นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน (ICU) เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมรอแยล เบญจา โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสถานศึกษาที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียน ICU เข้าร่วมประชุม

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินนโยบายโรงเรียน ICU มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คัดเลือกจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียน ICU แล้วจำนวนทั้งสิ้น 6,964 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 4,469 แห่ง, สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 364 แห่ง และโรงเรียน ICU ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ 2,131 แห่ง

โดยสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านการศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนได้ 7 ด้าน คือ

1. ด้านคุณภาพ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำอย่างต่อเนื่อง, นักเรียนอ่านไม่ออก/เขียนไม่คล่อง, โรงเรียนไม่ผ่านการประเมิน, เด็กขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น

2. ด้านกายภาพ เช่น อาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม, ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หรือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ, ไม่มีห้องสมุด, ห้องน้ำชำรุดและไม่เพียงพอ, ขาดสื่อและวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น

3. ด้านบุคลากร เช่น ขาดผู้บริหารหรือเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย, ครูไม่ครบชั้น, ครูสอนไม่ตรงเอก, ขาดบุคลากรฝ่ายสนับสนุน เป็นต้น

4. ด้านการบริหารจัดการ เช่น นักเรียนขาดเรียนบ่อย, นักเรียนออกกลางคัน, ครูขาดทักษะในการจัดการเรียนรู้, ครูขาดการพัฒนาอบรมอย่างต่อเนื่อง, สวัสดิการครูไม่เพียงพอ เป็นต้น

5. ด้านโอกาสทางการศึกษา เช่น ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน, นักเรียนที่อยู่ติดชายแดนเดินทางลำบากและขาดความปลอดภัยในการเดินทาง ระยะทางจากบ้านไกลจากโรงเรียน เป็นต้น

6. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาด้านการจัดการขยะ ฝุ่นละออง และมลพิษทางอากาศ, ประสบภัยธรรมชาติ (น้ำท่วมขัง การพังทลายของดิน), ปัญหายาเสพติด, ครอบครัวแตกแยก, สภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน, ชุมชนขาดความศรัทธาต่อโรงเรียน เป็นต้น

7. ด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหารั้วชำรุด, เด็กเรียนร่วม, ขาดแหล่งเรียนรู้ เป็นต้น

เมื่อทำการวินิจฉัยปัญหาออกมาทั้ง 7 ประการแล้ว การดำเนินงานขั้นต่อไปคือ “การรักษา”  โดย สพฐ. จะคัดกรองและพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนของโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษ เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งรอดพ้นจากสภาวะวิกฤตทางการศึกษา ด้วยนโยบายโรงเรียนดีใกล้บ้าน (โรงเรียนแม่เหล็ก)” อันเป็นการควบรวมโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเชิงกายภาพและคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนเป็นสำคัญ ภายใต้การยอมรับของทุกคนในชุมชน ซึ่งเป็นยาชั้นดีหรือเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาโรงเรียน ICU รวมทั้งการเกลี่ยครู, นโยบายโรงเรียนประชารัฐ, การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชน ตลอดจนการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นหมอในท้องถิ่น เพื่อดูแลและแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาโรงเรียน ICU ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นโยบายโรงเรียน ICU เป็นการแก้ปัญหาจากคนในระดับพื้นที่ กล่าวคือ ไม่ใช่ส่วนกลางที่มีอำนาจสั่งการลงไป แต่เป็นการลงไปดูว่าโรงเรียนมีปัญหาด้านใด เพื่อจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรไปแก้ไขอย่างตรงตามความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาร่วมกับชุมชนและสถานศึกษา เพื่อยืนยันว่าโรงเรียนในเขตพื้นที่นั้น ๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ปัญหา โดยกระทรวงศึกษาธิการไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ICU มาก่อน เพราะแต่ละพื้นที่และแต่ละโรงเรียนมีปัญหาแตกต่างกัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง

นพ.ธีระเกียรติฯ กล่าวด้วยว่า นโยบายโรงเรียน ICU ยังตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ข้อ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการตามนโยบาย แต่ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหา และตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้โรงเรียน ICU หมดไป จากนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษาที่จะดูแลรักษาโรงเรียนของตนไว้ ไม่ให้กลับมาเข้า ICU อีกครั้ง

โอกาสนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ได้ชี้แจงถึงข่าวลือในแวดวงการศึกษาที่มีอยู่ในขณะนี้ เช่น การยกเลิกนโยบายโรงเรียนขนาดเล็ก, การไม่เกลี่ยครู, การปลดเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกจากตำแหน่ง, การใช้มาตรา 44 ยุบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น ซึ่งยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น จึงขอให้ทุกท่านทำงานต่อไปด้วยความสบายใจ
http://www.moe.go.th/websm/2017/feb/088.html