นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ในตอนที่ 1 ได้เล่าแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ในการพัฒนานักเรียนอาชีวะ เพื่อให้เรียนจบแล้วสามารถหางานทำได้ คือ “ทำงานเป็น ทำงานได้” ตามที่นายจ้างต้องการ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้โดยการแปลงโรงงานเป็นโรงเรียน เพราะถ้าหากจะให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็ต้องเอาโรงงาน 4.0 สอนให้เป็นเด็กอาชีวะ 4.0

นพ.ธีระเกียรติกล่าวย้ำว่า “นายกรัฐมนตรีบอกว่า 4.0 คุณต้องไปถามว่าคนไทยอยู่ที่ 3.0 เท่าไหร่ ถ้าคุณจะไป 4.0 มาต้องเริ่มจาก 3.0 ประเทศไทยอยู่ 2.0 กี่คน 1.0 กี่คน แล้ว 0.0 กี่คน มันไม่ใช่ทุกคนจะกระโดดไป 4.0 ได้ มันก็ต้องเตรียมนะ ทีนี้เราก็ต้องประเมินศักยภาพของภาครัฐในการจัดการศึกษา เพราะขณะนี้จริงๆ เราตอบโจทย์ได้แบบไหน ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด”

โครงการเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียนจึงเป็นอีกโครงการที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษากล่าวว่า “ถ้าพ้นจากตำแหน่งเมื่อไหร่ โครงการนี้เป็นนโยบายที่แฮปปี้ที่สุดอันหนึ่ง เด็กเป็นหมื่นๆ คนได้งานทำ และเป็นแสนในอนาคต”

ในตอนที่ 2 เป็นการเล่าเรื่องการปฏิรูปด้านอื่นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือ โครงการสร้างครูภาษาอังกฤษพันธุ์ใหม่ นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า “ผมอยู่ในตำแหน่งอีกปีกว่า เรามีเวลาแค่นี้ เราจะโฟกัสเรื่องอะไร ความจริงมีหลายเรื่องที่ทำ แต่ว่าพอเล่ามันยาว ไม่ว่าจะเรื่องการเตรียมตัวพัฒนาครู ครูต้องเป็นต้นแบบ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกว่าครูต้องเป็นต้นแบบ ครูต้องตั้งฐานะตัวเองให้ถูก พระองค์ตรัสอย่างนี้”

“สิ่งที่ผมมองคือเรื่องภาษาอังกฤษ ถ้าอยู่ในวงการเศรษฐกิจท่านจะทราบว่า ทุกครั้ง อย่าง IMD International Agency มาประเมินเรา ความสามารถในการแข่งขันเราต่ำ ครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดของการปฏิรูปภาษาอังกฤษในประเทศ”

“เราคิดว่าเราต้องเปลี่ยนครูก่อน เราสำรวจพบว่าครูภาษาอังกฤษมี 45,000 คน ถามว่าเมื่อก่อนเขาฝึกยังไง เราละเลยเขามานาน จริงๆ เทรนนิงเขานิดๆ หน่อยๆ สิ่งแรกที่ผมเข้ามาทำตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วย คือว่าเราลองทดลองดูเขา เรียกว่า Boot Camp เริ่มครูที่เก่งๆ ก่อน ปรากฏว่าคัดรอบแรกได้ 350 คน แทนที่จะส่งเขาไปต่างประเทศหมด…”

“ผมเล่าตัวเลขเงินที่ใช้ให้ฟังว่า เราลงทุนคุ้มมาก คุ้มจนกระทั่งวันนี้สำนักงบประมาณตัดงบประมาณ ผมเลยขอกลับไปใหม่ ทำไมรู้ไหม เมื่อก่อนงบประมาณในการเทรนภาษาอังกฤษปีละ 600 ล้าน ก็จัดอบรม ทำ CD แจก ปุ๊บๆๆ แล้วก็หายไปกับสายลม ไม่รู้ครูคนไหนได้อบรมบ้าง”

ผมก็เลยเชิญ British Council มา ขอให้ช่วยทำ Boot Camp คือครูเรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงสามทุ่มเลย 37 วัน เข้มข้นมาก กับครูฝรั่ง ทั้งวิธีการสอน ทั้งเพิ่มความมั่นใจ และในนั้นเราได้มาสเตอร์เทรนเนอร์ประมาณ 30 คน ในรอบแรก จากครั้งนั้น เมื่อมีนาคมปีที่แล้ว (2559) ได้โมเดลว่า เอาครูมาจากทั่วประเทศ จัดตั้ง Boot Camp 18 ศูนย์ทั่วประเทศ เอาฝรั่งมาเทรนในแนว Boot Camp ให้ครูพื้นที่ทั้งหมดทยอยเข้ามาเทรนแบบนี้ เสร็จแล้วพอเขาออกไปสอนจริงในโลกจริง ครูฝรั่งตามไปดู หรือกลับมารายงาน โดยคาดว่าภายใน 5 ปี ถ้าโครงการนี้ทำตามแผน ในปี 2561 จะได้ครูภาษาอังกฤษที่เก่งๆ 15,000 คน ถ้าทำ 5 ปีจะครบ 45,000 คน

“แต่ขณะนี้ผมคิดว่าเราต้องเร่งให้ต่อเนี่อง เราต้องอัปเกรดครู เพราะเด็กเขาอยู่กับครู เด็กเขาไม่มีทางเลือก จะให้เขาไปให้ คริส หอวัง มาสอน ให้ แอนดรูว์ บิกส์ มาสอนก็ได้ แต่จะมีคริสกี่คนเอง จะเดินทางให้สอนเด็ก 7 ล้านคนไหวไหมล่ะ เราก็ต้องเอาครูในโรงเรียนเป็นหลัก”

ค่าใช้จ่ายอันนี้ยังไม่รวมอย่างอื่น เช่น ต้องทำอุปกรณ์ให้ล้อกันไปด้วย อุปกรณ์การสอน สื่อการเรียนการสอน ต้องมีนโยบายทางภาษาที่ชัด รวมทั้งเรื่องการประเมิน

เด็กเขาไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษได้แค่ชั่วข้ามคืน ไม่มีทางลัด ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการวางรากฐานครั้งใหญ่ของประเทศ

ทาง British Council บอกผมว่า ครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ British Council ในประเทศไทย ตั้งแต่เขาตั้งมา 60 ปี นี่เป็นนโยบายที่ทำใหญ่ที่สุดของ British Council ในเอเชีย และเป็นนโยบายที่ทำใหญ่ที่สุดในอันดับ 2 ของโลก ทราบไหมว่าต่อหัวต่อคนเราใช้ประมาณ 15,000 บาท ฮ่องกงเขาบอกผมว่า 3-4 ปีที่ผ่านมาเขาใช้เงินทำโครงการแบบนี้ 5,000 ล้านเหรียญฮ่องกง คนเขาน้อยกว่าเรา เพื่อพัฒนาครูภาษาอังกฤษ เกาหลีก็บอกผมว่า ไม่บอกตัวเลขได้ไหม แต่เยอะมาก

“เนื่องจากผมทำแบบนี้ มันถูกและได้ผลใช่ไหม สำนักงบประมาณส่งตัวเลขมาให้ผมดู ปีหน้าตัดเหลือ 500 ล้าน ผมเขียนกลับไป ผมต้องการ 1,000 ล้านบาท เพราะผมต้องการเร่งให้เร็วขึ้น ผมพบว่าพอเราทำเรื่องภาษาอังกฤษ สามารถดึงคนเข้ามาช่วยกันเยอะ ประชารัฐเอย ใครต่อใคร เขาก็รู้ว่าประเทศไทยอ่อนภาษาอังกฤษ เพียงแต่ปัญหาของผมก็คือว่า เด็กเขาไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษได้แค่ชั่วข้ามคืน ไม่มีทางลัด ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำเป็นการวางรากฐานครั้งใหญ่ของประเทศ”

ครูภาษาอังกฤษต้นแบบจำนวน 45,000 คน แบ่งเป็น 2 ระดับ ทั้งมัธยมและประถม ตอนนี้กำลังคิดเผื่อแผ่ไปยังเอกชน เขาดูแลเด็กประมาณ 2 ล้าน คน และกำลังคิดใช้โมเดลอันนี้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย มันจะได้ไปด้วยกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อครู 45,000 คนที่ได้รับการพัฒนา มันต้องมีคนช่วยเขา เสริมเขา เนื่องจากรุ่นแรกเราได้มาสเตอร์เทรนเนอร์ประมาณ 30 ขณะนี้กลุ่มนี้กระจายอยู่ช่วยกับครูฝรั่ง และครูฝรั่งมีสัญญาอย่างน้อย 5 ปี

สำหรับ 18 ศูนย์หรือ 18 ภาคการบริหาร ตอนนี้ที่เรามีที่เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช ชลบุรี พิษณุโลก กรุงเทพ อุบลฯ โดยปีนี้จะทำให้ได้ 8 ศูนย์ Boot Camp ตอนนี้เราวางโครงการไว้ 5 ปี ค่าใช้จ่ายศูนย์ละ 10 ล้าน เพราะฉะนั้น 18 ศูนย์ ก็ 180 ล้านบาทต่อปี ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานให้มัน เราใช้งบประมาณกระทรวงศึกษา 500,000 ล้านบาท มันเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการใช้เงิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้เงินให้ถูกทางและไม่รั่วไหลนะ เงินก็ถึงเด็ก และต้องไม่รวมศูนย์ ผมว่าดี

“ครูที่มาเทรนใน Boot Camp เป็นครูในระบบ เสาร์อาทิตย์สามารถให้ไปสอนเด็ก กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) ซึ่งเป็นการศึกษานอกระบบ หรือสอนพ่อแม่เด็กก็ได้ แล้วให้ผลตอบแทนครูเขาไป ครูก็จะมีแรงจูงใจ เขาได้สอนทั้งในระบบ นอกระบบ รวมทั้งพ่อแม่เด็กอีก ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกชอบ บอกว่าจะหาเงินมาให้ 20 ล้านเลย ผมก็บอก เอาเลย เพราะ กศน. ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน”

ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ “อย่าเถรตรง”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาให้ความเห็นว่านโยบายนี้ โดยตัวนโยบายดี แต่ถ้าหากว่าโรงเรียนมีความสามารถในการจัดการหลังเลิกเรียนไม่ดีอาจจะเป็นดาบสองคมได้ ผมพาท่านนายกฯ ไปดู ไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง เช่น มีโครงการปลูกเห็ด ร้อยลูกปัด เกือบจะทุกที่ แต่โรงเรียนที่ทำดีๆ ก็มี ต้องให้เครดิต แต่เรื่องนี้ต้องดูนโยบายของกระทรวง ที่ผ่านมานโยบายทุกอย่าง “ตัดเสื้อตัวเดียว(ให้ทุกคนใส่)”

“เด็กเขาบอกผมว่า ท่านรัฐมนตรี นโยบายนี้ผิด เขาไม่ได้เรียนหนังสือเลย ครูบอกว่าไป Self-Study เพราะฉะนั้นต้องปรับในแง่แนวคิดอีก คือเปลี่ยน แทนที่จะให้เด็กเรียนอยู่ในห้องเรียน ออกมาเรียนจากของจริง ให้ทำกิจกรรม แต่พอไปเรียกว่าลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คนไม่เข้าใจก็ทำแบบเถรตรงเลย คือลดเวลาเรียนจริงๆ เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องระวัง

ตอนนี้พยายามทำความเข้าใจว่า คือไม่อยากแค่ว่ามันเป็นนโยบายที่กระทรวงสั่ง Top-Down แล้วทุกคนก็ต้องพยายามทำเอาใจนาย ก็เลยคิดเมนู มีแต่ร้อยลูกปัด กับปลูกเห็ด ตอนนี้พยายามสื่อสารให้เข้าใจความหมายลดเวลาเพิ่มเวลารู้ว่าคืออะไร โรงเรียนต้องเปลี่ยนวิธี อะไรประมาณนี้

“ถ้าเลิกก่อนได้ แต่ต้องให้อยู่ในโรงเรียน แม้กระทั่งทำกิจกรรม ถ้าครูไม่เข้าใจ เขาก็ให้เด็กไปเล่น แล้วบอกทำกิจกรรมแล้วและครูก็ไปทำอย่างอื่น มันก็มีปัญหาคือโรงเรียนเยอะ คุณคุมยังไงก็ไม่ทั่ว เพราะฉะนั้น ตัวโรงเรียนเองมันจะดีในบริบทซึ่งคนบริหารเข้าใจมัน ตอนนี้ก็เลยพยายามทำความเข้าใจว่าอย่าเถรตรงนะ เถรตรงก็คือลดเวลาเรียนก็เลยลดไปเลย”

“ผมว่ามันไกลเกินกว่าที่จะไปบอกให้ยกเลิก ก็พยายามปรับ ผมว่าปล่อยให้เป็นธรรมชาติ มันไปไม่ได้ของมันเอง เมื่อเราให้อำนาจโรงเรียน มันก็จะมีคนที่ไปไม่ได้ ก็ให้โอกาสเขาเปลี่ยนของเขา ส่วนบางที่ที่เขาทำดี ไปยกเลิกมันก็เสียหายเหมือนกันนะ บางที่ที่เด็กเมื่อก่อนนั่งอยู่ในห้องเรียนไม่ให้ทำอะไร เรียนๆ กันตาย ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ก็ปล่อยเด็กออกมาเรียนรู้ โดยครูจัดกิจกรรมที่ดีจริงๆ มีนะที่พาไปดูของจริง”

โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ครูต้องมีความคิดสร้างสรรค์เยอะ ทีนี้ถ้าคุณไม่มีความคิดสร้างสรรค์คุณก็ไปใช้เมนูเดิมที่คุณทำได้ เช่น ร้อยลูกปัด ปลูกเห็ด แต่เราก็ช่วยส่งเมนูไป เหมือนเมนูอาหารให้เลือก

โครงการนี้ผมว่าไปเลียนแบบสิงคโปร์มา สิงคโปร์เขามีนโยบาย Teach less Learn more แต่สิงคโปร์ต้องอย่าลืมว่าเขาเรียนภาคเช้าภาคบ่ายนะ เขาเรียนน้อยแต่ปรากฏว่าเขาเรียนเรื่องสำคัญ ของเราเรียน 8 สาระ เด็กเล็กๆ ก็เริ่มจาก 8 สาระ โทษที จนไร้สาระไปเลย และผมเพิ่งจับได้ว่า 2 ทุ่มครูสั่งการบ้านทางไลน์ ต่างประเทศเขาทำวิจัยเด็กอนุบาลถึง ป.6 ไว้ว่า การบ้านไม่ได้ช่วยให้เด็กเก่งขึ้น ทีนี้ปัญหาของบ้านเราคือมันแข่งกันเยอะ แล้วพบว่า การบ้านมันติวเด็กเพื่อไปสอบ มีคนส่งมาให้ผม ปัจจุบันมีเว็บไซต์รับทำการบ้านด้วย ชั่วโมงละ 150 บาท สนนราคาทั้งในห้าง 10 บาท ยัน 200 บาท และมีเว็บไซต์รับทำรายงาน

 

ปรับวิทยฐานะครู ยกเลิกงานขยะ

สำหรับการปรับวิทยฐานะ ที่ครูต้องทำผลงานวิชาการ ขณะนี้ได้ปรับใหม่ เน้นการพัฒนาผู้เรียน ยกเลิกงานขยะ อันนี้คือเส้นทางใหม่

ถามว่าทำไมครูต้องทำ “วิทยฐานะ” ทำไมต้องไปจ้างทำ เพราะมีค่าตอบแทนหรือค่าตำแหน่งในแต่ละระดับชำนาญการ 3,500 บาทจนถึงชำนาญการพิเศษ 26,000 บาท

เมื่อก่อนด้วยความเข้าใจของคนทั่วไปว่า ถ้าครูจะเก่งต้องไปทำวิทยานิพนธ์ แต่ความจริงพบว่า อย่างหมอ เก่งขึ้นโดยการดูคนไข้มากขึ้น หรือครูเก่งเพราะทำงานอยู่กับเด็กสอนหนังสือให้มากขึ้น แล้วก็พัฒนาตนเอง ไม่ต้องไปเขียนวิทยานิพนธ์ เมื่อก่อนนี้ตรงนี้ปีเดียวก็ได้วิทยฐานะแล้ว หรือคนเขาทำวิทยานิพนธ์ 3 ปีก็ได้

กระบวนการใหม่ล่าสุด การได้วิทยฐานะมาจาก ครูต้องมีชั่วโมงสอนอย่างน้อย 800 ชั่วโมง จากที่สอนอยู่ 900-1,000 ชั่วโมงต่อปี บวกกับคุณต้องไปอบรมคอร์สซึ่งไม่ใช่ส่วนกลางจัดส่งไป แต่เป็นคอร์สที่เหมาะ ที่ถูกรับรอง แล้วให้ครูเลือก เพราะครูเขาจะเลือกคอร์สที่เหมาะกับที่เขาจะพัฒนาตัวเอง บวกกับพัฒนาในพื้นที่เรียก PLC โดยให้เป็นคูปองครู โควตาคนละ 10,000 บาท เขาก็มาหักจากรัฐไปจ่ายให้

“ที่ผมบอกว่า ให้ครูคนละคูปอง 10,000 บาท ผมคำนวณดูครูมี 400,000 คน ผมใช้ 4,000 ล้านบาท ทุกวันนี้ผมรู้แล้วเขาใช้กัน 10,000 ล้านบาท วางแผนท็อปดาวน์กัน ข้าราชการส่วนกลางบางคนที่เขาเคยจัดอบรมมาก็มาบอกว่า ครูเขาจะรู้ได้ไงว่าคอร์สไหนดีไม่ดี ทีมงานผมก็ถามกลับไปว่า คุณรู้ได้ไงว่าคุณรู้ดี และรัฐมนตรีเขาไม่ได้ห้ามไม่ให้คุณจัดคอร์ส คุณจัดสิ แล้วก็ส่งมาให้อนุมัติแล้วให้ครูเขาเลือก เขาก็บอกแล้วถ้าครูไม่เลือกล่ะ …ก็เพราะคุณไม่ดีไง คุณก็เลิกคอร์สไป เนื่องจากเรื่องนี้ผลประโยชน์มันกระจายและรวมกลุ่มกันไม่ติด ผมยังเลยไม่โดนโจมตีหนัก”

“ผมคิดว่าพวกที่เก่งๆ จะมาจัดคอร์สให้ครูพัฒนา ครูก็จะได้มีโอกาส ไม่ใช่ส่วนกลางจัดคอร์สให้ สั่งให้ครูอบรมนี่นั่น กระบวนการนี้จะทำให้คนที่เก่งๆ ในวงการศึกษาเข้ามาช่วยกัน เสนอคอร์สมา แล้วกระทรวงก็ให้ทุนครูไปอบรม เมื่อได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เขาถึงได้วิทยฐานะ เอาชั่วโมงสอนเป็นหลัก อยู่ที่ห้องเรียนเป็นหลัก อยู่ที่หน้างานเป็นหลัก บวกกับคอร์สพัฒนาตัวเองในพื้นที่เป็นหลัก ในกลุ่มของเขาเป็นหลัก ดังนั้น เกณฑ์ปรับวิทยฐานะตอนนี้เปลี่ยนหมดแล้ว”

ที่ผ่านมาครูมีจำนวน 400,000 คน จะเปลี่ยนวิทยฐานะ ใช้คน 3 คนประเมิน ผมก็คำนวณแล้วต้องใช้ทั้งหมด 1.2 ล้านคน มาประเมิน มันก็เวียนกันไปก็เวียนกันมา ค่าประเมินแพงกว่าอีก ครูต้องจ่ายเงินไปประเมิน ครูต้องจ่ายเงินไปซื้อวิทยฐานะ ไปจ้างเขาทำวิทยานิพนธ์ แล้วพอได้นะ ต้องมาประเมินเพื่อให้ได้ฐานะอีก รวมแล้วเป็นพันล้านบาท

ผมเปลี่ยนวิธี ไม่มีใครต้องไปทำวิทยานิพนธ์ ทุกคนรัฐสนับสนุนให้ไปพัฒนาตนเอง ทั้งในพื้นที่และคอร์สพัฒนาตนเองเปลี่ยนหมด ทั้งหมดนี้คือการตอบแทนครู ครูที่เก่งขึ้นควรจะได้รับการตอบแทน

“ผมเล่าให้นักข่าวฟังว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขณะที่ทรงประชวร มีพระราชหัตถเลขา เขียนโน้ตน้อยถึงองคมนตรี บอกว่า ครูทุกวันนี้นั่งทำวิทยานิพนธ์เพื่อจะเลื่อนขั้น แต่คนสอนหนังสือกลับไม่ได้รางวัล ระบบนี้ต้องเปลี่ยน ไม่ยุติธรรม ก็มาเปลี่ยนยุคนี้แหละ”

และผมเคยให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้า ผมเคยบอกว่าภารกิจผมมีอันเดียว คือทำอย่างไรให้ครูกลับห้องเรียน ครูที่อยู่กับนักเรียนได้เงินเพิ่ม มีรางวัล ผมก็ทำทุกอย่างตามที่ผมพูดไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น อันนี้เปลี่ยนแล้ว เรื่องนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับเยอะ แต่ก็มีที่บอกว่า หมอธีระเกียรติ ว่างๆ มาสอนหนังสือบhางสิ 800 ชั่วโมง วันละ 4 ชั่วโมง ผมคิดว่าเขาจะไม่เอาเงินเพิ่ม แล้วไม่ขยัน แล้วจะเอาแบบเดิมมั้ย มีบางรายก็ด่า รัฐมนตรีโง่ๆ คิดอย่างนี้ออกมาได้ไง แต่เสียงส่วนใหญ่แฮปปี้มาก คนในพื้นที่ คนที่เขาทำงานจริงๆ เขาจะรู้ แล้ววิธีนี้ผมไปดูกฎหมาย ทุกข้อของกฎหมายเขียนไว้ดี ให้ทำแบบนี้ แต่เมื่อก่อนไม่ได้ทำตามนี้เป๊ะๆ

“ผมพูดกับทุกคนว่า เรื่องนี้ ถ้าผมทำสำเร็จเป็นเพราะบารมีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 วันที่ผมประชุมกับคณะกรรมการครู ซึ่งคณะกรรมการครู เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าเปลี่ยนเลย ผมฉายพระราชหัตถเลขาพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ผมถามว่าพระองค์แนะนำมาอย่างนี้ เราบอกว่าเราจะทำตามพระปณิธาน จะทำไหม ทุกคน ครับๆ ทำครับ อนุมัติเลยครับ และครูส่วนใหญ่ เขาไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ขยะ (เอกสารเลื่อนวิทยฐานะ) เต็มบ้านเต็มเมืองไง”

โรงเรียนขนาดเล็ก ไม่ปิด-สร้างโรงเรียนแม่เหล็กคู่ขนาน

โรงเรียนขนาดเล็ก อดีตรัฐมนตรี ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ทำไว้ดีมาก ก็คือเรียกว่าโครงการ โรงเรียนแม่เหล็ก หรือโรงเรียนขนาดเล็ก 28 ปีที่ผ่านมามันยุบไม่ได้เพราะปัญหาคือหลายเรื่อง การเมืองบ้าง เด็กเขาไม่ยอมบ้าง ชุมชนก็ไม่เอา มีการเคลื่อนไหวไม่ให้ปิดอะไรต่อมิอะไร ท่านรัฐมนตรีดาว์พงษ์บอกว่าเราต้องไปดูว่าวิธีทำให้คนมา ก็ต้องมีโรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนที่อยู่ในรอบๆ 7-8 โรงเรียน ทำโรงเรียนหนึ่งให้ดีเลิศ ทุ่มลงไป แล้วประชารัฐเข้าไปช่วยโรงเรียนแม่เหล็ก เพื่อที่จะให้ชาวบ้านหรือโรงเรียน ข้าราชการเขาคิด ว่าคุณเห็นไหมถ้าคุณมาเรียนที่นี่ดีกว่า เขาจะต้องสมัครใจมาเอง

นโยบายท่านดาว์พงษ์บอกว่า ถ้าเขาคัดค้าน แม้คนเดียวก็จะไม่ปิดโรงเรียนขนาดเล็ก เรื่องการศึกษามันละเอียดอ่อนนะ

โรงเรียนขนาดเล็ก ก็เป็น ICU แต่ละแบบ ไม่เหมือนกัน ผมไปที่เมืองนนท์ เขาต้องปิดโรงเรียนเพื่อซ่อม มันเหมือนวังเก่า มีเรื่องมากเป็นปี ผมลงไปดู เขาไม่ได้ต้องการเงิน เขาต้องการให้ผมเป็นตัวกลางเจรจากับผู้ว่าฯ กับชุมชน กับผู้ปกครอง พอเราเจรจาเสร็จ ถอนออกจาก ICU

ถ้าเล็กมาก เราก็ยุบเขาไม่ได้ เราก็ต้องหาทางแก้ สมัยหนึ่งนักการเมืองจะเอารถไปรับเด็ก มันก็ไม่คุ้มอีก มันก็มีเรื่องเยอะ หรือบางคนบอกจะไปซื้อรถ ซื้อจักรยานให้ เพราะฉะนั้นมันต้องไปดูว่าโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละที่แก้ยังไง เราไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวได้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา

จัดระบบเด็กอนุบาล รัฐไม่แข่งเอกชน

จากรัฐธรรมนูญใหม่บอกให้จัดการศึกษาอนุบาล ตั้งแต่ 3-5 ขวบ พอผมบอกว่ารัฐบาลจะทำ เอกชนออกจดหมายเวียนต่อต้านรัฐมนตรี บอกว่าจะมาแข่งกับเอกชน ผมก็เลยเชิญเอกชนมาพบ คุยกัน ตัวเลขเด็ก 4 ขวบ ประเทศไทยมี 800,000 คน อยู่กับโรงเรียนรัฐ 400,000 คน อีก 400,000 คน อยู่กับเอกชน อยู่กับท้องถิ่น อยู่กับบ้าน ถ้าปีหน้าผมก็ขยับลงมา 3 ขวบก็มีเด็กอีก 750,000 คน ยังไงผมก็ไม่มีปัญญาทำ ผมก็ต้องรับผิดชอบ หมายถึงรัฐบาลก็ต้องช่วยคุณ (เอกชน) ให้คุณจัด เพราะฉะนั้นผมไม่แข่งกับคุณหรอก ยังไงผมจะช่วยให้คุณทำให้ได้ด้วยซ้ำไป ก็เลยเงียบ ขอโทษขอโพย คือบางทีไปแตะอะไรเขา เขาคิดว่าเสียผลประโยชน์ เคลื่อนไหว ส่งหนังสือเวียน อัดรัฐมนตรีแล้ว

“อันนี้ก็เป็นบทเรียนให้ผมว่าเราก็ต้องโฟกัส”

ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน และคนไม่ใช่หมากรุกที่จะบอกให้เดิน”

“ผมบอกทุกครั้งเลย ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน ผมก็มนุษย์เดินดิน มันต้องโฟกัส แล้วผมก็รู้ว่าเวลาทำงานมีเท่าไหร่ แล้วผมไม่ได้อยากอยู่นานนะ ถ้าไปทำทุกเรื่อง ตายอยู่แล้ว”

สิ่งที่อยากให้การรับรู้ของประชาชน รู้ว่าไม่มีเรื่องไหนที่ทำวันนี้จะเห็นผลพรุ่งนี้นะ เพราะฉะนั้น บางทีด่าว่าไม่เห็นทำอะไร ต้องเข้าใจว่าเราทิ้งการศึกษามานาน เราไม่ได้ทำอะไรจริงๆ จังๆ กับมัน เพราะฉะนั้นอย่างท่านนายกฯ เข้ามาจัดการหลายอย่าง ผมว่าต้องให้กำลังใจเขา เพราะฉะนั้นไม่ด่าก็พอแล้ว

“คือคนไม่ใช่หมากรุกไง เราไม่รู้จะบอกให้เขาเดินยังไง เราต้องสร้างทัศนคติและสาธารณูปโภคใหม่ ที่จะตอบแทน มันเป็นปฏิรูปครั้งใหญ่ และก็เกินกำลังพวกผมแล้ว”

เมื่อถามว่าเวลาที่เหลืออีก 1 ปีอยากจะเห็นอะไรในระบบการศึกษาไทย “ผมไม่ชอบพวกอีเวนต์หรือสั่งไปให้ทำโครงการโดยนโยบายทุกอย่างจากข้างบน จะไม่มีการสั่งซื้อของแล้วส่งลงไปแล้วไปเก็บเงินทอนที่อย่างที่ทำกัน ผมต้องการเห็นทิศทางที่ถูก เช่น อำนาจควรเป็นฝั่งของอุปสงค์ อำนาจอยู่ที่คนซื้อ อำนาจจะต้องอยู่ตามความจำเป็นของท้องที่

อันที่สองคือความเหลื่อมล้ำ คือเวลาพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษา คนส่วนใหญ่คิดถึงสังคมของคนมีเงิน กับคนเมือง ผมมาลงต่างจังหวัดทุกอาทิตย์นะ คนละเรื่อง ประเทศไทยมันห่างกันมาก วันก่อนไปจังหวัดพิษณุโลก เรามีโครงการโรงเรียน ICU โรงเรียนที่แย่เราต้องช่วยก่อน

“ผมลงไปที่พิษณุโลก ขึ้นไปเขา 2 ชั่วโมง บนเขาไม่มีไฟฟ้า เขาใช้โซลาร์เซลล์ 2 แผง เสียไปแผงหนึ่ง ครูนี่แบ่งกันสลับกันเสียบปลั๊กโทรศัพท์ ครูสลับกันหุงข้าว ผลัดวันกันอาบน้ำ นักเรียนไม่ได้ดูการศึกษาดาวเทียม วันเว้นวัน ร้องเรียนมาปีกว่าไม่เคยถึง พอมีโครงการ ICU สมัครเข้ามาเราถึงรู้ เลยลงไปดู จัดการเรื่องแผงโซลาร์เซลล์เสร็จหมด”

ICU – Intensive Care Unit องคมนตรีเล่าให้ฟังว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เริ่มกองทุนพระราชทาน พระองค์บอกไปช่วยโรงเรียนที่กันดารก่อน ตอนนั้นพระองค์ประชวร ก็ใช้คำว่า ICU

โครงการนี้ตอนแรกที่ผมบอกให้สมัครโครงการ ICU ก็มีคนคิดว่าจะสมัครน้อย ปรากฏว่าสมัครมา 7,000 โรงเรียน ตอนแรกๆ เขาประเมินให้ผมว่าจะมีสักประมาณ 10,000 โรงเรียน จาก 30,000 โรงเรียนทั้งประเทศ ก็คาดว่าประมาณ 1 ใน 3 น่าจะอยู่ในกลุ่มนั้น ก็ปรากฏว่าออกมาก็ประมาณ 7,000

ตอนนี้เราทยอยช่วย ปีนี้ก็คาดว่าจะช่วยได้เกือบหมด เมื่อก่อนโรงเรียนเขาขาดอะไรเขาก็เสนอมาทางเส้นทางปกติ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ตอนนี้เป็นนโยบายก็หมายถึงว่าผมจะช่วยคนเจ็บหนักก่อน งบตอนนี้ทุกอย่างลงไปที่คนที่เจ็บหนักที่สุด โรงเรียนไกลที่สุดขาดแคลนที่สุด เหลื่อมล้ำที่สุด

“ก็ต้องชม สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) คือขอให้เราชี้เป้าชัด เพราะฉะนั้นถ้าถามผมว่า ผมต้องการอะไร Direction ไม่ใช่ Directive นะ Direction ชัด พอเราเดินเส้นทางนี้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ จัดงบประมาณ จากข้างล่างตามความจำเป็น ตามความต้องการ”

เพราะฉะนั้น ถามว่าผมอยากเห็นอะไร ผมอยากเห็นทิศทางที่ถูกต้อง
ที่มา :http://thaipublica.org/2017/05/teerakiat2/