…..
กมธ.การ ศึกษาฯ เตรียมเดินสายลงพื้นที่จัดเวทีพูดคุยสร้างสมัชชาการศึกษาในแต่ละท้องถิ่น เพื่อปูทางการปฏิรูป ส่งเสริมการกระจายอำนาจ เริ่มจากจังหวัดอำนาจเจริญก่อนเป็นแห่งแรกในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ด้าน “ที่ปรึกษา รมว.ศธ.” ชี้ ศธ.ยังทำงานตามสั่งทั้งที่ควรลงพื้นที่ตรวจดูการทดลองกระจายอำนาจ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่
นาง ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) และเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.การศึกษาฯ กำลังเดินหน้าทำงานในพื้นที่ เปิดเวทีพูดคุยสร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คนในพื้นที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น โดยจะเริ่มจากจังหวัดอำนาจเจริญเป็นแห่งแรก ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากการกระจายอำนาจลงไปยังจังหวัดต่างๆ นั้นสามารถทำได้จริง แต่ติดปัญหาที่ว่าความพร้อมของแต่ละจังหวัดที่มีไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องของ การศึกษา ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบของสมัชชาด้านการศึกษาตามที่จะร่างลงในรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่นี้ เพราะหากไม่มีการสร้างกลไลที่จะเข้ามาช่วยเหลือ การปฏิรูปการศึกษาก็จะเป็นแค่กฎหมาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนครั้งที่ผ่านมา
นาง ประภาภัทรกล่าวต่อว่า และนอกจากนี้การปฏิรูปการศึกษาไม่เพียงแต่ผลักดันเรื่องโครงสร้างการกระจาย อำนาจการบริหารเท่านั้น แต่ยังเห็นว่าทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียนล่าช้าอยู่พอสมควร อาจจะเป็นเพราะการทำงานในรูปแบบของระบบราชการที่จำเป็นจะต้องรอคำสั่ง ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมาย เพียงแต่ทำให้แล้วเสร็จตามคำสั่งเท่านั้น และไม่มีการบูรณาการ ทั้งที่การดำเนินงานในโครงการดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่และให้การ สนับสนุนเรื่องต่างๆ แก่สำนักงานเขตพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ เพราะการกระจายอำนาจถือว่าเป็นเรื่องใหม่ นอกจากนี้ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ก็ยังดำเนินงานไม่ตรงตามจุดมุ่งหมายของโครงการเท่าที่ควร เพราะเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องมีการประเมินผลการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ซึ่งตนเชื่อว่าทางสภาการศึกษา (สกศ.) น่าจะทำหน้านี้ได้เป็นอย่างดี
อย่าง ไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะมีการเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพิ่มเติมอีก 40 เขต รวมเป็น 60 เขต โดยจะให้โรงเรียนที่มีความพร้อมสมัครเข้าโครงการด้วยตนเอง และสำนักงานเขตพื้นที่ฯ จะเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งการเพิ่มดังกล่าวมีแต่ผลดี เพราะเป็นการสร้างความกระตือรือร้นให้แก่โรงเรียนในการมุ่งมั่นพัฒนาด้วย.