เป็นเหตุการณ์ที่ต้องจารึกในหน้าประวัติศาสตร์..กระทรวงศึกษาธิการ..เมื่อช่วงเย็นวันที่17 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 6/2558โยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาฯ รวดเดียว 6 ตำแหน่ง
โดยเป็นตำแหน่งข้าราชการระดับสูง (ระดับ 11)ถึง 3 ราย ได้แก่ นางสุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากปลัด ศธ. เป็นเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล พ้นจากเลขาธิการ สกศ.เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(เลขาธิการ กกอ.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี พ้นจากเลขาธิการ กกอ. เป็นปลัด ศธ.ทั้งที่ ตามกระบวนการปกติจะต้องเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ
โดยเฉพาะคำสั่งสำคัญอีกฉบับ นั่นคือ..คำสั่ง คสช. ที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้รมว.ศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ดทั้ง 3 ชุด รวมถึงให้เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ สกสค.และผอ.องค์การค้าฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่าย งบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงิน ทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สกสค. และองค์การค้าฯ ของสกสค. และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญด้วย
กล่าวได้ว่าเป็นการประเดิมใช้อำนาจมาตรา44 อย่างเต็มขั้นกับ“กระทรวงครู” เป็นที่แรก!
และกล่าวได้อีกว่า..คำสั่งโละบอร์ดคุรุสภา บอร์ด สกสค.และบอร์ดบริหารองค์การค้าฯ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า คสช.จะเอาจริงกับงานเก็บกวาดขยะที่ซุกใต้พรม ของหน่วยงานที่มีเรื่องฉาวโฉ่..ในประเด็นทุจริตหมักหมมมายาวนาน และไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาลก็ยังไม่มีใคร ล้างบาง ได้สำเร็จ!
ทั้งนี้ สกสค.เป็นหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และพัฒนาชีวิตครู แต่ตลอดมากลับมีประเด็นถูกร้องเรียนการบริหารงานที่ส่อไปในทางทุจริตยาวเป็นหางว่าว สร้างความกังขาให้กับสังคม เช่นเดียวกับองค์การค้าฯ ที่เป็นหน่วยงานภายใน สกสค.ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคมเช่นเดียวกัน ทั้งประเด็นคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมของผอ.องค์การค้าฯ นายสมมาตร มีศิลป์ การเช่าแท่นพิมพ์จากบริษัทเอกชนพิมพ์หนังสือแบบเรียนในราคาที่สูงเกินจริง เป็นต้น
ล่าสุด..ก่อนคำสั่งล้มบอร์ดไม่กี่วัน ก็เพิ่งถูกตัวแทนสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ ของ ช.พ.ค.ทั้งคณะ รวม 17 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดนมิชอบ เหตุนำเงินกองทุนกว่า 2,100 ล้านบาท ไปลงทุนร่วมกับ นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา เจ้าของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ต กรุ๊ป จำกัด ในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อำเภอหนองหญ้าป้อง จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ 1,200 ไร่เมื่อปี 2556 โดยไม่ผ่านมติของ ครม. รวมถึงนำเงินไปลงทุนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น รวมมูลค่าความเสียหายกว่า6,000 ล้านบาท อันเป็นการกระทำโดยมิชอบ และอาจเข้าข่ายร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน
…ยังไม่รวมประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งให้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการและรองหัวหน้า คสช.(ฝ่ายสังคมจิตวิทยา) ตรวจสอบมาตั้งแต่ต้นปีใน 3 กรณีที่เกี่ยวข้องกับทั้ง สกสค.และองค์การค้าฯ ได้แก่
1. กรณีปี 2555 ได้มีการสั่งจ่ายเช็คเงินสดขององค์การค้าฯ นวน 55 ล้านบาท ให้กับบริษัท 2020 เวิลด์มีเดีย จำกัด โดยรักษาการในตำแหน่ง ผอ.องค์การค้าฯ ในขณะนั้นเป็นผู้สั่งจ่าย
2.ร้องเรียนการสรรหาบุคคลเพื่อผอ.องค์การค้าฯ เมื่อปี 2555 โอกาสให้นายสมมาตร มีศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามเข้ารับการสรรหา ได้รับสิทธิและได้แสดงวิสัยทัศน์และได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวเคยมีการร้องเรียนโดย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน(ภตช.) มาแล้ว
และ 3. กรณีที่ผู้ร้องเรียนกล่าวอ้างว่าการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากร ทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 360 ล้านบาท อาจมีการทุจริตหรือการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสในประเด็นการแก้ไขสัญญาว่าจ้าง เพิ่มเติม การแก้ไขแบบแปลน ที่ไม่ผ่านมติของคณะกรรมการบริหาร สกสค.
สำหรับประเด็นที่คืบหน้าสุด..การก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูฯ มูลค่า 360 บาท ที่ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.คนใหม่ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง ระบุว่าผลสอบมีมูลว่ามีการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริต เพราะมีการก่อสร้างนานถึง 3 ปีแต่มีเสาขึ้นในพื้นที่เพียง 3 ต้น มีการแก้ไขแบบและมีการขยายเวลาการก่อสร้างออกไป ทำให้ผิดสัญญาจ้างไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ โดยได้เตรียม 2แนวทางเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ดำเนินการไว้ ได้แก่ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค. หรือกรณีที่สอบสวนวินัยไม่ได้เพราะตำแหน่ง เลขาธิการ สกสค.จ้างด้วยมติบอร์ด สกสค.ก็ให้พิจารณา ยกเลิกสัญญาจ้าง และดำเนินคดีอาญาเพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ
ทั้งนี้ น่าจับตามองว่าจากคำสั่งหัวหน้า คสช.โยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ศธ. ดึง รศ.นพ.กำจร มานั่งเก้าอี้ปลัด ศธ. สะท้อนว่า คสช.และ พล.ร.อ.ณรงค์ ค่อนข้างเชื่อมั่นในตัว “พ่อบ้าน ศธ.” รายนี้ อีกทั้งย้อนดูโปรไฟล์ก่อนหน้า ก็จะเห็นได้ว่า รศ.นพ.กำจร เข้าถึง คสช.เพราะเป็นผู้บริหารองค์กรหลัก เพียงหนึ่งเดียวที่เข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยังได้รับการวางใจจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผลงานโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาทุจริตที่ชัดเจน ก็คือกรณีการซื้อขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต)ให้กับนักศึกษาที่ต้องการเป็นครู ของมหาวิทยาลัยอีสาน ซึ่งปัจจุบันผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งม.อีสาน ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯไปเรียบร้อยแล้ว
เพราะฉะนั้น แม้จะระบุว่าเพื่อว่าการโยกย้ายผู้บริหารเพื่อความเหมาะสมและให้งานปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นคนละเรื่องกับคำสั่งโละบอร์ดฉาว 3 บอร์ดนี้ เพราะเลขาธิการ 5 องค์กรหลักก็เป็นกรรมการของบอร์ดโดยตำแหน่งอยู่แล้ว แต่คงปฏิเสธความเชื่อมโยงไม่ได้อยู่ดี
..และ พล.ร.อ.ณรงค์ ก็ยอมรับอยู่ในทีว่าต้องการ รศ.นพ.กำจร เข้ามาเคลียร์เรื่องเน่าๆ ใน 3 หน่วยงาน แม้ว่า..สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะไม่ใช้ประเด็นการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เช่นเดียวกับ สกสค.และองค์การค้าฯ แต่การทำงานไม่สนองนโยบาย ทั้งเรื่องการผ่อนผันให้คนเก่งในสาขาวิชาชีพอื่น มีโอกาสเข้ามาเป็นครูได้เสียที หรือแก้ไขให้ก็เหมือนขอไปทีชั่วครั้งคราวและยกข้อกฎหมายมาเป็นเงื่อนไข ทั้งที่รัฐบาลและนโยบาย ศธ.ก็ชัดเจนแต่แรกว่าการปฏิรูปการศึกษารวมไปถึงการปฏิรูปครูด้วย เมื่อให้เวลาทำงานแล้วไม่คืบ จึงต้องหาคนอื่นมาทำงานแทน
อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาการโยกย้ายและการสางทุจริตใน สกสค.และองค์การค้าฯ เป็นที่จับตาของสื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงข้าราชการ ประชาชนที่สนใจการศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็เริ่มเดินหน้าเซ็นแต่งตั้ง นายกมล ศิริบรรณ รองปลัด ศธ. ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา,นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ เลขาธิการ สกสค. และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ และได้เรียกทั้ง3 รายมาติวเข้มเพื่อพร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกัน ในฐานะประธานกรรมการ ก็ได้นัดประชุมบอร์ดสกสค.,บอร์ดบริหารองค์การค้าฯ และบอร์ดคุรุสภา นัดแรกไปเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาด้วยเพื่อร่วมกันวางแนวทางเคลียร์ปัญหา และเดินหน้าทำงานเพื่อทำงานสำคัญต่อไป
..คงต้องติดตามว่าหลังจาก คสช.จัดทัพใหม่เพื่อเก็บกวาดขยะ เน่าเสีย ที่สะสมมานานคราวนี้จะสำเร็จและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ใสสะอาดได้หรือไม่ !?!
http://manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx?NewsID=9580000047212
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |
นางสุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากปลัด ศธ. เป็นเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) |
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี พ้นจากเลขาธิการ กกอ. เป็นปลัด ศธ. |
นายสมมาตร มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) |
นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) |
นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา |
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.องค์การค้า ของ สกสค. |
นายกมล ศิริบรรณ รองปลัด ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา |
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. |