เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 5 : การศึกษาภาคบังคับ คุณภาพต้องเท่าเทียมกัน
ทั้งประเทศ

00001
…………………………………………………………………………
เรารับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปนะครับว่าโรงเรียนในประเทศไทยของเรานั้น คุณภาพแตกต่างกัน (ผมขอกล่าวเฉพาะโรงเรียนของ สพฐ. นะครับ) และมีคนพยายามพูดปลอบประโลมผู้ปกครองเวลาลูกเข้าโรงเรียนดี เด่น ดังไม่ได้ ว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ก็เป็นโกหกคำโตที่ไม่เคยมีใครเชื่อถือเลยความจริงเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนนะครับ เราพยายามหลากหลายวิธีการ เช่น โครงการนำร่องต่างๆ แต่พอเรานำร่องแล้ว ได้ผลแล้วสำหรับโรงเรียนทดลอง แต่เราขยายผลช้า เรามีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประจำอำเภอ มีโรงเรียนดีประจำอำเภอ/โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล และโรงเรียนต้นแบบอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วประมาณ 10,000 โรง แต่ที่แย่งกันเข้าจริง ๆ มีประมาณ 300 โรงเท่านั้น โรงเรียนของ สพฐ. มีทั้งสิ้น 30,988 โรง (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 58) โรงเรียนอีกประมาณ 20,000 โรง ไม่ได้เป็นโรงเรียนที่เข้าโครงการใด ๆ เลย และยังไม่ค่อยได้รับอานิสงส์จากการทดลองโครงการต่าง ๆ อีกด้วย
ที่พูดมานี่ ผมไม่ได้ต้องการที่จะต่อว่าใคร เพราะผมก็มีเลือดเนื้อเชื้อไขของ สพฐ. หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อเหมือนกัน การที่เรามีโรงเรียนทดลองประเภทต่าง ๆ แล้วเราขยายผลช้าก็จะเกิดปัญหาความลักลั่นตามมา คุณภาพของนักเรียนก็จะออกมาหลายแบบตามที่เห็นกันอยู่ ความเห็นของผมก็คือ
1. เราต้องเปลี่ยน Mindset ก่อน คือ มีเจตคติที่ดีและเชื่อมั่นว่า โรงเรียนในเมืองกับชนบทห่างไกล โรงเรียนที่เลือกเด็กได้กับเลือกเด็กไม่ได้ โรงเรียนที่อยู่ในชุมชนที่พร้อมกับไม่พร้อม สามารถทำให้โรงเรียนมีคุณภาพดีเหมือนกันได้
2. ปรับมาตรฐานโรงเรียนใหม่ เพราะมาตรฐานโรงเรียนในปัจจุบันนี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่เราพึงพอใจ (minimum requirement standard) โรงเรียนผ่านมาตรฐานกันทั้งประเทศ เราก็ยังรู้สึกไม่ค่อยน่าพอใจสักเท่าไรนัก
3. ต้องทุ่มเทสรรพกำลังช่วยเหลือโรงเรียนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน หรือด้อยคุณภาพ โดยเน้นเรื่องการจัดการสมัยใหม่ เอาเยี่ยงภาคเอกชน เราคงของบประมาณมาเพื่อการศึกษาไม่ได้มากกว่านี้อีกแล้ว ดังนั้น เราคงต้องลด ละ เลิก โครงการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (non value – added)ต่อเด็กของเราแล้วหันมาทุ่มเทให้ถูกจุดดีกว่า
การศึกษาภาคบังคับ เป็นการศึกษาที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ (ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายลงมาบังคับถึงเด็กปฐมวัย) และไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่เราจะให้การศึกษาที่มีคุณภาพต่างกันกับเด็กของเรา ตัวชี้วัดที่สามารถนำไปสร้างเครื่องมือวัดได้ตรงที่สุดว่าคุณภาพการศึกษาของเราไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะอยู่ในบริบทต่างกันก็คือ คุณภาพผู้เรียน ตัวชี้วัดอ้อมๆ ก็คือ จะไม่มีการฝากเด็กเข้าเรียน จะไม่มีการเรียกเก็บเงินกินเปล่า (แป๊ะเจี๊ยะ) จากโรงเรียนอีกต่อไป เพราะไม่มีใครฝากเด็กและไม่มีใครจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะ เนื่องจากเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า “มันจะเป็นไปได้หรือ ฝันไปหรือเปล่า” ก็ต้องเชิญท่านกลับไปอ่านข้อ 1ใหม่ครับ