ศธ.เล็งดึง บริติช เคานซิล จัดทดสอบวัดมาตรฐานภาษาอังกฤษเด็กไทยทั่วประเทศ ตั้งเป้าวัดในระดับมัธยม-สายอาชีพ “กำจร” ย้ำเน้นจัดทดสอบที่ประหยัดเงิน และหาทางต่อยอดให้นำผลทดสอบไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น เข้าทำงาน เรียนในมหา’ลัย คาดหากจัดสอบมีคนสมัครใจร่วม 2 แสนคน
วันนี้ (8 มิ.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้เดินทางเข้าร่วมประชุม Going Global 2015 ที่สหราชอาณาจักร โดยได้ไปดูการจัดการศึกษาด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งพบว่าหลายประเทศกำลังดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้มีการจัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศรัสเซีย ฯลฯ แต่ก็ประสบประสบปัญหาเหมือนกันว่าครูผู้สอนไม่มีความถนัดการสอนด้วยภาษาอังกฤษ แม้แต่ประเทศบราซิล ประเทศรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยตนได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่าควรเริ่มต้นโดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยทั้ง 9 แห่ง เนื่องจากในการนำเสนองานวิจัยก็ต้องเสนอด้วยภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะค่อยๆปรับการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน เชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กและเยาชนทุกคนตื่นตัวและสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะถ้าหากอยากจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำแต่ไม่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง
ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนได้ไปเยี่ยมที่บริติช เคานซิล ที่ประเทศอังกฤษและได้สอบถามเกี่ยวกับการจัดทดสอบภาษาอังกฤษที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อให้ทางบริติชฯ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดทดสอบให้ เบื้องต้นจะทดสอบนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรวมถึงเด็กที่เรียนในสายอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เนื่องจากการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นใช้หลักสูตรเดียวกันต่อเนื่อง ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน ทำให้การวัดมาตรฐานระดับประเทศจะเห็นภาพได้ชัด แต่หากเป็นในระดับอุดมศึกษาความรู้ต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปตามคณะ/สาขาวิชาที่เลือกเรียนการจะวัดมาตรฐานทั้งประเทศทำได้ยาก
“หากจัดทดสอบทั่วประเทศต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงเสนอทางบริติชฯ ว่าในระยะแรกอาจต้องร่วมลงทุนกันระหว่างบริติชฯและรัฐบาลไทย ขณะเดียวกัน ก็จะพิจารณาให้มีการใช้ประโยชน์จากการทดสอบดังกล่าวด้วย อาทิ ผู้ที่ผ่านการทดสอบมีใบรับรอง ก็ให้ใช้ประกอบการพิจารณาเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนระดับอุดมศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและพิจารณารายละเอียดต่างๆ รวมถึงงบประมาณดำเนินการ ซึ่งหากจัดทดสอบคาดว่าจะมีเด็กที่สมัครใจร่วมทดสอบประมาณ 2 แสนคน ขณะเดียวกันถ้าหลายฝ่ายเห็นประโยชน์ของการทดสอบดังกล่าวก็จะช่วยผลักดันให้เด็กมัธยมสนใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น และถึงเวลานั้นทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยเน้นให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เราต้องเน้นเรื่องภาษาอังกฤษเพราะมีความสำคัญมากต่อการสื่อสารทั่วโลก การทำงานในอนาคตและเวลานี้หลายประเทศก็ขับเคลื่อนกันไปหมดแล้ว”รศ.นพ.กำจร กล่าว