6 ก.ย.59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ ว่า จากการหารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะต้องปรับแก้ระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในถาบันอุดมศึกษาใหม่นี้ แต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทาง มรภ.และ มทร.ยังมีข้อกังวลว่าการรับเด็กในรูปแบบใหม่ ตามแนวทางที่ ทปอ.เสนอนี้จะไปกระทบทำให้ไม่สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงขอกลับไปหารือกันก่อน
ทั้งนี้ ตนก็ได้ขอให้ นายประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขาธิการ ทปอ.ไปทำความเข้าใจกับที่ประชุม ทปอ.มรภ.และ ทปอ.มทร.ส่วนกรณีที่ ทปอ.มรภ.ขอเปิดรับตรงในช่วงเวลาเดิม คือ เดือน มี.ค. – พ.ค.ดังนั้น ทาง มรภ.เองก็ยังตอบคำถามไม่ชัดเจนว่า ทำไมต้องขอเปิดรับตรงในช่วงเวลาดังกล่าว ตนจึงอยากให้ มรภ.และ มทร.ไปหาเหตุผลที่ชัดเจนให้ได้ก่อน
ส่วนกรณีที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า การรับนักศึกษาระบบใหม่นี้ ไม่ควรล็อคให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องเข้าร่วม เพราะมหาวิทยาลัยยอดนิยมก็จะได้เด็กเก่ง ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็อาจจะได้เด็กไม่ตรงกับที่ต้องการนั้น ก็เป็นสิทธิที่จะคิดได้ แต่ทุกอย่างต้องดูภาพรวม
ด้าน ดร.พงศ์ หรดาล อธิการบดี มรภ.พระนคร กล่าวว่า ทปอ.มรภ.นัดหารือเรื่องดังกล่าววันที่ 30 ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า ที่ผ่านมา มรภ.ก็รับเด็กต่อจากมหาวิทยาลัยรัฐอยู่แล้ว เพราะค่านิยมคนไทย ยังยึดติดอยู่กับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ แม้มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่จะพยายามพัฒนาศักยภาพ ก็ยังไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งในอนาคต จำนวนเด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะน้อยลง ขณะที่จำนวนที่นั่งเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีมากขึ้นและหากกำหนดให้มีการเคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ เด็กเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ก่อน จะมีเด็กเหลือไปมหาวิทยาลัยอื่นๆ จำนวนน้อยมาก
“ดังนั้นควรมีการกำหนดโควตาการรับเด็กของมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ชัดเจน และตนอยากให้มหาวิทยาลัยรัฐกลุ่มเก่า หันไปเน้นการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกที่เข้มข้นขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนแบบเต็มเวลา เช่นเดียวกับการสอนในระดับปริญญาตรี ไม่ใช่เปิดสอนเป็นหลักสูตรพิเศษ เรียนเสาร์ – อาทิตย์ อย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งตนจะเสนอให้มีการกำหนดโควตาการรับเด็กของมหาวิทยาลัยกลุ่มต่างๆ ในที่ประชุม ทปอ.มรภ.ด้วย” ดร.พงศ์ กล่าว