สถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทย หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) และระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กไทยช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2559 กว่า 23,644 คน พบว่าเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยไอคิวอยู่ที่ระดับ 98.2 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากการวัดผลเมื่อปี 2554 โดยขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 94 แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา 4.2 นี้ ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมองว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดอยู่ในระดับ 100
ทว่า ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เด็กไทยที่มีไอคิวสูงส่วนใหญ่ระดับไอคิวกลับหยุดนิ่ง สาเหตุหลักมาจากการใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เล่นเกม หรือโปรแกรมอื่นมากเกินไป จนทำให้ไม่มีการพัฒนาทางด้านความคิด การสื่อสาร ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องหันมาสนใจว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้สติปัญญาของเด็กไทยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า สถานการณ์ระดับไอคิวของเด็กในแต่ละประเทศ ปัจจัยหนึ่งพบว่าขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจ และสถานะประชากร ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เยอรมนี ระดับสติปัญญาของเด็กในประเทศเหล่านี้จะมากกว่า 110 ขึ้นไป ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาระดับสติปัญญาเด็กจะอยู่ในช่วงใกล้เคียง 100 ประมาณ 90-110 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังไม่เคยมีการสำรวจระดับไอคิวอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าระดับไอคิวของเด็กในประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ระดับสติปัญญาของเด็กไทยปัจจุบันอยู่ระดับ 98 ถือว่าเป็นผลที่น่าพอใจ แต่อีกมุมหนึ่งที่ในปัจจุบันโลกมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น กลับพบว่าเด็กบางส่วนที่อยู่ในเขตเมืองมีระดับไอคิวสูงกว่า 100 แต่ระดับการพัฒนาการของไอคิวกลับหยุดนิ่ง ซึ่งพบว่ามีสาเหตุมาจากการใช้แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มากจนเกินไป จึงทำให้เด็กขาดพัฒนาทางความคิด ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากการที่ผู้ปกครองเข้าใจผิดคิดว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความฉลาดให้กับเด็ก จึงอาจปล่อยให้เด็กเล่นศึกษาเพียงลำพังโดยไม่ได้ติดตามดูแล จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้สติปัญญาไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น
“มีรายงานชี้ว่าเด็กที่จมอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้มากจนเกินไป จะเป็นตัวดึงรั้งพัฒนาการทางด้านความคิด การเรียนรู้ การอ่าน การเขียน รวมไปถึงการอยู่ร่วมในสังคมให้เกิดการชะงัก ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้ต้นทุนชีวิตไม่ได้แย่ แต่ถูกละเลยจากการเลี้ยงดูโดยที่ผู้ปกครองเอาแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ไปเลี้ยงดู” ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ระบุ
พญ.อัมพร มองว่า ปัญหาเหล่านี้ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย และจากรายงานพบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 90 ล้านเครื่อง ตรงนี้มองว่าถ้าใช้แบบที่ไม่เกิดประโยชน์ก็จะทำให้เกิดโทษได้
ดังนั้น การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ ควรเข้าให้ถึงข้อมูลข่าวสาร ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับข้อมูลที่เป็นพิษที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น เช่น เกมหรือโปรแกรมที่มีลักษณะเกี่ยวกับการต่อสู้ แข่งขัน ช่วงชิง ทำร้ายกัน ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่า เทคโนโลยีก็ไม่ได้ให้ประโยชน์เสมอไป
ส่วนที่ปัจจุบันเด็กไทยรวมถึงทุกคนในสังคมนิยมเล่นโปรแกรมเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือโซเชียลมีเดียอื่น ซึ่งก็มีแนวโน้มเข้าข่ายหมกมุ่นได้ ฉะนั้นมองว่าการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยให้ถูกวิธี ควรรู้เท่าทันก่อนการใช้ หรือควรเลือกศึกษาสื่อที่มีประโยชน์ โดยที่จะต้องมีวินัยในการใช้ด้วย นอกจากนี้ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรช่วยอธิบายให้เด็กใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ และรู้จักควบคุมตัวเองในการใช้สื่อให้ได้
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ไอคิวเด็กในเมืองสูงกว่าเด็กที่อยู่พื้นที่ห่างไกล พญ.อัมพร ชี้ว่า เด็กเมืองกับเด็กชนบทมีความแตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยแรกมาจากด้านสังคม ทั้งระดับเศรษฐกิจ ระดับการเรียนรู้ ระดับการศึกษา ของสังคม ส่วนปัจจัยที่เกิดจากครอบครัวมาจากพันธุกรรมที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด การเลี้ยงดูที่หลากหลาย ฉะนั้นมองว่าปัจจัยเหล่านี้สังคมครอบครัวควรที่จะต้องเพิ่มอาหารทั้งทางกายและใจให้กับเด็กอย่างเหมาะสม
พญ.อัมพร
พญ.อัมพร เสนอแนะว่า แนวทางการป้องกันรักษา ในระดับครอบครัวควรดูแลให้เด็กได้รับอาหารกายที่มีโภชนาการเพียงพอ ส่วนอาหารใจครอบครัวควรให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยปะละเลย ขณะที่ระดับสังคมภาครัฐควรช่วยเหลือเรื่องระบบสวัสดิการกับแม่ที่ยากจน และควรส่งเสริมให้สถานประกอบการเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยทำให้เด็กมีความใกล้ชิดกับมารดา เช่น อาจมีการตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กภายในบริษัทเพื่อทำให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด
สำหรับทางการแพทย์ขณะนี้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนอาหารเสริมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเพื่อป้องกันโรค รวมถึงให้คำแนะนำทางด้านจิตเวชศาสตร์กับพ่อแม่และครอบครัวเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด อบรมให้พ่อแม่มีความรู้ดูแลบุตรอย่างถูกวิธี ส่วนกลุ่มเด็กนอกระบบสาธารณสุขจะลงไปติดตามดูแลคุณภาพชีวิตความเสี่ยงของเด็กกลุ่มนี้ ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือกับพ่อแม่ในการเลี้ยงดู โดยปัจจุบันมีการให้เงินช่วยเหลือ 400 บาท/เดือน แต่อนาคตอาจปรับเพิ่มเป็น 600 บาท
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการควรจัดรูปแบบการสอนให้ถูกหลักเพื่อให้ไอคิวเด็กเกิดการพัฒนาทักษะทางความคิด กระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจอยากพัฒนา ไม่ควรมุ่งเน้นการอ่านเขียนเพียงอย่างเดียว ส่วนเด็กระดับที่โตขึ้น ไม่ควรปลูกฝังค่านิยมการเรียนวิชาสายสามัญเพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในสายอาชีพ เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการงานในทุกพื้นที่อย่างแท้จริง
“การพัฒนาไอคิวเด็กภาพรวม ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ควรขาดช่วง โดยทุกหน่วยงานควรร่วมมือบูรณาการกันทำงาน เพราะเมื่อกระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านสุขอนามัยในช่วงเด็กแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการควรเป็นเจ้าภาพ จัดกระบวนการหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเชื่อมโยงส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง”พญ.อัมพร ระบุ
ช่วงท้าย ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล มองว่า สถานการณ์ไอคิวของเด็กในอนาคต ทิศทางจะเป็นไปตามพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และระบบการศึกษาที่มีแนวโน้มดีขึ้น ฉะนั้นคิดว่าต้นทุนไอคิวของเด็กไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรวางใจและต้องเฝ้าระวัง เพราะการสำรวจยังพบว่ารูปแบบการเลี้ยงเด็กส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังขาดการที่ให้เด็กเกิดความมานะ พยายาม ฝึกฝนทักษะในการแก้ปัญหา
ฉะนั้น เรื่องนี้ควรต้องทำให้เด็กไทยเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้ได้ โดยการพัฒนาครอบครัว การแพทย์ การศึกษา ต้องร่วมมือกันเดินไปในทิศทางเดียวกัน
โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด
ที่มา: