สกศ.เสวนาค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ “รองเลขาฯ กพฐ.” เผยปัจจุบัน สพฐ.รับผิดชอบ นร.กว่า 6.2 ล้านคน พร้อมร่วมยูนิเซฟ มธ.สำรวจการใช้จ่ายงบ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้าน “ชัยยุทธ” เผยผลการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15 ปี แนะควรมีการปรับปรุงเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และจัดสรรเงินให้ถึงตัวเด็กโดยตรง และปรับปรุงวิธีคัดกรองและช่วยเหลือเด็กยากจน
ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดงานสภาการศึกษาเสวนา ครั้งที่ 20 เรื่อง “ค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านการศึกษา : บทเรียนจากประเทศไทยและนานาชาติ” โดยนายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบนักเรียน 6.2 ล้านคน จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 5 รายการ ทั้งนี้ งบจัดการศึกษาในส่วนของค่าใช้จ่ายรายหัวเป็นอัตราที่ใช้มานาน ส่วนงบด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจะใช้ตามนโยบายของ ศธ.และ สพฐ. ซึ่ง สพฐ.จึงได้ร่วมกับยูนิเซฟและคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สำรวจการใช้จ่ายงบ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านนายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. นำเสนอเรื่องข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการสำรวจติดตามการใช้จ่ายภาครัฐของโครงการเรียนฟรี 15 ปี ในประเทศไทย โดยสำรวจโรงเรียน 250 โรง ครอบคลุม 24 เขตพื้นที่การศึกษา สำรวจความเห็นครู ผู้บริหาร 2,463 คน ผู้ปกครอง 2,500 คน พบว่า สพฐ.โอนงบโครงการเรียนฟรี 15 ปีถึงโรงเรียนโดยตรง ซึ่งพบปัญหาการโอนเงินล่าช้า เช่น งบจัดซื้อหนังสือล่าช้าเฉลี่ยหลังเปิดเรียน 24 วัน, รร.ในเขตเมืองจ่ายค่าหนังสือสูงกว่า รร.ในชนบท, รร.มีความล่าช้าในการแจกอุปกรณ์การเรียนประมาณ 37 วันในภาคเรียน 2 และ 17 วันในภาคเรียนแรก, เงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนกว่าร้อยละ 95 แจกเป็นเงินสด และจำนวน 2 ชุดนั้นไม่เพียงพอ, งบด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้น รร.จัดได้ไม่ครบและต้องขอเพิ่มจากผู้ปกครอง อีกทั้งพบว่าสถานศึกษามีงบจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีที่ยังใช้ไม่หมดมากถึงร้อยละ 20 ของเงินที่ได้รับ เมื่อสิ้นปีงบสองของโครงการมีมูลค่ารวม 8,200 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้ใช้เงินอาจเนื่องจากระบบบัญชีโรงเรียนอ่อนแอ ขาดประสบการณ์ในการจัดการทางการเงิน ขณะที่เขตพื้นที่ฯ ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียน 1 ครั้งต่อปีเท่านั้น
สำหรับข้อเสนอแนะคือ ควรมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน จัดสรรเงินให้ถึงตัวเด็กโดยตรง ปรับปรุงวิธีคัดกรองและช่วยเหลือเด็กยากจน ปรับปรุงระบบบัญชี รร. ยกระดับบทบาทและความรับผิดชอบการกำกับดูแลของเขตพื้นที่ฯ และควรให้ข้อมูลเรียนฟรี 15 ปีให้กับครอบครัวนักเรียนมากขึ้น ยกระดับความรับผิดชอบของ รร. โดยเปิดเผยข้อมูลงบและผลการเรียนของเด็กต่อชุมชนและผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยให้ รร. ผู้บริหารและครูแสดงความรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานมากขึ้น
ด้านนายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเห็นว่างบสำหรับเด็กยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กยากจน แม้ว่า ศธ.จะได้รับงบการศึกษาสูงสุด คิดเป็น 1 ใน 5 ของงบแผ่นดิน โดยตนหวังให้ส่วนกลางจัดสรรเงินให้กับเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนโดยตรงมากขึ้น ที่ผ่านมาเราบริหารงานตามกระแส โดยไม่มีงานวิจัยมาสนับสนุน แต่ขณะนี้เรามีนักวิชาการที่ทำวิจัยด้านค่าใช้จ่ายการศึกษาอยู่ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 2 คน มีข้อมูลต่างๆ มากมาย คาดหวังว่าภายใน 2 ปีเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง.