บอร์ด ก.ค.ศ. สั่งตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ข้อดี – เสีย การปรับขึ้นเงินเดือนครูแบบขั้นและแบบช่วง หลัง สนช. มีหนังสือสอบถามว่าหากปรับแบบช่วงมีปัญหาหรือไม่ โดยให้หาข้อสรุปโดยดูตามนโยบาย รมว.ศึกษาฯ ที่ต้องการให้ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาแท้จริง 

วันนี้ (28 พ.ค.)นางรัตนา ศรีเหรัญ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ก.ค.ศ. ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบเรื่อง บัญชีเงินเดือน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ที่มีการประกาศใช้ ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ส่งหนังสือเวียนและหลักเกณฑ์แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศดำเนินการตามที่กำหนด นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) ขอให้ ก.ค.ศ. ไปปรับการได้รับเงินเดือนของข้าราชการครู จากที่ปัจจุบันมีการปรับขึ้นเป็นแท่ง หรือขั้นเงินเดือน มาเป็นแบบช่วง หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดย สนช. ได้มีหนังสือสอบถามแนบท้ายมาด้วยว่า หากปรับวิธีการขึ้นเงินเดือนเป็นแบบช่วงแล้ว ศธ. มีปัญหาหรือไม่ ถ้ามีปัญหาก็ขอให้แจ้งไปที่ สนช. ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติให้ ก.ค.ศ. ไปตั้งคณะทำงาน วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ของวิธีการปรับขึ้นเงินเดือนทั้งสองรูปแบบว่า ควรจะใช้แบบใด โดย พล.ร.อ.ณรงค์ ได้ให้นโยบายว่า การปรับวิธีการขึ้นเงินเดือนต้องส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ การขึ้นเงินเดือนทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกันตรงที่ถ้าเป็นการขึ้นเงินเดือนแบบช่วง จะทำให้สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนได้ตามวงเงิน 6% ของจำนวนงบประมาณที่ได้รับ โดยส่วนราชการต่างๆ จะต้องไปคิดจำนวนเงินที่จะปรับเป็นเปอร์เซ็นต์เอง ซึ่งจะมีปัญหาว่าอาจจะคิดผิดคิดถูก ซึ่งอาจทำให้รวดทั้งระบบ แต่ถ้าเป็นแบบขั้นตามที่ ก.ค.ศ. เคยดำเนินการจะทำให้มีวงเงินเหลือ และแต่ละขั้นก็มีวงเงินกำหนดไว้แน่นอนแล้ว โดยหากมีการแก้ไขจริงก็ต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

“สนช. ได้มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยะฐานะฯ มีการกำหนดวิธีการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นแบบช่วง แต่จะมีบัญชีชั่วคราว ที่กำหนดการขึ้นเงินเดือนเป็นขั้นแทรกไว้ใน พ.ร.บ. จึงอยากให้มีการปรับการขึ้นเงินเดือนให้เป็นแบบช่วงเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการวิเคราะห์ โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าในโรงเรียนที่จำนวนมีครูน้อย แล้วใช้วิธีเลื่อนเงินเดือนเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้รับการขึ้นเงินเดือนน้อย ขณะที่ถ้าขึ้นเป็นขั้น จะได้เพิ่มเงินเดือนมากกว่า ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงขอให้ไปวิเคราะห์วิธีการปรับเพิ่มเงินเดือน รูปแบบไหนถึงจะดีที่สุด”เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวและว่า ทั้งนี้ ถ้า ก.ค.ศ. มีความเห็นว่า การขึ้นเงินเดือนแบบขั้นดีกว่าก็จะต้องแจ้งไปยัง สนช. เพื่อขอปรับแก้ พ.ร.บ.เงินเดือนฯใหม่ ให้เป็นแบบขั้นอย่างเต็มรูปแบบ

ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการ