นายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีโครงการจัดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Students Assessment) ที่ดำเนินการโดย OECD หรือองค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ประกาศผล PISA 2015 อย่างเป็นทางการ โดยมีประเทศเข้าร่วมการทดสอบ 72 ประเทศ และกลุ่มเศรษฐกิจ เป็นการทดสอบวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ในเด็กอายุ 15 ปี ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 55 (วิทยาศาสตร์ อันดับที่ 54 การอ่าน อันดับที่ 57 และคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54) โดยมีผลการทดสอบลดลงจากการสอบเมื่อปี 2012 ในทุกวิชา ขณะที่เวียดนามมีผลคะแนน PISA ขยับขึ้นมาในอันดับ 8 ของโลก ซึ่งผู้บริหาร ศธ.ระบุว่าสาเหตุมาจากเด็กต่างจังหวัดเข้าไม่ถึงไอซีที ทำให้คะแนนออกมาไม่ดี และเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ใช้ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา รวมทั้งหลักสูตรของไทยไม่ได้อิงมาตรฐานนานาชาติ แต่การประเมินของ PISA จะเน้นประเมินในเรื่องกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่ง ศธ.อาจต้องปรับทั้งหลักสูตร และการประเมินที่เน้นกระบวนการคิดมากขึ้นนั้น จริงๆ แล้ว มีแนวทางที่แก้ไขปัญหานี้ได้โดยใช้เวลาไม่นาน และได้เสนอ ศธ.แล้ว แต่ ศธ.ไม่สนใจ อาทิ เปลี่ยนวิธีการออกข้อสอบ ซึ่งคนที่จะเปลี่ยนได้ในระดับชาติ และนำไปสู่การออกข้อสอบที่ดีในระดับชาติในที่สุด คือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดย สทศ.ต้องออกข้อสอบไปข้างหน้า ไม่ใช่ออกข้อสอบตามหลักสูตร แม้เด็กจะสอบตกจำนวนมากก็ไม่เป็นไร แต่จะต้องมีแผนที่จะทำเด็กสอบตกน้อยลงเรื่อยๆ

นายภาวิชกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครู และปรับวิธีการผลิตครู แต่ปัญหาในขณะนี้คือเมื่อมีตัวเลขว่าใน 10 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนครู 2 แสนคน มหาวิทยาลัยก็แข่งกันผลิตครูจำนวนมาก หรือกรณี ศธ.มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เป็นผู้ผลิตครู ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน มรภ.กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนแทบจะทุกสาขาวิชา จนไม่เหลือศักยภาพของความเป็นสถาบันผลิตครูเหมือนในอดีต และซ้ำเติมด้วยการเน้นหารายได้ โดยผลิตครูปีละหลายหมื่นคน แต่ความสามารถในการเป็นครูไม่มีแล้ว ทั้งๆ ที่การขาดแคลนครูถึง 2 แสนคน ถือเป็นโอกาสที่จะผลิตครูที่มีคุณภาพขึ้นมาทดแทน ดังนั้น ศธ.จำเป็นต้อง 1.รื้อระบบผลิตครู 2.ทำเป็นระบบปิดตั้งแต่ต้น ให้เป็นนักเรียนทุนโดยนับอายุราชการตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน และ 3.ต้องตั้งสถาบันผลิตครูที่มีมาตรฐานของฝ่ายผลิต โดยถือเป็นวาระแห่งสถาบันที่มหาวิทยาลัยจะต้องร่วมกันทำ เช่น การผลิตครูวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และมาต่อยอดวิชาครูที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ รวมทั้งต้องมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ สถาบันใดที่ผ่านมาตรฐานจึงจะผลิตครูได้ และรัฐบาลจะต้องดูแล ตั้งแต่การให้ทุนนักเรียน ให้ทุนสถาบันการผลิต

นายภาวิชกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ศธ.ต้องปรับหลักสูตร เพราะปัจจุบันเด็กเรียนมากเกินไป ปรากฏว่า ศธ.มีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่ไม่ได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการลดเวลาเรียน แต่ให้โรงเรียนไปคิดรูปแบบกิจกรรมนอกห้องเรียนเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมทั่วไป เช่น ลูกเสือ กีฬา ร้องเพลง เป็นต้น และไม่ใช่กิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียน ล่าสุดมีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งมาเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่าโรงเรียนชนะเลิศการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง เป็นเพราะอานิสงส์จากนโยบายลดเวลาเรียน ขณะที่การลดเวลาเรียนในต่างประเทศ อย่างเกาหลีหรืออินเดีย เมื่อลดเวลาเรียนในห้องเรียน ก็จะเพิ่มกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน ทำให้เด็กมีการเรียนรู้ดีขึ้น

“มีอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตรทั้งของไทยและต่างประเทศ บอกว่าเห็นผล PISA ของไทยแล้วเศร้า เพราะเคยวิจัยเกี่ยวกับนักเรียนชั้น ป.1-2 พบว่าเด็กกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาก แต่พอเด็กเรียนสูงขึ้นไปในระดับประถมและมัธยม กลับพบว่าเด็กยิ่งลดความอยากรู้ลงเรื่อยๆ อาจารย์ท่านนี้บอกว่า กลายเป็นครูเป็นผู้ที่ทำลายความอยากรู้ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทย ถือเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ เลวร้ายยิ่งกว่าพวกที่ชอบตัดไม้ทำลายป่าเสียอีก ทั้งนี้ ผมอยากเสนอให้ ศธ.ปรับหลักสูตร เพราะปัจจุบันซ้ำซ้อนเยอะมาก ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก อย่างชั้น ป.1 ต้องเรียนวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ไม่จำเป็น ควรจะให้สอนให้เด็กอ่านให้แตกฉาน เพราะถ้าเด็กอ่านไม่แตกฉาน ต่อให้เอาวิชาอะไรมาสอนเด็ก เด็กก็เรียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กไทยยังอ่านไม่แตกฉานจากคะแนน PISA ด้านการอ่าน ที่อยู่ในอันดับที่ 57” นายภาวิชกล่าว
http://www.matichon.co.th/news/392799