วาง”รร.ประชารัฐ”โมเดลปฏิรูปศึกษา

192

 

“หมอจรัส” ยกโครงการโรงเรียนประชารัฐเป็นหนึ่งในโมเดลปฏิรูปการศึกษาในอนาคต ชี้ต้องสร้างความมีส่วนร่วม ปรับแนวความคิด ไม่ใช่รัฐเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว ลั่นความเสมอภาคไม่ใช่ความเหมือนกัน พร้อมรับฟังนโยบายนายกฯ 19 ก.ค.นี้ ด้าน “ศุภชัย” เผยการกระตุ้นให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลาน ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางแท้จริง เตรียมชงลดหย่อนภาษี 15-17% เอกชนสนับสนุนการศึกษา

ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ร่วมด้วยนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการคณะกรรมการอิสระฯ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชารัฐ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ โดย นพ.จรัสกล่าวว่า ในที่ประชุมมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการโรงเรียนประชารัฐในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของประเทศได้มาร่วมโครงการถึง 12 แห่ง และยังนำบุคลากรที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจัดการให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนในโครงการด้วย เพื่อที่จะให้โรงเรียนนำปรับใช้ในการบริหารและพัฒนา และโครงการนี้ถือเป็นการทดลองระบบครั้งใหญ่ของประเทศ ที่จะนำไปเป็นรูปแบบในการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต คือการสร้างความมีส่วนร่วม ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ ให้ตระหนักถึงเรื่องการศึกษา ว่าทุกคนจะต้องสนใจและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ไม่ใช่ให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว เป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาใหญ่

“การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะเป็นการสร้างระบบการมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่ว่ารัฐต้องเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว แน่นอนว่ารัฐต้องสนับสนุนคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนคนที่มีกำลังหรือมีฐานะจะต้องเข้ามาช่วยเหลือรัฐสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น เพราะความเสมอภาคไม่ใช่ความเหมือนกัน เนื่องจากแต่ละคนมีความจำเป็นไม่เท่ากัน จะให้โดยวิธีที่เหมือนกันทั้งหมดไม่ได้ และในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญคณะกรรมการอิสระฯ เข้าพบ ซึ่งทางคณะกรรมการอิสระฯ คงยังไม่มีข้อเสนออะไร แต่จะขอฟังนโยบายจากนายกฯ ก่อน ขณะเดียวกันในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการอิสระฯ เตรียมจะลงพื้นที่ไปดูโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการอิสระฯ ไม่ใช่แก้ปัญหาแต่ในห้องแอร์” ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว

ด้านนายศุภชัยกล่าวว่า ในโครงการโรงเรียนประชารัฐ ภาคเอกชนได้เข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบอินเทอร์เน็ต ไอซีที และสร้างห้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 40,000 ห้องเรียน ใน 3,300 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านพบว่า เรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องคือ การจัดทำข้อมูลนักเรียน ข้อมูลสถานศึกษา และการมีส่วนร่วมผู้ปกครอง ชุมชน ผู้นำชุมชน ตลอดจนการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และปัญหาของชุมชนที่ต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้

“การขับเคลื่อนให้โรงเรียนประชารัฐประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องทำให้เกิดกลไกการตลาด คือการกระตุ้นให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลาน ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษาอย่างแท้จริง และต้องให้โรงเรียนมีกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุน ที่มีกรรมการโรงเรียนเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ ในการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะต้องใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง (กค.) อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือด้านจัดการศึกษา จากเดิมร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นร้อยละ 15-17 อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้มองในเรื่องของผลตอบแทน เพราะเรื่องนี้เป็นจิตอาสาที่ทุกคนอยากเข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหา” คณะกรรมการอิสระฯ กล่าว.