สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลวิจัย “การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน” ที่สะท้อนถึงข้อมูลตลาดแรงงานไทยว่าขาดแคลนแรงงานฝีมือ และผู้ที่จบปริญญาตรีขณะนี้ล้นตลาดงาน เนื่องจากระบบการศึกษาไทยผลิตบุคลากรไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการปูพื้นฐานทักษะวิชาชีพให้แก่เด็กนักเรียนทุกช่วงวัย เพื่อเตรียมกำลังคนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ควบคู่ไปกับการยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบัน


“ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว”
ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า จากข้อมูลการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ภายใต้โครงการการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานไทยในวันนี้มีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพ ปวช., ปวส. และ ม.6 ที่มีทักษะอาชีพพอที่จะทำงานได้ และสายวิชาชีพนี้ยังเป็นกลุ่มที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้นในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

แรงงานกลุ่มนี้จึงเป็นกำลังสำคัญในการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จนเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อมูล Human Capital Report 2016 พบว่าสัดส่วนของแรงงานฝีมือของประเทศสวีเดน, เยอรมนี, สิงคโปร์ และฟินแลนด์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 48 ส่วนประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 14.4 ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก

“โครงสร้างแรงงานที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้คือการมีแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 20 และเมื่อดูข้อมูลจะพบว่า ผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2559 มีอัตราว่างงานถึง 1.79 แสนคน อีกทั้งในหลาย ๆ จังหวัดของไทยยังเป็นเศรษฐกิจแบบ 2.0 ทำให้การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ 3.0 และ 4.0 ได้ จำเป็นจะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานในสายวิชาชีพ”

“การผลิตคนในสายอาชีพไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่จบอาชีวะเพียงอย่างเดียว แต่หากขยายไปสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยให้นักเรียนเรียนวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เด็กที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อสามารถหางานทำได้ ที่สำคัญ ยังช่วยให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุค 4.0 และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานฝีมืออีกไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน”

“วันนี้ภาคการศึกษาของไทยเริ่มมีการขยับตัวบ้างแล้ว แต่หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องร่วมกันฝึกทักษะวิชาชีพให้กับเด็กนักเรียน รวมไปถึงคนที่อยู่ในวัยทำงานตอนต้นที่ออกไปทำงานแล้วให้มีทักษะวิชาชีพที่ดีขึ้น ซึ่งหากสามารถทำควบคู่กันไป เชื่อว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนที่ชัดเจน และคาดว่าไทยจะก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ได้เต็มตัวในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575”

“ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล” รองคณบดีด้านการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากผลการวิจัยเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่าเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาจะมีทักษะชีวิต มีความเข้าใจในเรื่องของครอบครัว และความเข้าใจนี้จะเริ่มลดลงไปเมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่สอนให้เด็กมีรูปแบบ และวิธีการคิดที่เหมือน ๆ กัน

“แม้ว่าเราจะมีการเรียนการสอนในเรื่องของการงานอาชีพอยู่ในหลักสูตรแกนกลาง แต่ระบบการศึกษาใส่เพียงเนื้อหาในลักษณะการท่องจำเข้าไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้บอกว่าชีวิตจริงนั้นมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และที่สำคัญยังขาดความเข้าใจในการปลูกฝังทักษะวิชาชีพ”

“สสค.จึงวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงาน, การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ และการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพของนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่จะช่วยให้แต่ละจังหวัดรู้จักตัวเองมากขึ้น และมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะต้องทำอย่างไรในการพัฒนาเด็กให้ตอบโจทย์พื้นที่ในเรื่องแรงงาน โดยใช้จังหวัดเป็นฐานกำหนดยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชน”

ถึงตรงนี้ “ดร.เกียรติอนันต์” สรุปบทเรียนการศึกษา เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน จากการทำวิจัยครั้งนี้ว่าการจัดการศึกษาจำเป็นต้องดูนโยบายของประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อลงไปในระดับพื้นที่ จะต้องดูบริบทของจังหวัดนั้น ๆ เป็นสำคัญ ดังนั้น การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จึงต้องตอบโจทย์จังหวัดของตัวเองให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

“บทเรียนและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่พบจากการทำงานในครั้งนี้มี 3 ข้อคือ 1) โรงเรียนต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามโมเดลประชารัฐ 2) ครูต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่ทีมจัดการเรียนรู้ ที่ไม่ได้แค่สอน แต่จะเป็นผู้สร้างทีมในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กก้าวไปสู่โลกในศตวรรษใหม่ และเป็นการสอนเพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการคิดไม่ยึดติดกับตำรา และ 3) จากสิ่งที่รู้จะต้องเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่สร้างอนาคต เพราะในโลกอนาคตจะเกิดอาชีพใหม่ ๆ อีกมากมาย”

ทั้ง 3 ข้อนี้คือการจัดการเรียนการสอนในโลกยุค 4.0 ดังนั้น การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง จึงมี 4 เรื่องสำคัญคือ หนึ่ง ประเทศไทยไม่ใช่จังหวัด แต่ผลรวมของทั้ง 77 จังหวัดคือประเทศ สอง โรงเรียนไม่ใช่ศูนย์กลาง แต่จะเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ สาม ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมขบวนในการช่วยกันทำงาน และสุดท้ายคำว่าตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัด หรือการพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรารู้จักข้อมูลทุก ๆ ด้านในจังหวัดของตนเอง”

อันนับเป็นแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่จะสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพให้แก่เยาวชน ในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง