ทปสท. จี้ ทปอ.เปิดผลวิจัยเปิด-ปิดอาเซียน และยกเลิก ชี้ผลได้ไม่คุ้มเสีย
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) กล่าวถึงกรณีการเปิดปิดเรียนมหาวิทยาลัยตามอาเซียน ว่า ทปสท.เคยเสนอให้มีการยกเลิกการเปิดปิดเรียนมหาวิทยาลัยตามอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2558 และเสนออีกหลายครั้ง ล่าสุดในปี 2559 ตนและคณะได้ทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเฃียน” พบว่า คณาจารย์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา(ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 86.33 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียน ร้อยละ 62.33 เห็นว่าการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียนส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของไทย ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวเคยมีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยก็ได้นำเสนอผลการวิจัยไปยังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทปอ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทปอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สภานิติบัญัญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนล่าสุดมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งหมด มหาวิทยาลัยราชภัฏประมาณสิบกว่าแห่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่งทยอยกลับมาเปิดตามปกติแล้ว
“กรณีการเปิดภาคเรียนตามอาเซียนคงไม่ต่างจากกรณี ม.44 ห้ามนั่งแค็ปและท้ายรถกระบะ ที่มีผู้ออกมาต่อต้านจำนวนมากเนื่องจากเป็นการออกกฎหมายไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยในชนบทส่วนใหญ่ที่ใช้รถกระบะในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ การเปิดภาคเรียนตามอาเซียนก็เช่นกันเป็นการกำหนดนโยบายที่ขัดกับสภาพภูมิอากาศ การจัดการศึกษา ระบบราชการ วันหยุด ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทย แม้จะมีผู้ออกมาเรียกร้องเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ภายหลังครบหนึ่งปีที่นโยบายนี้เริ่มใช้ แต่กลับไร้เสียงตอบรับจากทปอ.ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย แล้วขอความร่วมมือไปยังสถาบันอุดมศึกษาทุกกลุ่มเพื่อให้ปรับเปลี่ยนตาม อย่างไรก็ตาม ทปอ.ได้ตั้งคณะทำงาน โดยเป็นทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อวิจัยเรื่องดังกล่าว เบื้องต้น ทราบว่าได้มีการส่งมอบรายงานการวิจัยให้ ทปอ.แล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ทปอ.ยังไม่เคยเปิดเผยผลการวิจัยดังกล่าวเลย”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว
ประธาน ทปสท. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อยากให้ ทปอ. พิจารณาว่าหากจะคงเปิดภาคเรียนตามอาเซียน ในเดือนสิงหาคมนั้น จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร 1. ปัญหาการเรียนการสอนที่ตรงกับช่วงเทศกาล สภาพอากาศร้อนในเดือนเมษายนในภาคเรียนที่สอง 2. ปัญหาวงรอบปีงบประมาณ และวงรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของอาจารย์ที่ไม่สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งงบประมาณพัฒนานักศึกษาและการประเมินอาจารย์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ 3. ปัญหาการเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การสมัครงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ช่วงเดือนเมษายน ซึ่งนักศึกษายังไม่จบการศึกษา
4.ปัญหาการเปิดเรียนไม่ตรงกันระหว่างอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งผลกระทบทั้งการเข้าศึกษาต่อ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และวิถีชีวิตครอบครัวจากการเปิด-ปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน 5. แม้จะอ้างเปิดเดือนสิงหาคมตามอาเซียนแต่ทั้งสิบประเทศในอาเฃียนก็เปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน และยังมีระบบการศึกษา และหลักสูตรที่แตกต่างกัน รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในโลกนี้ก็มีระบบการศึกษาและการเปิด-ปิดภาคเรียนแตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้ ทปอ.นำประเด็นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เข้าสู่ที่ประชุม ทปอ.ในวันที่ 23 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต พร้อมขอให้เปิดเผยผลการวิจัยของ ทปอ. ต่อสาธารณะด้วย
สำหรับกำหนดการประชุม ทปอ.ในวันที่ 23 เมษายน 2560 ที่ มธ. ศูนย์รังสิต จะเริ่มประชุมในเวลา 09.00-12.30 น. โดยครั้งนี้ จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ต่อด้วยพิธีมอบรางวัลการประกวดผลงานโครงการ “บัณฑิตไทยไม่โกง” ประจำปี 2559
จากนั้นแถลงข่าวการประชุม ทปอ.โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะประธาน ทปอ.ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. และผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการ ทปอ.ร่วมแถลงข่าว
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/750568