โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี “การศึกษา” ก็เช่นกัน
“การศึกษา”อีกหนึ่งการลงทุนที่หวังผลระยะยาว(ถ้ามีความรู้นำมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้) แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า…แล้วคนหนึ่งคนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อสะสมความรู้ ทักษะด้านวิชาการและชีวิตเท่าใด?
จากงานสภาการศึกษาเสวนา ครั้งที่ 20 เรื่อง “ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ” นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบนักเรียน 6.2 ล้านคน จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยสนับสนุนงบฯ5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน,ค่าหนังสือเรียน,ค่าเครื่องแบบนักเรียน,ค่าอุปกรณ์การเรียน,ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งนี้งบฯจัดการศึกษา ในส่วนของค่าใช้จ่ายรายหัว เป็นอัตราที่ใช้มานาน.
สพฐ.จึงได้ร่วมกับยูนิเซฟและคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์สำรวจการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอเรื่องข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15 ปี ในประเทศไทย ว่า จากการสำรวจโรงเรียน 250 โรง ครอบคลุม 24 เขตพื้นที่การศึกษา สำรวจความเห็นครูผู้บริหาร 2,463 คน ผู้ปกครอง 2,500 คน พบว่า สพฐ.โอนงบฯโครงการเรียนฟรี 15 ปี ถึงโรงเรียนโดยตรง ซึ่งพบปัญหาการโอนเงินล่าช้า อาทิ งบจัดซื้อหนังสือล่าช้าเฉลี่ยหลังเปิดเรียน 24 วัน ,ร.ร.ในเขตเมืองจ่ายค่าหนังสือสูงกว่า ร.ร.ในชนบท, ร.ร.มีความล่าช้าในการแจกอุปกรณ์การเรียนประมาณ 37 วันในภาคเรียน2 และ 17 วันในภาคเรียนแรก ,เงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนกว่า ร้อยละ 95 แจกเป็นเงินสด และจำนวน 2 ชุดนั้นไม่เพียงพอ ,งบฯด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น ร.ร.จัดได้ไม่ครบและต้องขอเพิ่มจากผู้ปกครอง
“พบว่าสถานศึกษามีงบฯจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี ที่ยังใช้ไม่หมด มากถึงร้อยละ 20 ของเงินที่ได้รับ เมื่อสิ้นปีงบฯที่สองของโครงการ มีมูลค่ารวม 8,200 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้ใช้เงิน อาจเนื่องจากระบบบัญชีโรงเรียนอ่อน ขาดประสบการณ์ในการจัดการทางการเงิน ขณะที่เขตพื้นที่ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียน 1 ครั้งต่อปี เท่านั้น”
นอกจากนั้น ระบบที่ให้สถานศึกษาเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อรับเงินจัดสรร แต่ขาดกลไกการดูแลที่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรมในการทำงาน ขณะที่ระบบสารสนเทศทางการศึกษา ขาดการบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดปัญหานักเรียนซ้ำซ้อน และเกิดการรั่วไหลของงบประมาณ
สำหรับข้อเสนอแนะนั้น คือ ควรมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน จัดสรรเงินให้ถึงตัวเด็กโดยตรง ปรับปรุงวิธีคัดกรองและช่วยเหลือเด้กยากจน ปรับปรุงระบบบัญชี ร.ร. ยกระดับบทบาทและความรับผิดชอบการกำกับดูแลของเขตพื้นที่ และควรให้ข้อมูลเรียนฟรี 15 ปีให้กับครอบครัวนักเรียนมากขึ้น ยกระดับความรับผิดชอบของร.ร. โดยเปิดเผยข้อมูลงบฯและผลการเรียนของเด็กต่อชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้ร.ร. ผู้บริหาร และครูแสดงความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานมากขึ้น
ด้าน ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นว่างบฯสำหรับเด็กยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กยากจน แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบฯการศึกษาสูงสุด คิดเป็น 1 ใน 5 ของงบฯแผ่นดิน โดยหวังให้ส่วนกลางจัดสรรเงินให้กับเขตพื้นที่และโรงเรียนโดยตรงมากขึ้น ที่ผ่านมาเราบริหารงานตามกระแส โดยไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ขณะนี้เรามีนักวิชาการที่ทำวิจัยด้านค่าใช้จ่ายการศึกษาอยู่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 2 คน มีข้อมูลต่างๆมากมาย คาดหวังว่าภายใน 2 ปีเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/edu-health/288368