เล็งตั้งคกก.ส่วนกลาง-เขตพื้นที่ฯ ตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้าง

สพฐ.ร่อนหนังสือแจงเขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจระบบประเมิน ITA ใช้นำร่องใน 20 เขตฯ 200 ร.ร. “กมล” เผย สตง.แนะควรมีระบบประเมินความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของ เขตพื้นที่ฯและ ร.ร.หลังพบปัญหาทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจในระบบ จนเกิดความหละหลวม ทำตามขั้นตอนไม่ครบถ้วน เล็งตั้งคกก.ในส่วนกลางและเขตพื้นที่ฯ ตรวจสอบการใช้งบ สกัดช่องว่างจนเกิดเหตุทุจริต

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะทำหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ(Integrity and Transparency Assessment – ITA) ซึ่งเป็นระบบที่ สพฐ.ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ใช้ระบบดังกล่าวในการนำร่องจัดการประเมินระบบธรรมาภิบาลในสถานศึกษาใน 20 เขตพื้นที่ฯ จำนวน 200 โรงเรียน ใน โครงการ สพฐ.ใสสะอาด แต่ที่ผ่านมาสพฐ.พูดคุยกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โดย สตง.ได้ให้ความเห็น สพฐ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก และส่งตรงไปใน สพท.และโรงเรียนกว่า 30,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ดังนั้น จึงควรจะมีเครื่องมือในการประเมินความโปร่งใส และตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเกณฑ์ประเมินดังกล่าวจะใช้ในทุกเขตพื้นที่ฯและทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ 200 โรงเรียนนำร่องเท่านั้น

“จากการพูดคุยกับ สตง.พบว่า การทุจริตส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนทำให้เกิดความหละหลวม หรือ ดำเนินการตามกระบวนการไม่ครบถ้วน ขณะเดียวกันโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล เมื่อไม่มีบริษัทมายื่นประมูลก็ทำให้โรงเรียนต้องใช้วิธีพิเศษหรือลดขั้นตอนลงซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น เชื่อว่าเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบเขตพื้นที่การศึกษาอีกขั้นหนึ่งว่ามีการกำหนดแผนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ หรือมีการประกาศแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานอื่นๆได้รับทราบมากน้อยแค่ไหน รวม ถึงการตรวจสอบ วิเคราะห์ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าระบบตรวจสอบไอทีเอจะช่วยป้องกันการทุจริตและปัญหาการ ฮั้วประมูลได้”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า ในส่วนของ สพฐ.เองก็เตรียมตั้งคณะกรรมการทั้งในส่วนกลางและเขตพื้นที่ฯ เพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเงินเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่หละหลวม หรือมีช่วงว่างให้เกิดการทุจริตได้

 

ที่มา : http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000065232