สพฐ.รอเกณฑ์ใหม่คัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง
สพฐ.รอเกณฑ์ใหม่คัดคนเข้าสู่ตำแหน่ง สพฐ.แจงเหตุชะลอ ออกปฏิทินสอบคัดเลือกทุกตำแหน่งของปี 60 ไม่ได้ ต้องรอหลักเกณฑ์ใหม่ ก.ค.ศ.กำลังจัดทำวันนี้(11 ม.ค.) นายอัมพร พินะสา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เปิดเผยว่า ตามแผนการบริหารงานบุคคลของ สพฐ. ในปีงบประมาณ 2560 จะต้องมีการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ตามอัตราที่ว่าง ได้แก่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) 38 ตำแหน่ง รอง ผอ.สพท. 204 ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์กว่า 600 ตำแหน่ง บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค(2)ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 2547 กว่า 700 อัตรา ครูผู้ช่วย ว.16 กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ 25% ของอัตราเกษียณของแต่ละเขตพื้นที่ฯและครูผู้ช่วยทั่วไปอีกกว่า 10,000 อัตรา เป็นต้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถกำหนดปฏิทินการสอบได้ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มีนโยบายให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคัดเลือกใหม่ทั้งหมด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำลังดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์เหล่านั้นอยู่ นายอัมพร กล่าวต่อไปว่า โดยหลักการการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์และครูผู้ช่วย ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเทอม รวมถึง ผอ.สพท.ที่ต้องเร่งคัดเลือกเพื่อให้การบริหารงานในเขตพื้นที่ไม่ชะงัก แต่เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่ออกมาก็จำเป็นต้องชะลอออกไป และหากไม่ทันจริง ๆ ก็คงต้องใช้หลักเกณฑ์เดิมไปก่อน อย่างไรก็ตามถึงแม้สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเป็นเจ้าของเรื่อง แต่ สพฐ.ในฐานะผู้ใช้จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาร่างหลักเกณฑ์คู่ขนานเพื่อเสนอแนวคิดการคัดเลือกบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ ให้ก.ค.ศ.นำไปพิจารณาประกอบการร่างหลักเกณฑ์ด้วย โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า น่าจะได้เห็นตัวร่างหลักเกณฑ์ของ สพฐ.เพื่อเสนอสำนักงานก.ค.ศ.พิจารณาต่อไป “แนวคิดที่ สพฐ.เสนอจะยึดตามหลักการของ รมว.ศึกษาธิการ ว่า การสอบไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะได้คนเก่งมาทำงานได้จริง และการเลื่อนตำแหน่ง หรือการเข้าสู่วิทยฐานะที่สูงขึ้น ไม่ได้พิจารณาจากผลงานที่เป็นกระดาษเท่านั้น แต่น่าจะพิจารณาผลของการปฏิบัติงานด้วย ซึ่งก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งด้วย”ผอ.สพร.กล่าวและว่า สำหรับการสอบครูผู้ช่วยทั่วไปนั้น เบื้องต้น สพฐ.มีแนวคิดว่าจะเสนอให้สอบภาค ก.ด้วยข้อสอบกลางที่ส่วนกลางเหมือนกับการสอบแข่งขันของข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ที่ต้องผ่านภาค ก.ก่อน จึงจะมีสิทธิไปสอบภาค ข.ที่เขตพื้นที่การศึกษา |