.ในเรื่องอื่น ๆ
“ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี” และสื่อมวลชน
จะเผยแพร่เพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559


ดรุวรรณ บุญมาก, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
27/10/2559
ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง : เดลินิวส์