ร้อยเอ็ดโมเดล : ต้นแบบจัดการเรียนสายสามัญคู่สายอาชีพ

329

ร้อยเอ็ดโมเดล : ต้นแบบจัดการเรียนสายสามัญคู่สายอาชีพ

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันพุธที่ 25 มีนาคม 2558 ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เห็นชอบให้ “ร้อยเอ็ดโมเดล” เป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานกับสายอาชีพ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับโครงการจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานกับสายอาชีพ ซึ่งจะนำ “ร้อยเอ็ดโมเดล” มาเป็นต้นแบบการดำเนินการ เนื่องจากจังหวัดร้อยเอ็ดมีการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว กล่าวคือเมื่อนักเรียนจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะได้รับประกาศนียบัตรทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือด้วยดี ซึ่งร้อยเอ็ดโมเดลก็ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวไปยังจังหวัดมหาสารคามด้วย

จึงถือว่าเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการให้นักเรียนสายสามัญมีความรู้ด้านอาชีพด้วย และจะช่วยให้นักเรียนตัดสิใจได้ง่ายขึ้นว่าเมื่อจบการศึกษาชั้น ม.6 แล้ว จะออกไปทำงานหรือเรียนสายอาชีพต่อ โดยจะนำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

สำหรับการดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานกับสายอาชีพ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการนั้น คาดว่าในปีงบประมาณ 2558 จะมีนักเรียนเข้าสู่ระบบการจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานสายอาชีพประมาณ 20,000 คน โดยใช้งบประมาณของ สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการกว่า 60 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณต่อไปนั้นจะมีการขอตั้งงบประมาณกลางเพื่อใช้ในการดำเนินการ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้เรียนเป็น 30,000 คน

นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานตาม “กรอบคุณวุฒิอาเซียน” ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมร่วมกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และในปี 2558 จะมีการจัดประชุมอีกครั้งที่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อให้ได้ข้อยุติ เนื่องจากปลายปีนี้จะเป็นการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละประเทศอยู่ และมีหลักเกณฑ์ในการเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน เมื่อประชากรของประเทศใดก็ตาม ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่น ก็จะต้องนำกรอบคุณวุฒิของตนไปเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนก่อน แล้วจึงนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิของประเทศที่ต้องการไปทำงานนั้น

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
25/3/2558