ผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. 5/2558
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบการกำหนดขนาดห้องเรียน ยกเลิกการสอบ LAS และ
– เห็นชอบการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดขนาดห้องเรียนของกระทรวงศึกษาธิการว่า มีสภาพผิดรูป กล่าวคือ มีทั้งห้องเรียนที่มีนักเรียนมากเกินไป เช่น โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงมีนักเรียนมากถึง 50 คนต่อห้อง แต่ในขณะเดียวกันโรงเรียนจำนวนมากก็มีนักเรียนต่อห้องน้อยเกินไป จึงเป็นปัญหาต่อการจัดการศึกษาทั้งสองส่วน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดจำนวนนักเรียนใน 1 ห้องเรียนในระดับปฐมวัยไว้ที่ 30 คนต่อห้องเรียน ประถมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน และมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้มีการปรับปรุงขนาดของห้องเรียนให้มีความสมดุลและเหมาะสม โดยเฉพาะระดับประถมศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มีความสำคัญ ครูควรมีความใกล้ชิดกับเด็กให้มากที่สุด จึงได้กำหนดขนาดของห้องเรียนใหม่ ดังนี้
-
ห้องเรียนระดับปฐมวัย 30 คนต่อห้องเรียน -
ห้องเรียนระดับประถมศึกษา 30 คนต่อห้องเรียน
-
ห้องเรียนระดับมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้องเรียน
โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้โรงเรียนได้ปรับสภาพและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ จะต้องมีโรงเรียนอื่นที่สามารถรองรับนักเรียนที่ล้นห้องเรียนได้ เพราะเข้าใจดีว่าพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียน ที่ดีมีชื่อเสียง ครูมีคุณภาพและจัดการเรียนการสอนได้ดี จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของ สพฐ.ที่จะต้องดำเนินการยกระดับและพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดกลางและขนาด เล็กในพื้นที่ต่างๆ ให้มีขีดความสามารถทัดเทียมหรือใกล้เคียงโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง โดยจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงทั้งในด้านครู การเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองและรองรับการกระจายตัวของนักเรียน
ทั้งนี้ ถือเป็นนโยบายที่จะต้องลดจำนวนนักเรียนที่ล้นในโรงเรียนแข่งขันสูงจาก 50 คนเป็น 40 คน ให้ได้ภายใน 5 ปี ในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะค่อนข้างยาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้ มิฉะนั้นโรงเรียนที่มีขนาดห้องเรียนใหญ่ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันห้องเรียนที่มีขนาดเล็กก็จะเล็กลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครส่งบุตรหลานไปเรียน โดยในช่วงที่ยังไม่ประกาศใช้อย่างจริงจัง สพฐ.จะต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติการพัฒนาและรายละเอียดต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป
– คงการสอบ NT เอาไว้ แต่ยกเลิกการสอบ LAS ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558
จากการที่ สพฐ. ได้จัดสอบ National Test (NT) ชั้น ป.3 เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือถึงผลดีผลเสียอย่างหลากหลาย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าการสอบ NT ในชั้น ป.3 ยังมีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการทดสอบเด็กครั้งแรกตั้งแต่เข้าระบบการศึกษา จึงควรมีการประเมินเด็ก เพื่อนำผลมาปรับปรุงพัฒนาก่อนเลื่อนขึ้นชั้นเรียนต่อไป
ส่วนการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา (Local Assessment System : LAS) ในระดับชั้น ป.2 ป.4-5 ม.1-2 และ ม.4-5 ซึ่งเป็นการประเมินคุณภาพภายในของเขตพื้นที่การศึกษานั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่จำเป็นมากนัก เพราะโดยปกติโรงเรียนจะมีการสอบในทุกชั้นเรียนอยู่แล้ว และงานวิจัยก็ระบุว่าเด็กในระดับนี้ไม่ควรที่จะต้องทดสอบมากนัก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีความเครียดกับการสอบมากเกินไป
จึงเห็นสมควรยกเลิกการสอบ LAS ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป แต่ขณะเดียวกันโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องพัฒนาระบบการประเมินผลย่อย (Formative Assessment) ซึ่งเป็นการประเมินผลระหว่างเรียนตลอดเวลาให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
ปัจจุบันโรงเรียนมีกิจกรรมที่จะต้องให้เด็กและครูทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งกิจกรรมของ สพฐ. ซึ่งจะต้องใช้เวลาเรียนไปทำกิจกรรมมากถึง 84 วันต่อปีการศึกษา ทำให้เด็กและครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียน และเวลาเรียนของนักเรียนก็ไม่เป็นตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร คือ 200 วันต่อปีการศึกษา
ดังนั้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศให้มีการลดกิจกรรมที่รบกวนเวลาเรียนของเด็กเพื่อไม่ให้เกินร้อยละ 10 ของเวลาเรียนตามหลักสูตร ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปีการศึกษาจึงไม่ควรเกิน 20 วัน โดยขอให้ สพฐ.ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่จัดกิจกรรม เพี่อให้มีการควบรวมกิจกรรมที่ซ้ำซ้อนหรือมีลักษณะใกล้เคียงกันให้จัดในคราวเดียวกัน
ต่อคำถามว่าการปรับลดกิจกรรมจะส่งผลกระทบต่อครูในการประเมินเพื่อเลื่อน วิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.หรือไม่นั้น รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุม ก.ค.ศ.ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ ว 13 ที่นำผลงานของครูมาเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการได้มาซึ่งวิทยฐานะ ทำให้ครูต้องล่ากิจกรรมหรือรางวัลและไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ที่จะยึดผล การเรียนการสอนของครูในห้องเรียนแทน
ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดของหลักเกณฑ์เพื่อนำเสนอในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป หากที่ประชุม ก.ค.ศ. เห็นชอบ จะได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งยกเลิกหลักเกณฑ์เก่าด้วย แต่หากผู้ที่ส่งผลงานเหล่านี้มาแล้ว ก็จะดำเนินการต่อโดยไม่ได้ตัดสิทธิ์แต่อย่างใด
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/3/2558